โดย ศ. (พิเศษ) ดร. ภาวิช ทองโรจน์
โครงการเรียนฟรี 15 (อย่างมีคุณภาพ) ของรัฐบาลปัจจุบัน ดูจะยังมีปัญหาให้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างไม่จบสิ้น จากประเด็นดุเดือดในเวทีการอภิปรายงบประมาณกลางปี มาจนถึงหน้าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน
ถ้าจะว่าให้ยุติธรรม โครงการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ดำริโดยรัฐบาลนี้แต่อย่างใด หากแต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่าเป็นเงื่อนไขบังคับที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ก็จะต้องดำเนินการ เพียงแต่วิธีการอาจต่างๆ กันออกไป และประเด็นที่นำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์เพื่อผลต่อการตลาดทางการเมืองก็ต้องต่างกันออกไป รัฐบาลที่ผ่านๆ มานับแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ได้พยายามจัดโดยการกำหนดเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายเหมารายหัวให้แก่นักเรียน แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ภายใต้งบประมาณที่จำกัดทำให้โรงเรียนต่างๆ ต้องหาทางเก็บเงินจากนักเรียนเพิ่มเติม ทำให้การเรียนฟรีไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง รัฐบาลปัจจุบันพยายามสร้างความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยการกำหนดว่าการเรียนฟรีหมายถึงรัฐบาลจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ 5 เรื่อง ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพิเศษ ซึ่งเหล่านี้ผู้เรียนจะไม่ต้องเสียค่าจ่าย
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่า งบประมาณก็คงจะมีจำกัดอยู่ดี ดังนั้น หากนำงบประมาณที่จำกัดมาเกลี่ยให้ถึงนักเรียนทุกคนทั่วประเทศเช่นนี้ ข้อกังวลที่นักการศึกษาทั้งหลายกำลังวิตกอยู่ในขณะนี้ก็คือ ความจำกัดของงบประมาณที่มักจะไปบีบคั้นเรื่องการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งอาจเป็นเหตุให้คุณภาพลดลง และคุณภาพการศึกษานั้นไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ควรรอมชอมได้
มีคำถามที่ตามมาภายใต้ความกังวลเหล่านั้นหลายๆ ข้อ เช่น ถ้าเรายังยากจนอยู่ จนไม่สามารถจัดให้เรียนฟรีอย่างมีคุณภาพได้อย่างแท้จริง ทำไมจึงจะต้องจัดเกลี่ยไปถึงคนทุกคน เพราะความจริงของสังคมไทยคือเรามีทั้งคนรวยและคนจน ดังนั้น ทำไมไม่ให้ผู้ที่สามารถดูแลตัวเองได้เข้ามาร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย อาจจะเหมือนอย่างที่เคยทำอยู่แล้วในรัฐบาลที่ผ่านมา แต่อาจจัดระเบียบสัดส่วนของค่าใช้จ่ายในส่วนที่รัฐสนับสนุนกับส่วนผู้ที่สามารถจ่ายได้จะต้องควักกระเป๋าเองให้ยุติธรรมยิ่งขึ้น สำหรับผู้ที่จ่ายเองไม่ได้ก็จึงให้ได้รับการสนับสนุนทั้งหมด หรือค่าใช้จ่ายบางอย่างในห้าอย่างที่กำหนดนั้น บางคนก็มีความเห็นว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่จำเป็น เช่น ค่าเครื่องแบบนักเรียน ที่มีความเห็นว่าไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนทั้งประเทศน่าจะสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้อยู่แล้ว แต่หากมีนักเรียนส่วนหนึ่งที่รัฐเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องดูแลจริงก็อาจจัดเป็นมาตรการเฉพาะลงไป แล้วเอาเงินที่มีจำกัดอยู่แล้วนี้มาพัฒนาด้านคุณภาพการศึกษาซึ่งกำลังป่วยหนักอยู่ขณะนี้ จะไม่เป็นการดีกว่าหรือ
