ว่าด้วย “ดร. ผศ. รศ. อาจม อาจารย์”.ดร.โสภณ พรโชคชัย.ผมได้อ่านบทความเรื่อง “หอกข้างแคร่รีเทิร์น: “ด็อกเตอร์” เทวดารุ่นใหม่ในสังคมการเมืองไทย”* โดย “ดร.หอกหัก” แล้ว นับเป็นปฏิกิริยาที่วิพากษ์พวก “ดอกเตอร์” อย่างรุนแรง ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมาแบ่งปันแบบ “ฟังความรอบข้าง” กันบ้าง เพื่อให้เกิดบรรยากาศ สังคมอุดมปัญญา แต่อาจโดน “จวก” เข้าบ้าง แต่ไม่เป็นไรครับ ยินดีรับฟังและยินดีเป็นกระสอบทรายให้ระบายเพื่อผ่อนคลายครับ..ไม่ใช่ความผิดของดอกเตอร์หรอก .คนที่เรียกตัวเองว่าดอกเตอร์นั้น แสดงว่าเขาอยากยกหางตัวเอง เบื้องต้นเราก็ควรอนุโมทนาว่าเขาอุตสาหะร่ำเรียนมา เราจะได้สบายใจ ผมรู้จักอาจารย์อยู่คนหนึ่ง ท่านเป็นคนไม่ถือตัว แต่ถ้าเราจะให้เกียรติท่าน เราอาจเขียนคำนำหน้าท่านได้ยาวมาก เช่น “ร.ต.อ. รศ. ดร. ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์” เป็นต้น.การเรียกตัวเองว่าดอกเตอร์ย่อมทำให้บางคนหมั่นไส้ ถือเป็นบาปเคราะห์ที่หลีกเลี่ยงได้ยากจากผลของการยกหางตัวเอง และก็เป็นความร้อนรุ่มในอกของคนที่อิจฉาหรือหมั่นไส้คนอื่นเองเช่นกัน.สำหรับคนขี้หมั่นไส้นั้น ผมเชื่อว่ามีอยู่มากพอสมควร บางคนก็อาจเสียดายที่ตนเองไม่ได้จบดอกเตอร์ บางคนก็อาจคิดหรือมั่นใจว่าตนเก่งกว่าดอกเตอร์ ในโลกแห่งความเป็นจริง เชื่อว่ามีคนขี้อิจฉาอยู่พอสมควรเช่นกัน.บางคนชอบเรียกตัวเองว่าดอกเตอร์หรืออาจารย์กับทุกคนที่สนทนาด้วย ข้อนี้อาจจะยังความหมั่นไส้ให้กับผู้คนได้มากพอดู เราอย่าไปหมั่นไส้เลยครับ พระพยอมเคยบอกว่า “โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า ไม่โกรธดีกว่า จะได้ไม่บ้าไม่โง่”.ผมมีข้อแนะนำผู้ที่ไม่ชอบที่จะเห็นคนอื่นยกหางตัวเอง กล่าวคือถ้าพบคนเรียกตัวเองว่าดอกเตอร์ เราก็อาจตอบโต้เขาโดยเรียกขานเขากลับไปว่า “คุณ” แทน ให้เขารู้ว่าเราไม่ได้สนใจการเป็นดอกเตอร์ของเขา ในสังคมอารยะ เราไม่ยกย่องเขาได้ แต่เราไปหลู่เกียรติ เช่น เรียกเขาว่าไอ้หรืออีคงไม่ได้ อย่างไรก็ตามเรายังอาจเออออเรียกขานตามความประสงค์ของเขาเพื่อเอาบุญก็ยังได้ การยกย่องคนมันไม่เสียหายนะครับ..ดอกเตอร์กิ๊กก๊อกกับดอกเตอร์ชั่ว.อย่างไรก็ตามบางคนก็อาจได้ดอกเตอร์มาจากการรับแจกแบบกิตติมศักดิ์ หรือเป็นดอกเตอร์ห้องแถวจริง ๆ ยิ่งในปัจจุบัน สถาบันการศึกษาจำนวนมากผลิตดอกเตอร์แบบไร้คุณภาพออกมามากมาย จึงยิ่งทำให้ดอกเตอร์ดูด้อยค่าลงจริง ๆ.ปัญหาดอกเตอร์กิ๊กก๊อกก็ยังไม่ร้ายเท่าการมีดอกเตอร์แท้ ๆ จากมหาวิทยาลัยชั้นยอดของโลกหลายคน ทำตัวเป็น “สุนัขรับใช้” ทางการเมือง เพราะยิ่งทำให้ความเป็นดอกเตอร์ด้อยลง ดอกเตอร์หรือนักวิชาการพวกนี้ “พายเรือให้โจรนั่ง” หรืออาจหนักหนาขนาด “ให้โจรพายเรือให้ตนนั่ง” (ประสบความสำเร็จโดยไม่เลือกวิธีที่ใช้).