หลักธรรมเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
สภาวะเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันเป็นหลัก ประเทศใดสามารถควบคุมดูแลราคาน้ำมันได้ประเทศนั้นได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งเศรษฐกิจโลก ไม่เหมือนสมัยครั้งกระโน้นนานมาแล้ว ประเทศใดมีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ประเทศนั้นได้ชื่อว่าอยู่ดีมีสุข
การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นต้องเริ่มที่ตนเองก่อน ให้รู้จักดำเนินชีวิตอย่างไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น แล้วนำไปความมั่นคงระดับครอบครัว ระดับชุมชน สังคม ประเทศชาติ ขั้นสุดท้ายคือความมั่นคงระดับโลก แต่การสร้างความมั่นคงดังกล่าวนั้นขึ้นอยู่กับการปรับสภาพจิตใจของตนเองให้มีความมั่นคงเสียก่อน โดยให้เกิดจิตสำนึกในการรู้จักแสวงหา รู้จักใช้จ่ายทรัพย์ เป็นคนที่รู้จักกิน รู้จักใช้ ใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า ก็จะสามารถตั้งตัวสร้างหลักสร้างฐานได้ ชื่อว่า “เป็นผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างถูกต้องตามหลักการแห่งหลักพุทธธรรม”
“อุฏฐานสัมปทา ขยันดีเพียงพอ ไม่ท้อแท้
อารักขสัมปทา เก็บดีเพียงพอ ไม่ขัดสน
กัลยาณมิตตตา เพื่อนดีเพียงพอ ไม่อับจน
สมชีวิตา ครองตนดีเพียงพอ ไม่อับอาย”
อุฏฐานสัมปทา ขยันดีเพียงพอ ไม่ท้อแท้
ความหมั่น ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ฝึกฝนให้มีความชำนิชำนาญและรู้จริง รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา หาวิธีการที่เหมาะสมที่ดีจัดการและดำเนินการให้ได้ผลดี ทั้งด้านการเรียนแสวงหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งการได้เกิดมาเป็นคนนั้นก็ต้องยังชีพเลี้ยงชีพ ด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้านกล่าวคือ ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ตนเองรับผิดชอบ หรือในการทำการงานอันเป็นอาชีพของตน พึงทำโดยความสุจริต ไม่คดโกงผู้อื่น ทำด้วยความบากบั่น อดทนต่อความยากลำบาก ไม่ละเลยหรือทอดทิ้งการงานนั้น ๆ คือทำด้วยความเอาใจใส่ดูแลในหน้าที่การงานตลอดเวลา และควรพิจารณาไตร่ตรอง สังเกต หรือพิจารณาผลการทำงานที่ได้ลงมือทำไปแล้วมีผลดี ผลเสียอย่างไร หากเห็นว่าสิ่งที่ตนทำลงไปแล้ว เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ ก็ทำสิ่งนั้นไปอย่างสม่ำเสมอ แต่หากการงานที่ทำไปเห็นว่า มีผลเสียต่อตนเองและคนอื่น ก็งดทำเสีย ทั้งนี้ก็เพื่อให้การทำการงานนั้น ๆ ลุล่วงไปด้วยดี มีประสิทธิภาพสูง สมกับคำที่ว่าขยันดีเพียงพอ ไม่ท้อแท้
ส่วนคนที่มีความเกียจคร้านในการทำงาน ไม่มีความอดทนต่อความยากลำบาก เป็นคนเบื่อหน่ายง่าย ชอบทำงานคั่งค้าง ผลัดวันประกันพรุ่ง ละเลยต่อหน้าที่การงาน หากได้ทำงานที่ดี ๆ ย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ ชีวิตจะมีแต่ความล้มเหลว ไม่เจริญรุ่งเรือง และถึงความเสื่อมได้ง่าย เช่นเดียวกับนักเรียนนักศึกษา หากมีความเกียจคร้านในการเล่าเรียน ไม่ขยันอ่านหนังสือ ไม่ค้นคว้าหาความรู้ใส่ตนเอง เขาย่อมไม่สามารถที่จะเรียนต่อไปในชั้นสูง ๆ ต่อไปได้ โอกาสที่เขาจะได้ทำงานที่ดี ๆ ก็มีน้อย ทั้งนี้ก็เพราะด้วยความไม่ขยันดี ไม่เพียงพอ และมีแต่ความท้อแท้นั่นเอง
อารักขสัมปทา เก็บดีเพียงพอ ไม่ขัดสน
การรักษา รู้จักคุ้มครอง เก็บ รักษา ทรงไว้ ฝึกลับซึ่งความรู้ผลงานที่ตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม ด้วยกำลังสติปัญญาของตนไม่ให้เสื่อมเสีย รวมถึงการรักษาทรัพย์ที่หามาได้ด้วยใช้จ่ายอย่างประหยัด การเก็บดีเพียงพอในความหมายอย่างแคบ ก็หมายความถึงการรู้จักรักษาทรัพย์สมบัติที่ตนหามาได้โดยสุจริต ให้คงอยู่ หรือให้ได้ประโยชน์ได้นานที่สุด ไม่ใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุร่าย ให้รู้จักซ่อมแซมสิ่งของที่ชำรุด ให้รู้จักคุณค่าของเงิน ไม่ฟุ่มเฟือยเกินเหตุเกินฐานะของตน เมื่อเรารู้จักรักษาหรือจัดการกับทรัพย์สินให้เพิ่มพูนเจริญงอกงามขึ้นได้ ก็ได้ชื่อว่าเก็บดี เพียงพอ ไม่ขัดสน