นอกไปจากนั้น การจัดสรรงบประมาณในลักษณะแจกแหลกเช่นนี้มักจะไม่พ้นจากการเป็นเยื่อของการจ้องตักตวงโดยกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะพยายามแทรกเข้ามาสร้างเงื่อนไขหรือแม้แต่มีส่วนในการดำเนินการจัดซื้อจัดหาโดยตรง ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการทุจริตที่ได้เคยกลายเป็นจุดตายของรัฐบาลต่างๆ ในอดีตมาแล้ว แม้แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์เองก็ยังเคยโดน
แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าเรื่องอื่นใดใน 5 ประการนี้ คือการแจกหนังสือเรียน
แรกเริ่มทีเดียวมีการถกเถียงกันทางด้านวิธีการอยู่มากมายหลายวิธี ที่จะทำให้หนังสือเรียนที่จะจัดให้ฟรีนี้ไปถึงมือนักเรียนได้อย่างไร รวมทั้งมีการปรามจากนักการเมืองฝ่ายค้านว่า ให้ระวังอย่าให้เรื่องนี้ลงท้ายเหมือนการแจก สปก. ในอดีต แต่ดูเหมือนขณะนี้จะเกิดความลงตัวในวิธีการแล้ว ซึ่งแม้ว่าจะคิดกันหลายตลบว่าดีแล้ว แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะวิ่งเข้าสู่ปัญหาอีกแง่หนึ่งดูดี
ข้อสรุปที่คาดว่าจะใช้เป็นแนวทางอยู่ขณะนี้ คือการกำหนดจำนวนเงินสำหรับการจัดหาหนังสือเรียนของนักเรียนแต่ละชั้นปีเป็นรายหัวให้แก่โรงเรียน เพื่อใช้จัดซื้อหนังสือเรียนมาให้เด็กใช้ในห้องเรียน ในการกำหนดดังกล่าว ระบุด้วยว่าต้องซื้อหนังสือให้ครบทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยวงเงินต่อหัวนักเรียนแต่ละชั้นปีคาดว่าจะจัดสรรให้โดยคิดเป็น ร้อยละ 80 ของราคาหนังสือเรียนที่ผลิตโดย องค์การค้า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) แต่โรงเรียนสามารถเลือกซื้อหนังสือได้เอง
เหมือนกับการกำหนดราคากลาง แต่ที่จริงเป็นราคาขั้นต่ำ
ฟังดูดี ในแง่การประหยัด แต่อาจส่งผลเสียตามมาโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะต่อคุณภาพของหนังสือเรียนที่เด็กจะนำไปใช้
เดิมนั้นสำหรับแต่ละวิชา การที่จะเลือกใช้หนังสือเล่มใด ของสำนักพิมพ์ใด คุณครูก็มักจะพิจารณาจากคุณภาพของหนังสือเป็นหลัก
ในประเทศไทย เราเชื่อเรื่องเสรีภาพทางการศึกษาและการแข่งขัน ดังนั้น ในเรื่องหนังสือเรียน จึงให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ผลิตแข่งกัน โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะทำหน้าที่ตรวจเนื้อหาและอนุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนได้ สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็จะแข่งขันกันทางด้านคุณภาพของหนังสือ โดยต่างก็เสาะหานักวิชาการที่มีคุณภาพไว้ในสังกัดของตนเอง และพิถีพิถันในการจัดทำภาพประกอบและรูปแบบการจัดพิมพ์เพื่อให้เข้าใจง่าย รวมทั้งสร้างหนังสือประกอบอื่นๆ เช่น คู่มือการเรียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนด้วยหนังสือจากค่ายของตนให้สูงยิ่งขึ้น ราคาของหนังสือนั้นก็จะต่างกันบ้าง แต่ก็มักจะอธิบายได้ด้วยคุณภาพที่ต่างกัน
เมื่องบประมาณจำกัด แต่ยังต้องจัดหาให้ได้ครบตามข้อกำหนดอีกด้วย โรงเรียนก็คงต้องคิดหนักในการคัดเลือกหนังสือที่จะจัดซื้อ ถึงแม้จะซื้อหนังสือจากองค์การค้าฯ เงินที่ได้ก็มีเพียง 80 % ของราคา นอกเสียจากว่ารัฐมนตรีจะสั่งหั่นราคาลงมาให้ขายได้ เช่นนั้นก็อาจจะยิ่งซ้ำเติมองค์การค้าฯ ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะย่ำแย่ทางด้านธุรกิจอยู่แล้ว อีกทั้ง ก็จะกลายเป็นการผูกขาดไปโดยปริยาย ซึ่งจะผิดกฎหมาย และทำให้สำนักพิมพ์อิสระที่ต้องยอมรับว่าเคยมีคุณูปการต่อการศึกษาไทยมาโดยตลอด มีอันต้องล้มละลายไปตามๆ กัน