บางคนอาจกลัวว่า คำพูดที่เป็นพิษของดอกเตอร์ชั่ว ๆ อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อตามคุณวุฒิ ข้อนี้เราพึงเชื่อมั่นในวิจารณญาณของประชาชนว่าเขาสามารถแยกแยะความผิดถูกเองได้ และแม้เขาจะแยกแยะไม่ได้ในช่วงต้น ก็พึงให้เวลาประชาชนได้เรียนรู้.โดยนัยนี้ เราจะต่อกรกับดอกเตอร์ ดอกเตอร์ชั่ว ดอกเตอร์ต่ำชั้น เราก็ยิ่งต้องตอบโต้ที่ประเด็นสาระเป็นสำคัญ เราควรยกระดับจิตใจให้สูงด้วยการตอบโต้กันตามเหตุผล ให้เห็นว่าดอกเตอร์ผิดอย่างไร ไม่ใช่ไปตอบโต้หรือหมั่นไส้เขาในเรื่องความเป็นดอกเตอร์..โลกของเปลือกนอก.ในโลกนี้ เรามักพยายามใช้เปลือกเพราะเป็นอาภรณ์ ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการปกปิดความอุจจาด แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นอารยธรรม ซึ่งรวมความไปถึงการแสดงสถานะ รสนิยม การโอ้อวด เป็นต้น.ผมเชื่อว่าความหมั่นไส้อาจารย์มหาวิทยาลัยมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องส่วนบุคคลคือ ความหมั่นไส้-อิจฉา แต่ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องหลักการที่เป็นผลสะท้อนจากการที่สถานะของคนกลุ่มนี้สูงเกินจริง อาจารย์พวกนี้อยู่กันอย่างสบาย ๆ แถมยัง “ได้ทั้งเงิน ทั้งกล่อง” แถมบางทียังอาจ “ได้เด็ก” อีกด้วย ข้อนี้ผิดกับในสังคมตะวันตกที่เขาคงไม่ได้ยกหางอาจารย์เท่านี้.ปฏิกิริยาต่อกรณีนี้จึงปรากฏเป็นคำค่อนแคะอาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ นานา เช่น ใช้คำว่า “อาจม” แทน “อาจารย์” “ผศ.” ย่อมาจาก “ผัวนักศึกษา” “รศ.” ย่อมาจาก “รอเสียบ” หรือ “ศ.” หมายถึง “เสียบแล้ว” เป็นต้น ในเชิงหลักการ เราควรลดการยกย่องสถานะพวกนี้ลงบ้าง โดยเฉพาะที่กร่าง ๆ ไม่กี่สิบคนจากจำนวนอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 50,000 คน..ดูกันที่ผลงานดีกว่า.เป็นเวลานับร้อยปีมาแล้ว ที่ประเทศไทยส่งคนไปเรียนต่อยังสถาบันชั้นนำในต่างประเทศโดยเฉพาะที่จบดอกเตอร์ พวกนี้พอร่ำเรียนจบ ก็มักกลับมาใหญ่ในทันที จึงกลายเป็นคน “กร่างแต่กลวง” เพราะขาดความรู้จริงในภาคปฏิบัติ ไม่เคยฝึกงาน ไม่ค่อยพัฒนาความรู้ตนเองหลังจากจบการศึกษาแล้ว ภาวะ “เน่าใน” จึงเกิดขึ้นกับนักวิชาการไทย.ในภาคปฏิบัติ สิ่งที่จะพอใช้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของดอกเตอร์ก็คือ การพิจารณาดูว่าสิ่งที่พูดนั้นมีเหตุผลเพียงใด มีข้อมูลประกอบเพียงใด มีการศึกษามาดีเพียงใด หรือเป็นพวกแสดงความเห็นได้ทุกเรื่องโดยไม่ต้องศึกษาวิจัย.