กัลยาณมิตตตา เพื่อนดีเพียงพอ ไม่อับจน
การคบหาคนดีเป็นมิตร รู้จักเสวนาคบหาคน ไม่คบไม่เอาอย่างผู้ที่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย เลือกเสวนาศึกษาเยี่ยงอย่างที่ผู้รู้ผู้ทรงคุณ ผู้มีความสามารถ ผู้น่าเคารพนับถือและมีคุณสมบัติเกื้อกูลแก่การเรียนแสวงหาความรู้ รวมถึงมีคุณสมบัติเกื้อกูลแก่อาชีพการงาน
ความเป็นผู้รู้จักเลือกคบหาคนดี หรือมีเพื่อนดี ซึ่งคนดีในที่นี้ก็คือ คนที่มีศีลธรรม มีคุณธรรมและจริยธรรมที่ดีงาม ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีฐานะเช่นไร ก็ชื่อว่าเป็นคนดีทั้งนั้น โดยเราสามารถเอาเยี่ยงอย่างที่ดีได้ คนที่ดีสามารถช่วยให้คำปรึกษาหารือที่ดี ช่วยชี้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาชีวิตให้เป็นไปในทางที่ดี ที่ชอบ หรือชักนำให้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ให้ประสบผลดีให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และให้เกิดความสันติสุขได้ กล่าวโดยย่อก็คือบุคคลที่สามารถเอาเป็นเยี่ยงอย่างที่ดี เอาเป็นที่ปรึกษาที่ดี เอาเป็นที่พึ่งที่ดีได้ นั่นเอง การรู้จักคบหาแต่คนดี มีเพื่อนที่ดี การมีแต่คนดีเป็นมิตร ย่อมจะนำชีวิตตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองและชีวิตจะไม่อับจนแน่นอน
สมชีวิตา ครองตนดีเพียงพอ ไม่อับอาย
การเลี้ยงชีวิตแต่พอดี รู้จักกำหนดรายได้และรายจ่าย เป็นอยู่พอดีสมกับรายได้ไม่ให้ฝืดเคืองหรือฟุ่มเฟือย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีประหยัดเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น
การรู้จักใช้สอยทรัพย์ที่ตนหามาได้ โดยสุจริตนั้น ควรใช้ตามสมควรแก่ฐานะของตน คือไม่ให้ฝืดเคืองนัก และก็ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อจนเกินฐานะนัก กล่าวคือ ต้องรู้การจัดระบบการเงิน รายได้รายจ่ายของตนเองให้ลงตัว รู้จักจัดสรรการใช้จ่ายอย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่ใช้จ่ายเกินฐานะของตน ต้องรู้จักประหยัดและเก็บออมทรัพย์ แบ่งไว้ใช้ให้เป็นสัดส่วนแต่พอเหมาะ แล้วก็ใช้จ่ายตามนั้น ก็จะไม่ลำบากในชีวิต แต่ถ้าไม่วางแผนจัดระบบการเงินอันเป็นรายได้-รายจ่ายให้ลงตัวพอเหมาะ และไม่ใช้จ่ายแต่พอเหมาะตามฐานะ เช่นใช้จ่ายเกินตัว หลงฟุ้งเฟ้อไปตามกระแสชาวโลก เห็นคนอื่นทำอย่างไรก็จะทำอย่างนั้น ชีวิตย่อมอยู่ลำบากแน่นอน ฉะนั้นหากเรามีการวางแผนชีวิตที่ดีรู้จักการครองตนดี มีความเพียงพอ ย่อมไม่อับอาย
สรุปแล้วก็คือข้อปฏิบัติให้ถึงซึ่งความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขในชีวิตที่แท้จริง คือให้ถึงความสุขอย่างแท้จริง และไม่กลับเป็นทุกข์อีก เมื่อปฏิบัติตามข้อปฏิบัตินี้แล้วก็จะเห็นผลในปัจจุบันด้วยทันตาเห็นในชาตินี้ ตามหลักธรรมเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คือ
“อุฏฐานสัมปทา ขยันดีเพียงพอ ไม่ท้อแท้
อารักขสัมปทา เก็บดีเพียงพอ ไม่ขัดสน
กัลยาณมิตตตา เพื่อนดีเพียงพอ ไม่อับจน
สมชีวิตา ครองตนดีเพียงพอ ไม่อับอาย”
หากเราท่านทั้งหลาย ได้ปฏิบัติตามหลักธรรมที่ได้กล่าวมานี้แล้ว ชีวิตย่อมดำเนินไปด้วยความราบรื่น ไม่ท้อแท้ ไม่ขัดสน ไม่อับจน และไม่อับอาย มีชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง จะพบแต่ความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขตลอดไป
ข้อคิดก่อนจบ
ครองตนให้มีอำนาจเหนือเงิน แล้วจะมีแต่ความสุข
ครองเงินให้มีอำนาจเหนือตน แล้วจะมีแต่ความทุกข์