แต่ข้อเท็จจริงที่มีมากไปกว่านั้น คือ ปรากฏว่าหนังสือขององค์การค้าไม่เป็นที่นิยม อาจจะเป็นด้วยคุณภาพที่ด้อยกว่า และมีไม่ครบทุกวิชา ที่โรงเรียนต่างๆ นิยมใช้ขององค์การค้าฯ อยู่ในปัจจุบันมีเพียง 2-3 วิชาเท่านั้น ได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานของ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และภาษาไทย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นของกรมวิชาการเดิม
แต่ครั้นจะซื้อของสำนักพิมพ์อิสระ ปัญหาก็คือเงินจะไม่พอ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในปีที่จะถึงนี้ สำนักพิมพ์ต่างๆ อาจจะยินดีหั่นราคา โดยใช้หนังสือสต็อคเก่าบ้าง หรือยอมกินเนื้อตัวเองบ้าง ทั้งนี้เพื่อรักษาตลาดของตนไว้ให้ได้ แต่ในการจัดซื้อในปีต่อๆ ไป ความจริงก็คือความจริง คือเมื่อราคาถูกกำหนดให้ต่ำลงมา สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องลดต้นทุน ซึ่งจะหมายถึงการลดคุณภาพของหนังสือลงมาในที่สุด หากถูกบีบราคาไม่มากนัก ก็อาจจะเป็นแค่การลคคุณภาพการพิมพ์ แต่หากบีบคั้นมากขึ้นไปอีก การลดคุณภาพเนื้อหาก็อาจจะตามมาได้
ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษามากอยู่แล้ว และเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขโดยเร็ว คุณภาพการศึกษาขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสามส่วน คือ ผู้สอน ผู้เรียน และเนื้อหาในการเรียน ซึ่งจะปรากฏอยู่ในหนังสือเรียนเป็นหลัก คุณภาพครูของเราก็ดูจะมีปัญหา ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ตลอดเวลา และยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน ส่วนผู้เรียนนั้นไม่มีทางเลือกมากนัก และมักจะเป็นผลลัพท์อันมาจากคุณภาพของอีกสององค์ประกอบ หากเรามาสร้างปัญหาด้านคุณภาพของหนังสือเรียนขึ้นมาอีกทางหนึ่ง ความหวังในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภาพรวมก็น่าจะยิ่งริบหรี่ลงไปเรื่อยๆ
ที่จริงเรื่องนี้อาจแก้ไขได้ไม่ยาก หากให้เสรีภาพโรงเรียนเสียหน่อย โดยการจัดสรรเงินรายหัวลงไปและให้ใช้แบบถัวเฉลี่ยได้ แต่กำหนดหลักการเสียให้ดี กระจายอำนาจการดูแลลงไปยังเขตพื้นที่การศึกษาให้ชัดเจน โรงเรียนก็น่าจะพิจารณาได้เองว่าในแต่ละปีควรจะต้องเน้นการใช้ทรัพยากรไปในการพัฒนาด้านใด
ประเทศไทยเรามีประสบการณ์จากผลกระทบด้านลบของนโยบายลดแลกแจกแถมเช่นนี้มาแล้วหลายครั้ง ดูตัวอย่างเรื่องการรักษาพยาบาลฟรี เป็นต้น จึงควรที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบครอบ
ไม่เช่นนั้น นโยบายการเรียนฟรี 15 ปี “อย่างมีคุณภาพ” ก็จะกลายเป็นเพียงเครื่องหมายการค้าที่หาคุณภาพไม่ได้อย่างที่โฆษณา
เรื่องโดย : ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์
ติดตามผลงานของ อ.ภาวิช ทองโรจน์ เรื่อง 10 อาการ ที่ทำให้ ต้องผ่าตัดใหญ่ "การศึกษาไทย" ได้ที่นี่
อาการที่ 1
1. คุณภาพการศึกษาพื้นฐานตกต่ำ: ความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการเรียนรู้
อาการที่ 2
2. ปัญหา ของ การปฏิรูป โครงสร้าง
อาการที่ 3
3. ปัญหาของครู
อาการที่ 4
4. ขาดแคลนบัณฑิต แต่บัณฑิต ก็ยังตกงาน
อาการที่ 5
5. ปัญหา ของ อาชีวศึกษา
อาการที่ 6
6. วิทยาลัยชุมชน
อาการที่ 7
7. คุณภาพอุดมศึกษา/ปริญญาเฟ้อ
อาการที่ 8
8. การขาดวิจัยและพัฒนา ขาดนวัตกรรม
อาการที่ 9
9.การปฏิรูปการเงินเพื่อการอุดมศึกษา
อาการที่ 10
10.เทคโนโลยี สารสนเทศ ทางการศึกษา