Advertisement
ผิดตั้งแต่เกิด
โดย ดังตฤณ
เวลาเจอเรื่องร้ายๆที่ทำให้ต้องเจ็บกายเจ็บใจ พวกเรามักถามฟ้าดินอย่างไม่เข้าใจ ว่าฉันทำผิดอะไรมา ทำไมถึงต้องมาเป็นอย่างนี้? ทำไมเรื่องนี้ถึงต้องเกิดขึ้นกับฉัน? ยิ่งถ้ามองไม่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าตนเองผิดตรงไหน ไม่ดีอย่างไร ธรรมชาติจึงลงโทษแล้วๆเล่าๆ ส่งดินน้ำไฟลมมารบกวนบ้าง ส่งโจรมาปล้นบ้าง ส่งเพศตรงข้ามมาหลอกบ้าง คนเราก็มักอ่อนแอลง และเริ่มเชื่อว่าต้องมีอะไรอย่างหนึ่งบงการชีวิตเราอยู่เบื้องหลัง ไม่มีมนุษย์หน้าไหนเก่งแล้วเก่งเลยตลอดศก ต้องมีสักวันที่บีบให้เราสำนึกว่าเราไม่รู้เหตุผลต้นปลาย ไม่รู้ที่มาที่ไปของชีวิตสักเท่าไหร่
แม้ศรัทธาหลักกรรมวิบากอันเป็นคำอธิบายชีวิตที่ดีที่สุด ฟังดูมีเหตุผลน่ารับฟังเหนือคำอธิบายอื่นใด ทว่าเมื่อยังระลึกชาติไม่ได้ ยังเห็นเงื่อนปมแห่งวิบากกรรมด้วยตนเองไม่ไหว เราก็จะกลับไปกลับมาได้เสมอระหว่างศรัทธากับความลังเลสงสัย คำว่า ‘ฉันทำผิดอะไรมา’ จะยังคงดังก้องอยู่ในหัวเป็นพักๆ และมีความเงียบงันเป็นคำตอบให้กับตนเองอยู่เรื่อยๆ
นักฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะได้ข้อสรุปว่าตนผิดเอง และเป็นความผิดในปัจจุบันที่ยังโง่เลือกมีชีวิตต่อนั่นเอง พวกเขาอาจรู้สึกฉลาดขึ้นหากเลือกที่จะไม่ทนทรมานให้ยืดเยื้อ เพื่อรอวันตายอันไม่ทราบว่าจะมาถึงในเวลาอีกนานแค่ไหน
ถ้าตายแล้วดับสูญ ไม่ต้องมีชีวิตจิตใจมารับรู้สุขทุกข์ใดๆอีกก็คงดี ถือว่ารอดตัวไป แต่ถ้าเอาใจธรรมชาติผิด ต้องเกิดใหม่ไปเรื่อยตามปฏิกิริยาลูกโซ่ของกรรมวิบากและความหลงไม่รู้ อันนี้ก็คงแย่หน่อยสำหรับคนคิดสั้น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ตายทางลัดในขณะจิตเศร้าหมอง เพราะจิตที่เศร้าหมองย่อมจมอยู่ในหนองน้ำตาทางวิญญาณ กลิ่นน้ำตายอ่มติดตัวเขาไป ไม่อาจลบให้หายโดยง่ายต้องรอกี่ชาติก็ไม่ทราบ กว่าจะมีโอกาสทำบุญกองภูเขา สว่างเข้าขั้นเผาคราบน้ำตาทางวิญญาณให้แห้งสนิทได้
เรื่องไปทำผิดคิดร้ายอะไรมาแต่ปางไหนถึงย่ำแย่ซ้ำซ้อน เมื่อยังไม่รู้ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่รู้ อย่างไรก็ตาม ผมขอเสนอคำตอบอันเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่คำปลอบให้สบายใจขึ้น แต่จะเป็นกุญแจไขประตูสู่เส้นทางของความรู้แจ้งได้
ต่อไปเมื่อถามตัวเองว่าทำผิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ขอให้ตอบตัวเองว่าทุกคน ‘ผิดตั้งแต่เกิด!’
