บทความทางจิตวิทยา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน วันทนียตระกูล
กลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism)
ฟรอยด์และบุตรีแอนนาฟรอยด์ ได้แบ่งประเภทกลไกในการป้องกันตัวดังต่อไปนี้
1. การเก็บกด (Repression) หมายถึง การเก็บกดความรู้สึกไม่สบายใจ หรือความรู้สึกผิดหวัง ความคับข้องใจไว้ในจิตใต้สำนึก จนกระทั่งลืม กลไกป้องกันตัวประเภทนี้มีอันตราย เพราะถ้าเก็บกดความรู้สึกไว้มากจะมีความวิตกกังวลใจมากและอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้
2. การป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น (Projection) หมายถึง การลดความวิตกกังวล โดยการป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น ตัวอย่าง ถ้าตนเองรู้สึกเกลียดหรือไม่ชอบใครที่ตนควรจะชอบก็อาจจะบอกว่าคนนั้นไม่ชอบตน เด็กบางคนที่โกงในเวลาสอบก็อาจจะป้ายความผิดหรือใส่โทษว่าเพื่อนโกง
3. การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) หมายถึง การปรับตัวโดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยให้คำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนอื่น ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่ตีลูกมักจะบอกว่า การตีทำเพื่อเด็ก เพราะเด็กต้องการการทำโทษเป็นบางครั้งจะได้เป็นคนดี พ่อแม่จะไม่ยอมรับว่าตีเพราะโกรธลูก นักเรียนที่สอบตกก็อาจจะอ้างว่าไม่สบาย แทนที่จะบอกว่าไม่ได้ดูหนังสือ บางครั้งจะใช้เหตุผลแบบ “องุ่นเปรี้ยว” เช่นนักเรียนอยากเรียนแพทย์ศาสตร์ แต่สอบเข้าไม่ได้ ได้วิศวกรรมศาสตร์ อาจจะบอกว่าเข้าแพทย์ไม่ได้ก็ดีแล้ว เพราะอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่เหน็ดเหนื่อย ไม่มีเวลาของตนเอง เป็นวิศวกรดีกว่า เพราะเป็นอาชีพอิสระ “การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง” แตกต่างกับการโกหกเพราะผู้แสดงพฤติกรรมไม่รู้สึกว่าตนเองทำผิด
4. การถดถอย (Regression) หมายถึงการหนีกลับไปอยู่ในสภาพอดีตที่เคยทำให้ตนมีความสุข ตัวอย่างเช่น เด็ก 2-3 ขวบ ที่ช่วยตนเองได้ มีน้อยใหม่ เห็นแม่ให้ความเอาใจใส่กับน้อง ความรู้สึกว่าแม่ไม่รักและไม่สนใจตนเท่าที่เคยได้รับ จะมีพฤติกรรมถดถอยไปอยู่ในวัยทารกที่ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องให้แม่ทำให้ทุกอย่าง
5. การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) หมายถึงกลไกป้องกันตน โดยการทุ่มเทในการแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความรู้สึกของตนเอง ที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคมอาจจะไม่ยอมรับ ตัวอย่างแม่ที่ไม่รักลูกคนใดคนหนึ่งอาจจะมีพฤติกรรมตรงข้าม โดยการแสดงความรักมากอย่างผิดปกติ หรือเด็กที่มีอคติต่อนักเรียนต่างชาติที่อยู่โรงเรียนเดียวกัน การจะแสดงพฤติกรรมเป็นเพื่อนที่ดีต่อนักเรียนผู้นั้นโดยทำตนเป็นเพื่อนสนิทเป็นต้น
6. การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy หรือ Day dreaming) กลไกป้องกันตัวประเภทนี้เป็นการสร้างจิตนาการ หรือมโนภาพเกี่ยวกับสิ่งที่ตนมีความต้องการ แต่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นจึงคิดฝัน หรือสร้างวิมานในอากาศขึ้นเพื่อสนองความต้องการชั่วขณะหนึ่ง เป็นต้นว่านักเรียนที่เรียนไม่ดีอาจจะฝันว่าตนเรียนเก่ง มีมโนภาพว่าตนได้รับรางวัล มีคนปรบมือให้เกียรติ เป็นต้น
7. การแยกตัว (Isolation) หมายถึงการแยกตนให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง ตัวอย่างเช่น เด็กที่คิดว่าพ่อแม่ไม่รักอาจจะแยกตนปิดประตูอยู่คนเดียว
