รามี (ramie) โดย นาย จินดา จันทร์อ่อน
ป่านรามีเป็นพืชเส้นใยธรรมชาติที่ใช้ประโยชน์กันมานานแล้ว เส้นใยรามีมีคุณสมบัติที่ดีมากในด้านความเหนียว เมื่อเทียบกับเส้นใยธรรมชาติอื่น ๆ มีความเหมาะสมใช้งานหลายประเภททั้งในด้านผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อการสวมใส่ และด้านอุตสาหกรรมที่ต้องการความคงทนสูง เช่น เชือก แห อวน ตลอดจนการใช้ทำเยื่อกระดาษธนบัตร ฉนวนไฟฟ้า และอื่น ๆ เช่น ผสมกับชันเป็นหมันหรือด้ายดิบที่ยังไม่ได้ฟอกหรือทำให้สะอาด สำหรับอุดแนว ช่องแคบ ๆ หรือรอยแยกของเรือที่เป็นไม้มาประกบกัน
ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๒๙ มีองค์กรเอกชนของไทยร่วมมือกับจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งโรงงานปั่นด้ายรามีในนาม บริษัท ไทยรามีเท็กซ์ไทล์ จำกัด และได้มีการทำแปลงทดลองและขยายพันธุ์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในเขตจังหวัดเลย เพชรบูรณ์และนครราชสีมา โดยนำพันธุ์มาจากจีนและไต้หวันแต่โครงการนี้ต้องล้มเลิกไปในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ด้วยเหตุผลหลายประการ ในอนาคตป่านรามีจะเป็นเส้นใยที่กิจการอุตสาหกรรมต้องการมากขึ้น และเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ อีกพืชหนึ่งของไทย
ป่านรามี เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ขึ้นเป็นพุ่มขนาดลำต้นสูงประมาณ ๒๕๐ เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น ๑๔-๒๐ มิลลิเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินและสภาวะอากาศ ใบมีลักษณะมน มีรูปคล้ายหัวใจกว้างประมาณ ๕๐-๑๓๐ มิลลิเมตร ยาว ๑๐๐-๑๕๐ มิลลิเมตร สีเขียวทั้งสองด้าน หรือด้านล่างค่อนข้างขาว ขอบใบเว้าหยักเป็นซี่โดยรอบคล้ายใบเลื่อย ดอกสีเขียวอ่อน ออกเป็นกลุ่มอยู่ตรงโคนแกนหรือก้านใบ มีเมล็ดเล็ก ลักษณะเป็นมัน ซึ่งใช้ขยายพันธุ์ได้ดีเช่นเดียวกับการใช้ต้นหรือกิ่งตัดปักชำ
ต้นป่านที่เจริญเติบโตในระยะแรกจะเป็นพุ่ม ไม่เหมาะสมที่จะตัดเอาไปขูดเส้นใย ควรตัดส่วนของต้นที่พื้นดินทิ้ง และเมื่อแก่เต็มที่ไม่สามารถขูดเอาเส้นใยได้แล้ว ควรตัดทิ้งเสียครั้งหนึ่ง เพราะป่านระยะนี้มีคุณภาพเส้นใยต่ำและหยาบ ส่วนที่เจริญเติบโตในระยะที่ ๒ และต่อไป สามารถตัดเพื่อขูดเอาเส้นใยได้ ระยะเวลาที่ตัดควรห่างกัน ๔๕-๖๐ วัน ในปีแรกต้นป่านจะสูงมาก ปีต่อไปต้นจะไม่สูงมาก ลำต้นจะเล็กแต่มีเส้นใยมาก ระยะที่จะให้เส้นใยมากเป็นปีที่ ๓ จะต้องตัดในระยะที่ต้นป่านโตเต็มที่ จึงจะได้เส้นใยมาก
ต้นป่านรามีที่มีก้านใบสีแดง
เนื่องจากเส้นใยมียางหรือเมือกเหนียวไขและเนื้อไม้เกาะแน่น จึงจำเป็นจะต้องหาวิธีแยกเอายางและไขออกเสียก่อน ซึ่งมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ในสมัยก่อน นิยมต้มเส้นใยในสารละลายด่างทำให้ได้เส้นใยขาวไม่แข็งกระด้างแต่ยังมีเศษยางเหลือติดอยู่กับเส้นใยบ้าง วิธีที่นิยมทำกันในวงการอุตสาหกรรม คือ ต้มเส้นใยภายใต้ความกดดันกับด่าง แล้วล้างด้วยน้ำ
ประโยชน์ของเส้นใยป่านรามี
เส้นใยป่านรามีมีคุณสมบัติที่ดีกว่าเส้นใยพืชชนิดอื่นหลายอย่าง มีความเหนียวมากกว่าฝ้าย ๘ เท่า มากกว่าป่านลินิน ๔ เท่า มีความยืดหยุ่นเท่าเทียมกับฝ้ายแต่ด้อยกว่าไหม เมื่อถูกน้ำจะเพิ่มความเหนียวขึ้นอีก ๓๐-๖๐% ไม่หดถ้าปั่นควบกับเส้นใยอื่น จะทำให้ได้เส้นด้ายที่มีลักษณะและคุณภาพสูงกว่าเดิม ทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาและน่าใช้ยิ่งกว่าใช้เส้นใยป่านรามีล้วน ๆ เส้นใยป่านรามีคล้ายคลึงกับเส้นใยลินินมากและมีประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมมาก
เส้นใยป่านรามีจัดเป็นเส้นใยประเภทเส้นใยยาวจากลำต้น (bast fiber) มีความเหนียวและความคงทนดีกว่าเส้นใยพืชชนิดอื่น มีความคงทนไม่เน่าผุง่าย แม้ว่าจะปล่อยทิ้งไว้บนดินหรือจมอยู่ในน้ำ