ความรู้จริงต้องเกิดจากการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงยืมจมูกคนอื่นหายใจหรือยืนอยู่บนหอคอยงาช้าง คำพูดที่ดอกเตอร์เทียม ๆ แสดงออกดูได้ไม่ยากเลย ชาวบ้านก็รู้ แต่อาจไม่ได้พูดเท่านั้น.เราไม่พึงไปหมั่นไส้พวกดอกเตอร์โดยเฉพาะนักวิชาการชั่วหรือกร่างแต่กลวงเหล่านี้หรอก ลำพังความกระหายในการมี “ฟอร์ม” ให้สังคมยอมรับตนเอง ก็เป็นบาปเคราะห์หลอกหลอนตัวเขาเองอย่างแสนสาหัสตลอดเวลาอยู่แล้ว ประเด็นสำคัญก็คือ เราต้องอภิปรายกันด้วยการยึดหลักการ หลักเหตุผล เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญา ถ้าไม่มีหลักก็เป็นสังคมป่าเถื่อน..* โปรดอ่านได้จาก
http://www.prachatai.com/05web/th/home/13819..หมายเหตุ.ขออนุญาตเอาบทความของ “แดง ไบเล่” ที่เขียนเรื่อง “สถาบันอาจารย์มหาวิทยาลัย” เมื่อราวปี 2525 มากำนัลแด่ทุกท่านในที่นี้ด้วยครับ.ในเมืองไทยเรานั้น มีการกล่าวขวัญถึงสถาบันต่างๆ แทบจะหมดทุกสถาบันแล้วตั้งแต่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย เผด็จการ ทหารพลเรือน ข้าราชการ นายทุน กรรมกร นักธุรกิจ ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ นักหนังสือพิมพ์ นักเรียน นักศึกษา นักการเมือง ฯลฯยังเหลืออีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีใครแตะต้องกันนัก นั่นคือ อาจารย์มหาวิทยาลัย.เนื่องจากสถาบันอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญยิ่งกลุ่มหนึ่ง สำหรับนักศึกษา เพราะหากขาดอาจารย์เสียแล้วมหาวิทยาลัยก็ไม่เป็นมหาวิทยาลัย จึงใคร่จักกล่าวถึงคนกลุ่มนี้ สักเล็กน้อย พอหอมปากหอมคอ .ขอแนะนำให้นักศึกษาใหม่ รู้จักกับพวกเขาก่อนเป็นเบื้องแรก : เขาคือใคร ? .๑. เขาเป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ.๒. เขาต่างจากข้าราชการพลเรือนอื่นๆ ตรงที่สามารถเลื่อนชั้นขั้นตอนได้คล่องกว่า เขามีเวลาการทำงานที่ flexible มาก ตลอดจนมีฮอลิเดย์อันยาวนาน .๓. ระบบการบังคับบัญชา และการวัดผลงานของพวกเขาหละหลวม กว่าระบบการบังคับบัญชา และวัดผลงานข้าราชการพลเรือนอื่นๆ .๔. เขามีหน้าที่ให้บริการทางวิชาการ คือ การสอนหนังสือ เป็นเบื้องแรก การวางระบบการเรียนการสอนและการบริหารวิทยาลัยเป็นเบื้องสอง.๕. นอกจากนี้ เขาก็ไปวิ่งรอกหากิน ด้วยการสอนกวดวิชา สอนพิเศษ ทำงานกับธุรกิจเอกชนบ้าง แต่ยังไม่เคยเห็นที่ขายทัปเป้อร์แวร์ หรือรับเป็นพิธีกรทัปเป้อร์แวร์.๖. เขาได้รับการยกย่อง จากสังคมอย่างมากพอสมควรตลอดจนยกย่องกันไปยกย่องกันมาในหมู่พวกเดียวกันอีกด้วยโดยใช้สรรพนาม เรียกกันไปเรียกกันมาว่า “อาจารย์” เช่น “แหม, วันนี้อาจารย์ดอกท้อ หน้าตาไม่สบายเลย ทั้งๆ ที่เพิ่งพาอาซ้อไปทัวร์ยุโรปมาหยกๆ” อาจารย์ไขลูกล่าว อาจารย์ดอกท้อตอบว่า “อาจารย์ไขลู ไม่ทราบหรือคะ ว่าหมู่นี้เดี๊ยนแองเชียสม้ากมาก มีเทนชั่นตบตีกันเพราะ แย่งกันสอนซัมเมอร์ค้า”.