ประเพณี “ตักบาตรดอกไม้" ในวันเข้าพรรษา
เป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมของชาวพระพุทธบาท จ.สระบุรี
สำหรับงานประเพณีตักบาตรดอกไม้ของชาวพระพุทธบาทนั้นกล่าวว่ามีประวัติดังนี้ ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม พรานบุญ เป็นนายพรานล่าสัตว์อยู่แถบป่าลึกเมืองสระบุรี วันหนึ่งนายพรานยิงธนูถูกกวางตัวหนึ่งวิ่งหนีลับเข้าป่าไป นายพรานตามรอยเลือดเข้าไป พบรอยไปหยุดที่บ่อแห่งหนึ่งที่มีรูปร่างดังรอยเท้าคน แล้วรอยเลือดนั้นก็หายไป พรานบุญลองเอาน้ำในบ่อนั้นมาทารอยกลากเกลื้อนที่มีอยู่ตามเนื้อตัว รอยเหล่านั้นก็หายไปหมดสิ้น ความได้ทราบถึงพระเจ้าทรงธรรม พระองค์จึงเสด็จมาสักการะรอยพระพุทธบาทนี้ด้วยพระองค์เอง และจึงทรงโปรดให้สร้างมณฑปคลุมรอยพระพุทธบาทไว้ และจัดให้มีการเฉลิมฉลองทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 อันเป็นวันเข้าพรรษาทุกปี กาลต่อ ๆ มาป่าทึบรายล้อมองค์พระพุทธบาทเกิดมีดอกไม้พันธุ์หนึ่งลักษณะคล้ายต้นกระชายหรือต้นขมิ้น จะออกดอกบานสะพรั่งสวยงามทุกปีในช่วงเข้าพรรษา ชาวบ้านรอบองค์พระพุทธบาทเห็นเป็นอัศจรรย์จึงพร้อมใจกันเก็บดอกไม้นั้นมาร่วมตักบาตรเฉลิมฉลององค์พระพุทธบาทมานับแต่นั้นทุกปีมามิได้ขาด
เมื่อถึงวันเข้าพรรษา คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี ชาวพระพุทธบาทจะพากันไปเก็บดอกเข้าพรรษาตามไหล่เขาโพธิลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุในเขต อ.พระพุทธบาท นำมาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ
ชาวสระบุรีจัดพิธีตักบาตรดอกไม้ ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร (พระอารามหลวง) และเป็นสถานที่ประดิษฐาน รอยพระพุทธบาท อันศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนให้ความเคารพบูชา พระสงฆ์จะนำดอกไม้ที่รับบิณฑบาตไปสักการะรอยพระพุทธบาท ในพระมณฑป และสักการะพระเจดีย์จุฬามณี รวมทั้งพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ชาวพระพุทธบาท ใช้ดอกเข้าพรรษาในการตักบาตร ถวายพระสงฆ์ ตามประเพณีดั้งเดิมที่เรียกว่า “ประเพณีตักบาตรดอกไม้” ในเทศกาลเข้าพรรษา เชื่อกันว่า เมื่อนำดอกไม้ชนิดนี้มาตักบาตรจะได้บุญกุศลแรง นิยมตักบาตรด้วยดอกเข้าพรรษาสีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา และสีเหลือง หมายถึงสีแห่งพระสงฆ์ สาวกแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าในหนึ่งดอกมีสีเหลืองกับสีขาวอยู่ในดอกเดียวกันจะเป็นการยิ่งดี โดยเฉพาะสีเหลืองแต้มสีขาวจะดียิ่งขึ้น
หลังจากรับบิณฑบาตแล้ว พระสงฆ์จะนำดอกไม้ไปสักการะวันทา “รอยพระพุทธบาท” จากนั้นนำออกไปวันทา พระเจดีย์จุฬามณี พร้อมกับสักการะ พระเจดีย์องค์ใหญ่ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วนำเข้าในพระอุโบสถ ประกอบพิธีสวดอธิษฐานเข้าพรรษาขณะที่พระภิกษุเดินลงจากพระมณฑป พุทธศาสนิกชนจะนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุ เชื่อว่าเป็นการชำระบาปของตนเองด้วย