แค่เกิดมาก็ฟ้องแล้วว่าคุณเคยผิดพลาด ผิดพลาดที่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรจะไม่ต้องเกิด ทำอย่างไรจะไม่ต้องมามีทุกข์เหมือนอย่างนี้อีก
เมื่อพบพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่แสดงสัจจะความจริง หากมีโอกาสเรียนรู้แล้วไม่ขวนขวายให้รู้เสียก่อนตาย นั่นแหละความผิดอันเป็นปัจจุบัน และความผิดนั้นก็ไปฟ้องตัวเองในคราวเกิดใหม่ครั้งต่อไป
ทางโลกนั้น เมื่อไม่รู้ย่อมไม่ผิด
แต่ทางธรรม ความไม่รู้นั่นแหละความผิดเดียวที่ยกโทษให้ไม่ได้!
ความไม่รู้ในเรื่องบาปบุญคุณโทษ ทำให้เราเลือกทำตามอำเภอใจ กิเลสขับให้ทำอะไรก็ทำ กิเลสสั่งให้พูดอะไรก็พูด ขอเพียงแค่รู้จริงว่าเป็นข้าทาสกิเลสแล้วจะต้องพบกับทัณฑกรรมหฤโหดขนาดไหน ทุกคนคงหุบมือหุบเท้า หุบปากหุบเสียง เงียบเชียบเป็นเบื้อใบ้กันไปหมด
การเกิดเป็นมนุษย์นั้นมีเหตุ หาใช่ไม่มีเหตุ แต่ความไม่รู้ทำให้เราเห็นเพียงปัจจัยตื้นๆ แค่มีพ่อแม่ แล้วก็มีเราเกิดขึ้นมาเอง หากทราบว่าเหตุปัจจัยอันเป็นต้นตอที่แท้จริงคือกิเลสตัณหาซึ่งผูกเราไว้กับความเป็นอย่างนี้ รวมทั้งวิบากกรรมที่ก่อภพอันหลากหลายขึ้นมา ทุกคนคงเริ่มมองเห็นรางๆว่ากิเลสตัณหาและกรรมวิบากเป็นกรงขัง และไม่ใช่เรื่องล้อเล่นที่ควรดูดายอีกต่อไป
แม้การตายก็มีเหตุ ไม่ใช่ไม่มีเหตุ แต่ความไม่รู้ทำให้เราเชื่อว่าจะอยู่ไปอีกเรื่อยๆ คงแก่ตาย ไม่ใช่เป็นโรคตาย ไม่ใช่ประสบอุบัติเหตุตาย ไม่ใช่ถูกใครฆ่าตาย หากทราบว่าทุกคนมีอายุขัยของตนเองด้วยกรรมเก่า กรรมดำหลายอย่างอาจทำให้อายุสั้น กรรมดำหลายชนิดอาจบันดาลให้ตายร้าย หรือกระทั่งกรรมดำหลายประเภทอาจบีบให้อยากฆ่าตัวตาย ทุกคนคงไหวตัวและเลิกประมาท เห็นทุกวันและทุกสิ่งรอบตัวเป็นองค์ประกอบของแท่นประหารได้หมด
เราไม่รู้แม้กระทั่งคำถามที่ควรถามเป็นที่สุด ระหว่างเกิดจนตายเราอาจตั้งคำถามนับหมื่นนับแสนข้อ แต่บางทีอาจไม่เคยเฉียดคำถามที่เป็นประโยชน์สูงสุดเลยสักครั้งเดียว!