ความสำคัญผิดของนักศึกษาที่มีต่ออาจารย์ และสมควรแก้ไข.๑. นักศึกษาใหม่ส่วนมาก นึกว่าอาจารย์เป็นบุคคลพิเศษอันทรงความรู้ ความคิด ข้อเท็จจริงคือ อาจารย์ส่วนมากมิได้เป็นเช่นนั้น ตรงกันข้าม อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนมาก เป็นผู้มีความรู้ความคิดเพียงแคบๆ เฉพาะในสาขาวิชาของตนเท่านั้น อย่าหวังอะไรมากไปกว่านั้น .๒. นักศึกษาอาจคิดว่า อาจารย์คือผู้หยั่งรู้โลกและสังคม ข้อเท็จจริงคือ อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนมาก เป็นผู้ขาดประสพการณ์ชีวิตและขาดความรู้อันเกิดจากการได้สัมผัสกับความเป็นจริงในสังคม อาจารย์พูดถึงสังคมเหมือนกำลังพูดถึงสิ่งเลื่อนลอยบางอย่าง.๓. โปรดระลึกไว้เสมอว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนมาก สอนหนังสือไม่เป็นและมักจะบ่นว่าตามตำรา ตามตัวอักษร มากกว่าที่จะพยายามถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้น ด้วยวิธีการอันจะสร้างความเข้าใจให้เกิดแก่คุณ.๔. อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมาก ใช้ภาษาไทยไม่เป็น เพราะเขาเห็นเป็นของธรรมดาเกินกว่าที่จะทำความรู้จักกับมัน เขาจึงขาดเครื่องมือสำคัญในอาชีพ นอกจากใช้ภาษาไทยไม่เป็นแล้ว อาจารย์อีกร้อยละ ๙๖–๙๗ ก็ใช้ภาษาอื่นไม่เป็นอีกด้วย อย่าสำคัญผิดคิดว่าเมื่อเขาใช้ภาษาไทยไม่เป็นแล้วเขาจะใช้ภาษาฝรั่งเป็น-ไม่เป็นหรอกคู้ณ.๕. อาจารย์มหาวิทยาลัยครึ่งหนึ่ง ไม่แตกฉานในเนื้อหาวิชาที่ตนสอน เมื่อคุณเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ทั้งๆ ที่คุณตั้งใจเรียน จึงมิใช่ความผิดของคุณทั้งหมดหรอก.๖. อาจารย์มหาวิทยาลัยกว่าครึ่ง ไม่ติดตามความก้าวหน้าในศาสตร์ที่ตนสอน ตลอดจนไม่เหลือบแล ข้อเท็จจริงในแง่การปฏิบัติการ เพราะละอายเกินไปที่จะยอมรับว่าตนยังไม่รู้อะไรอีกบ้าง.๗. อาจารย์มหาวิทยาลัยที่หย่อนประสิทธิภาพมากที่สุดได้แก่พวกที่สอนสังคมศาสตร์ เพราะเป็นสาขาวิชาที่ “รู้” ยาก และ “สอน” ยาก แต่บุคคลากรที่เข้ามาในแขนงสังคมศาสตร์กลับเป็นบุคคลากรที่มักจะด้อยคุณภาพ จึงไปกันใหญ่ไม่น่าประหลาดที่คุณไปฟังอาจารย์วิชาสังคมศาสตร์แขนงต่างๆ เช่น สังคมวิทยา สอนคุณเหมือนกับกำลังนินทาชาวบ้านให้คุณฟัง หรือไม่ก็เหมือนกับกำลังเล่าวิวัฒนาการของสังคมอเมริกาหรือสังคมจีนให้คุณฟัง ไม่ใช่สังคมไทย.