ความสำคัญของจิตวิทยาต่อวิชาชีพครู
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน วันทนียตระกูล
การเป็นครูนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีความรู้ทางวิชาการเพื่อจะสอนนักเรียนเท่านั้น แต่ครูยังจะต้องเป็นผู้ช่วยนักเรียนให้พัฒนาทั้งทางด้านสติปัญญา บุคลิกภาพ อารมณ์ และสังคมด้วยดังนั้น ครูต้องเป็นผู้ที่ให้ความอบอุ่นแก่นักเรียน เพื่อนักเรียนจะได้มีความเชื่อและไว้ใจครู พร้อมที่จะเข้าพบครูเวลาที่มีปัญหา นอกจากนี้ครูจะต้องเป็นต้นฉบับที่ดีแก่นักเรียน ถ้าหากจะถามนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม จนถึงนิสิตนักศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย ว่ามีใครบ้างในชีวิตของนักเรียนที่นักเรียนยึดถือเป็นต้นฉบับ นักเรียนส่วนมากจะมีครูอย่างน้อยหนึ่งคนยึดเป็นต้นฉบับหรือตัวแบบและนักเรียนจะยอมรับค่านิยมและอุดมการณ์ของครู เพื่อเป็นหลักของชีวิต อิทธิพลของครูที่นักเรียนยึดเป็นต้นฉบับจะติดตามไปตลอดชีวิต
มีผู้กล่าวว่า ครูเปรียบเสมือนศิลปินที่ปั้นรูป เพราะครูทุกคนมีส่วนในการพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียน แต่ผลงานของครูไม่เหมือนกับปฏิมากรที่พองานแต่ละชิ้นสำเร็จก็เห็นผลงาน อาจจะตั้งให้ชมได้ หรือถ้าไม่ชอบอาจจะแก้ไขเพิ่มเติมได้ ส่วนครูนั้นจะต้องรอจนนักเรียนกลับมาบอกครูว่าครูได้ช่วยเขาอย่างไร หรือมีอิทธิพลต่อชีวิตเขาอย่างไร และบางครั้งการรอก็เป็นการเสียเวลาเปล่าเพราะแม้ว่านักเรียนบางคนจะคิดถึงความดีของครู แต่ก็คิดอยู่ในใจไม่แสดงออก จึงทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าอาชีพครูเหมือนเรือจ้างที่มีหน้าที่ส่งคนข้ามฟากเท่านั้น ซึ่งเป็นเครื่องชี้ถึงทัศนคติทางลบที่มีต่ออาชีพครูจึงมีส่วนทำให้คนบางคนตัดสินใจเลือกอาชีพครูเป็นอาชีพสุดท้าย
นิสิตและนักศึกษาที่เลือกเรียนวิชาที่จะเป็นครู เมื่อเรียนจบแล้วอาจจะไม่เป็นครู ถ้าหากมีอาชีพอื่นให้เลือก ดังนั้นอาชีพครูจึงประกอบด้วยคน 2 ประเภท คือผู้ที่รักอาชีพครู และต้องการเป็นครูจริงๆ และผู้ที่ต้องเป็นครูด้วยความจำใจ ครูประเภทนี้บางคนได้พบว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่มีรางวัลทางใจที่ได้ช่วยเหลือนักเรียนให้เรียนรู้หรือเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการทั้งด้านสติปัญญาและบุคลิกภาพ จึงทำให้รู้สึกว่าเลือกอาชีพที่ถูกแล้ว แต่ครูบางคนมีความรู้สึกว่าตนเลือกอาชีพผิดและต้องทนอยู่เพราะอยากมีงานทำและอยากมีเงินใช้แต่ไม่มีความสุข ครูประเภทนี้มีอันตรายเปรียบเสมือนฆาตกรฆ่านักเรียนทางด้านจิตใจอย่างเลือดเย็น ทำให้นักเรียนมีความรู้สึกต่ำต้อย และคิดว่าชีวิตของตนไม่มีค่า เป็นบุคคลที่ไม่มีประโยชน์ ไม่มีความสามารถและอาจจะต้องออกจากโรงเรียนด้วยการเรียนไม่สำเร็จ มีชีวิตที่ประสบแต่ความผิดหวัง ไม่สามารถที่จะมีชีวิตที่ก้าวหน้าได้ โดยครูเองก็ไม่ทราบ ดังเช่นกรณีของเด็กชายคนหนึ่ง สมมติชื่อว่าเด็กชายแดง
เด็กชายแดง เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 รู้สึกว่าชีวิตน่าเบื่อหน่ายเพราะตนเองเรียนไม่ดีแม้ว่าจะพยายามก็ได้แต่เพียงคะแนนพอผ่านเท่านั้น ผู้ปกครองได้พาแดงไปพบนักจิตวิทยา เพื่อจะหาทางช่วยเหลือเด็กชายแดงให้เรียนดีขึ้น นักจิตวิทยาได้บอกว่าตนพร้อมที่จะช่วยเหลือ แต่ก่อนอื่นอยากจะให้บอกเหตุผลว่าทำไมจึงเรียนไม่ดี แดงตอบว่า ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร ที่เรียนไม่ดีคงเป็นเพราะโง่ นักจิตวิทยาถามต่อไปว่า ทำไมจึงคิดว่าตนเองโง่ เพราะถ้าโง่จริงก็คงจะสอบตกไปนานแล้วแดงเล่าให้นักจิตวิทยาฟังว่า ตนเองเริ่มเรียนหนังสือไม่ค่อยดี ตอนอยู่ประถมศึกษาปีที่ 3 อ่านหนังสือไม่ได้ ครูก็ให้เรียนพิเศษตอนเย็นกับครูทุกวันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ครั้งหนึ่งครูพูดด้วยความไม่พอใจว่า “ฉันสอนเธอไม่ได้แล้วแดง เธอโง่เกินกว่าที่ฉันคาด” แดงเล่าว่า คำพูดของครูติดอยู่ในสมองของเขามาตลอด และทำให้คิดว่าเขาคงจะโง่จริงๆ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าคำพูดของครูเพียงประโยคเดียว เป็นเสมือนดาบของเพชฌฆาตที่ฟาดฟันลงไปกลางดวงใจเด็ก ทำให้เกิดแผลที่รักษาไม่หาย ถ้าหากครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ของเด็กชายแดงทราบหลักทางจิตวิทยาก็คงจะไม่พูดกับแดงเช่นนั้น และถ้าครูทราบหลักการสอนที่ดี ครูก็คงจะช่วยเด็กชายแดงได้ เช่นครูอาจจะเลือกหนังสือที่ไม่ยากเกินไปให้อ่าน เมื่อเด็กอ่านได้ก็จะมีกำลังใจ แล้วครูก็จะเพิ่มความยากขึ้นตามลำดับ และครูควรจะบอกเด็กชายแดงว่า “ครูรู้ว่าเธออ่านได้ แต่หนังสืออาจจะยากเกินไปสำหรับเธอ” แล้วเปลี่ยนหนังสือทำให้เด็กมีสัมฤทธิผลเป็นขั้นๆ เด็กก็จะไม่มีปัญหาในการเรียน เด็กก็จะมีความภูมิใจว่าตนประสบความสำเร็จได้ เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เด็กไม่ชอบวิชาต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือสังคมศาสตร์ อาจจะเนื่องมาจากทัศนคติทางลบต่อวิชา แต่ละวิชา ซึ่งเป็นผลมาจากการมีครูสอนไม่ดี ไม่เข้าใจหลักจิตวิทยาที่จะช่วยนักเรียนให้มีสัมฤทธิผลตามศักยภาพของแต่ละบุคคล