นี่แหละสาระสำคัญของการอุบัติแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านเกิดมาเพื่อตรัสรู้แจ้งในสิ่งที่ควรรู้และประกาศบอกต่อแก่ชาวโลกที่ยังไม่รู้ ยังตั้งโจทย์ชีวิตกันไม่ถูก
พวกเราไม่รู้ ว่าตัวที่เกิดกับตัวที่ตายนั้นเป็นคนละตัวกัน ยังคงสำคัญผิดว่าเป็นตัวเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น เราไม่รู้ว่าตัวที่เกิดไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากก้อนทุกข์ก้อนร้อน และตัวที่ตายก็ไม่ใช่อะไรมากไปกว่าภาวะความเป็นก้อนทุกข์ก้อนร้อนเช่นกัน สมคำที่พระเถรีในอดีตเคยกล่าวไว้ว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับลง
เพราะไม่รู้ว่าการเกิดเป็นทุกข์ การตายก็เป็นทุกข์ เราจึงยึดถือว่าการเกิดนั้นดี ส่วนการตายนั้นไม่ดี ต่อเมื่อรู้ชัดว่าทั้งเกิดทั้งตายเป็นทุกข์ เราจะเลิกยึดมั่นถือมั่นเสียได้ คือไม่เห็นว่าการเกิดและการตายดีหรือไม่ดี ทว่าจะมองใหม่ว่าการเกิดตายไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ดีใจก็ไม่ควรดีใจ เสียใจก็ไม่ควรเสียใจ หันมารับรู้ตามจริงว่าถ้ายังมีเหตุปัจจัย ยังมียางเหนียวให้ถือกำเนิดขึ้นในภพอยู่ อย่างไรก็ต้องเกิดใหม่ชดใช้ความผิดที่ไม่รู้แจ้งเห็นจริงให้ตลอดสาย ไม่กำจัดยางเหนียวให้สิ้นไปอย่างเด็ดขาด
ถ้ารู้แจ้งเห็นจริง คุณจะทราบชัดว่าเมื่อเกิดแล้ว จะทำดีทำชั่วมากมายเพียงใดก็ต้องตายอีก แล้วไปสู่สภาพดีชั่วที่สอดคล้องกับกรรมใหม่กันอีก ต่อเมื่อเอาชีวิตนี้เป็นเดิมพัน เป็นที่ตั้งของการเรียนรู้ให้เห็นแจ้งว่าทุกสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั่นแหละ การเกิดครั้งนี้อาจเป็นความผิดครั้งสุดท้ายครั้งหน้าจะไม่มีความผิดตั้งแต่เกิดให้เห็นอีก!
กรรมวิบากนั้น มีทั้งชีวิตที่ทำแล้วเป็นเหตุให้หลงวนติดอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบรู้สิ้น กับอีกประเภทหนึ่งที่ทำแล้วเป็นเหตุให้ออกจากวังวนเสียได้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าท่านทราบชัดว่ากรรมมี ๔ ประเภทกับทั้งได้นำมาประกาศบอกผู้อื่นให้รู้ตาม กรรม ๔ ประการนั้นได้แก่
๑) กรรมดำ มีวิบากดำ
คือการคิด การพูด และการทำที่เป็นทุกข์ (คือเป็นบาปอกุศลอันร้อนแรง) ผลย่อมเป็นการเข้าถึงโลกอันเต็มไปด้วยทุกข์ โดนผัสสะอันเป็นทุกข์เข้าปะทะอย่างเดียว ความอุบัติอันเป็นทุกข์มีขึ้นได้เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันเป็นทุกข์นั่นเอง (และเพราะทำอะไรก็ได้อย่างนั้น เหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทแห่งกรรมของตนเอง)
๒) กรรมขาว มีวิบากขาว
คือการคิด การพูด และการทำที่ไม่เป็นทุกข์ (คือเป็นบุญกุศลอันเยือกเย็น) ผลยอ่มเป็นการเข้าถึงโลกอันไม่เป็นทุกข์ ได้รับผัสสะอันไม่เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ความอุบัติอันไม่เป็นทุกข์มีขึ้นได้เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหลายทำกรรมอันไม่เป็นทุกข์นั่นเอง (และเพราะทำอะไรก็ได้อย่างนั้น เหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทแห่งกรรมของตนเอง)
๓) กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว
คือการคิด การพูด และการทำที่เป็นทุกข์บ้าง ไม่เป็นทุกข์บ้าง (ครึ่งบุญครึ่งบาป) ผลย่อมเป็นการเข้าถึงโลกอันเป็นทุกข์บ้าง ไม่เป็นทุกข์บ้าง ความอุบัติเช่นนั้นมีขึ้นได้เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งหลายทำกรรมแบบครึ่งๆกลางๆระคนกันนั่นเอง (และเพราะทำอะไรก็ได้อย่างนั้น เหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นทายาทแห่งกรรมของตนเอง)
๔) กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม
คือการมีเจตนาละทั้งกรรมดำ กรรมขาว และกรรมครึ่งขาวครึ่งดำทั้งหมดเสีย เช่นนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม
สำหรับข้อสุดท้ายนี้นะครับ ไม่ใช่จู่ๆเราไปจงใจละกรรมทุกประเภทเอาดื้อๆ คุณต้องรู้แนววิธีปฏิบัติเพื่อเห็นทุกสิ่งตามจริงเสียก่อน เห็นตามจริงว่าอย่างไร? เห็นตามจริงว่ากายนี้ นับแต่ลมหายใจเข้าออกเป็นต้นมา ไม่มีสักชิ้นส่วนเดียวที่เที่ยง กายทั้งแท่งนั่นแหละไม่เที่ยง ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น
จากนั้นค่อยเห็นตามจริงขั้นต่อมา ว่าสุขทุกข์อันเกิดขึ้นในกายนี้ สุขทุกข์อันปรากฏกับใจนี้ ไม่มีสักอย่างเดียวที่เที่ยง สุขทุกข์ทั้งหมดนั่นแหละไม่เที่ยง ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น
จากนั้นเห็นตามจริงขั้นต่อมา ว่าสภาวจิตทั่งที่เป็นอกุศลเช่นเมื่อโลภมากอยากได้แบบผิดๆ เมื่อโกรธเกรี้ยวอยากทำลายล้าง เมื่อสำคัญผิดคิดพลาดประการต่างๆเหล่านั้นต่างก็ไม่เที่ยง ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น และสภาวจิตที่เป็นกุศล เช่นเมื่ออยากสละความตระหนี่ถี่เหนียว อยากสละความผูกพยาบาททิ้ง อยากสละความหลงผิดคิดพลาดประการต่างๆเหล่านั้นต่างก็ไม่เที่ยง ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นเช่นกัน
ตรงนี้แหละ พอรวมกันแล้วแม้ยังคงดำรงชีวิตอยู่ด้วยวิถีทางอันควรตามพระพุทธเจ้าสอน ด้วยการทำทานรักษาศีลให้ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ใจก็จะไม่หลงว่าบุญเป็นสิ่งที่เที่ยง และแม้หยั่งรู้ว่าบุญเป็นสิ่งบันดาลสุข บันดาลโลกส่วนตัวอันสว่างประณีต บันดาลข้าวของเงินทองกองใหญ่และคนรักที่แสนดีน่าใคร่น่าปรารถนาเพียงใด ก็จะเห็นเครื่องของเหล่านั้นต้องแปรไปเป็นธรรมดา ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นเช่นกัน
สรุปง่ายๆ คือไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งเหตุ ไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งผล เพราะพิจารณาอย่างแยบคายด้วยดีแล้ว ว่าทั้งหลายทั้งปวงล้วนต้องแปรไปเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นจากเหตุ แล้วต้องดับลงในที่สุด แม้ใจยึดก็ต้องสูญสลาย แม้ใจไม่ยึดก็ต้องสูญสลาย ฉะนั้นเลือกที่จะไม่ยึดเสียดีกว่า เพราะเมื่อไม่ยึดแล้วใจย่อมไม่เป็นทุกข์ยืดเยื้อยาวนานไม่รู้จบอีกต่อไป
ขอย้ำว่าก่อนการทำกรรมไม่ดำไม่ขาวจะเกิดขึ้นได้ คุณจะต้องละกรรมดำให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่เหลือเลย รวมทั้งเพิ่มพูนกรรมขาวให้ทวีสูงสุดหรืออย่างน้อยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม กระทั่งฝ้าหมอกกิเลสอันแน่นหนาจางคลาย สายตาอันเป็นธรรมภายในจึงปรากฏขึ้นเห็นตามจริงได้ หาใช่ไม่ละกรรมดำ ไม่ทำกรรมขาวแล้วจู่ๆจะเห็นตามจริงกันโดยสะดวกโยธิน
ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมภาวนาในพุทธศาสนานั้น ถ้าเป็นปรากฏการณ์ระดับอรหันตผล ก็จะไม่กลับเปลี่ยนเป็นความหลงไม่รู้ได้อีก รู้แล้วรู้เลย นั่นแหละความสิ้นภพ ความสิ้นชาติ สิ้นความเกิดอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ สิ้นความผิดที่พบพุทธศาสนาแล้วไม่ทำปัญญาเสียให้แจ่มแจ้ง อย่างเด็ดขาดครับ
|
ห้องพระ
วันที่ 15 พ.ค. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,145 ครั้ง เปิดอ่าน 7,151 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,139 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,143 ครั้ง เปิดอ่าน 7,144 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,153 ครั้ง เปิดอ่าน 7,142 ครั้ง เปิดอ่าน 7,407 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,142 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,139 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,148 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,162 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,154 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,162 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,146 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 8,271 ครั้ง |
เปิดอ่าน 39,946 ครั้ง |
เปิดอ่าน 11,386 ครั้ง |
เปิดอ่าน 12,730 ครั้ง |
เปิดอ่าน 75,091 ครั้ง |
|
|