8. การหาสิ่งมาแทนที่ (Displacement) เป็นการระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจ ต่อคนหรือสิ่งของที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ เป็นต้นว่า บุคคลที่ถูกนายข่มขู่หรือทำให้คับข้องใจ เมื่อกลับมาบ้านอาจจะใช้ภริยา หรือลูกๆ เป็นแพะรับบาป เช่น อาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อภริยาและลูกๆ นักเรียนที่โกรธครู แต่ทำอะไรครูไม่ได้ ก็อาจจะเลือกสิ่งของเช่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นสิ่งแทนที่ เช่น เตะโต๊ะเก้าอี้
9. การเลียนแบบ (Identification) หมายถึง การปรับตัว โดยการเลียนแบบบุคคลที่ตนนิยมยกย่อง ตัวอย่างเช่น เด็กชายจะพยายามทำตัวให้เหมือนพ่อ เด็กหญิงจะทำตัวให้เหมือนแม่ในการพัฒนาการขั้นฟอลลิคของฟรอยด์ การเลียนแบบนอกจากจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมือนบุคคลที่ตนเลียนแบบ แม้ยังจะยึดถือค่านิยมและมีความรู้สึกร่วมกับผู้ที่เราเลียนแบบในความสำเร็จ หรือล้มเหลวของบุคคลนั้น การเลียนแบบไม่จำเป็นจะต้องเลียนแบบจากบุคคลจริงๆ แต่อาจจะเลียนแบบจากตัวเอกในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์โดยมีความรู้สึกร่วมกับผู้แสดง เมื่อประสบความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ หรือเมื่อมีความสุขก็จะพลอยเป็นสุขไปด้วย
กลไกในการป้องกันตัวเป็นวิธีการที่บุคคลใช้ในการปรับตัว เมื่อประสบปัญหาความคับข้องใจ การใช้กลไกป้องกันตัวจะช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหา เพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดความไม่สบายใจ ทำให้คิดหาเหตุผลหรือแก้ไขปัญหาได้
สรุปแล้วทฤษฎีของฟรอยด์เป็นทฤษฎีที่มีอิทธิพลมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้ที่มีความเชื่อและเลื่อมใสในทฤษฎีของฟรอยด์ ก็ได้นำหลักการต่างๆ ไปใช้ในการรักษาคนที่มีปัญหาทางบุคลิกภาพ ซึ่งได้ช่วยคนมากกว่ากึ่งศตวรรษ ส่วนนักจิตวิทยาที่ไม่ใช้หลักจิตวิทยาก็ได้นำความคิดของฟรอยด์ไปทำงานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการทางบุคลิกภาพ จึงนับว่าฟรอยด์เป็นนักจิตวิทยาผู้มีอิทธิพลมากต่อพัฒนาการของวิชาจิตวิทยา (สุรางค์ โค้วตระกูล. 2544 : 37-39)
ทฤษฎีพัฒนาการของมนุษย์ ตามภูมิปัญญาของชาวล้านนาและอีสาน ซึ่งแสดงให้เห็นแนวความคิดที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการของมนุษย์ดังนี้
อีสาน
|
ล้านนา
|
10 ปี อาบน้ำบ่หนาว
|
10 ปี๋ อาบน้ำบ่อหนาว
|
ซาว (20) ปี เว้าสาวบ่อเบื่อ
|
ซาว (20) ปี๋ อู้สาวบ่ก่าย
|
30 ปี ฮู้เมื่อก่อนไก่
|
30 ปี๋ บ่อหน่ายสงสาร
|
40 ปี ไปไฮมาไกว์ขา
|
40 ปี๋ เยี่ยะก๋านเหมือนฟ้าผ่า
|
50 ปี ไปนามาทอดฮุย
|
50 ปี๋ สาวน้อยด่าบ่อเจ็บใจ๋
|
60 ปี เป่าขลุ่ยบ่อดัง
|
60 ปี๋ ไอเหมือนฟานโขก
|
70 ปี เนื้อหนังคือน้ำฮ้อนลวก
|
70 ปี๋ มะโหกเต็มตัว
|
80 ปี หนักหนวกมาหาหู
|
80 ปี๋ ใค่หัวเหมือนให่
|
90 ปี พี่น้องมาดูฮ้องไห่
|
90 ปี๋ ขี้ไหลบู่ฮู้
|
100 ปี ไข่กะตายบ่ไข่ตะตาย
|
100 ปี๋ ไข้ก่อต๋ายบ่ไข้ก่อต๋าย
|
หนังสืออ้างอิง
เขียน วันทนียตระกูล ,จิตวิทยาการศึกษา, ส.ทรัพย์การพิมพ์ : เชียงใหม่, 2545.
โค้วตระกูล, จิตวิทยาการศึกษา, กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544.
, จิตวิทยาการศึกษา, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2540. เพราพรรณ เปลียนภู่ สุรางค์