๘. อาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็น สาวโสด มีเป็นจำนวนมาก คนกลุ่มนี้บางคนที่เขา “ทำใจ” กับวิถีชีวิตของตนเองได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่อีกส่วนหนึ่งที่ “ทำใจ” ไม่ได้จะมีผลต่องาน และอย่าลืมว่า จริงๆ แล้ว งานอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยนั้น เป็นงานที่demand สมาธิ, intellectual capacity, objectivity และมี pressure พอสมควร คนที่ “ไม่เป็นกันเองกับตัวเอง” รับภาระงานชนิดนี้ได้โดยยากลำบาก.๙. อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมาก มาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยสิ่งล่อหลอกเปลือกนอกของอาชีพนี้ เช่น การได้รับการยอมรับจากสังคม การได้ไปเมืองนอก เขามิได้มาเป็นอาจารย์เพราะเขารักอาชีพครู หรือมีวิญญาณแห่งการเป็นครู เขาเป็นครูเพราะเวรกรรมพามาและในที่สุดเวรกรรมของคุณ ก็พาคุณมาพบกับพวกเขา .๑๐. โปรดระวัง อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นบุคคลที่มักสำคัญตนผิดได้ง่ายมาก เพราะโดยอาชีพ เขาคบหาสมาคมอยู่กับคนประเภท”ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันโง่” (สำนวนอันมีชื่อเสียงของคุณวิทยากร เชียงกูล) คนเขลารุ่นนี้เริ่มฉลาดขึ้นนิดหน่อยก็จากเขาไป คนเขลาคลื่นลูกใหม่ก็มาแทนที่ชีวิตของเขาเวียนว่ายอยู่กับ “คนเขลา” รุ่นแล้วรุ่นเล่า หาที่สิ้นสุดมิได้นานๆ เข้าจึงสำคัญตนผิด คิดว่าคนทั้งโลกมันเขลากันอย่างนั้นทุกคน ตัวเองฉลาดเป็นการถาวรอยู่แต่ผู้เดียว.๑๑. ในทางกลับกัน ก็อาจเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจได้เมื่อคนเขลาๆ ที่ตนเคยพบอยู่แต่เดิม เสือกฉลาดขึ้นมากมายในอีก ๓-๔ ปี ให้หลัง.๑๒. อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากมาเป็นอาจารย์ด้วยจิตใจที่คิดจะมา “เอา” (take) มิใช่ จะมา “ให้” (give) คือ จะมา take อภิสิทธิ์ต่างๆ ทั้งในรูปธรรมนามธรรมของการที่ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น ทุนการศึกษาไปต่างประเทศ ฯลฯ ฯลฯ จึงไม่น่าประหลาดใจแต่ประการใด ที่คนพวกนี้บางคน “ให้” แก่มหาวิทยาลัยได้น้อย และ “ให้” แก่นักศึกษาได้น้อย หลังจากที่ “สวาปาม” หยิบชิ้นปลามันไปรับประทานเรียบร้อยและชินชา ตลอดจนขับถ่ายหมดแล้ว.๑๓. คนที่ไม่ได้รักอาชีพครู จำนวนมากเหล่านี้ มีชีวิตประจำวันอย่างเซ็งๆ ไป ปีแล้วปีเหล่า ถึงเวลาเขาก็มา “ให้บริการ” การสอนพอให้หมด “หน้าที่” (และเขาจำกัดกรอบหน้าที่ของเขาให้แคบมากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้) .๑๔. ท้ายที่สุด ในสายตาของคน “แย่ๆ” เหล่านี้ นักศึกษาจึงถูกลอยแพและเป็นเพียง “instrument” แห่งการ “ดำเนินชีวิตประจำวัน” ของเขาเท่านั้น ไม่มี