ผลงานที่เป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practices)หรือนวัตกรรม
ชื่อเรื่อง : การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือ (STAD) ร่วมกับ
กระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของโพลยา เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้เรื่องทฤษฎีบทพีทาโกรัส
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภายใต้โมเดล PAR-SAPS
ผู้เสนอผลงาน : นางสาวเอื้อมพร พรมสุคนธ์
ตำแหน่ง : ครูชำนาญการ อันดับ คศ.2 โรงเรียนปากจาบวิทยา
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต ๓
ปีการศึกษา : 2567
1. ความสำคัญของผลงานหรือนวัตกรรมที่นำเสนอ
1.1 ความเป็นมาและสภาพปัญหา
คณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากคณิตศาสตร์ช่วยให้มนุษย์มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาหรือสถานการณ์ได้อย่างรอบคอบและถี่ถ้วน ช่วยในการคาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจ แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และศาสตร์อื่น ๆ อันเป็นรากฐานในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติให้มีคุณภาพและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ การศึกษาคณิตศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, 2560 หน้า 1)
ปัญหาทางคณิตศาสตร์มักเป็นสถานการณ์หรือคำถามที่มีเนื้อหาสาระและกระบวนการ หรือความรู้ที่ผู้เรียนไม่คุ้นเคยมาก่อนหากไม่ผ่านการศึกษาค้นคว้าอย่างมาก การหาคำตอบจะต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ ประกอบกับความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการตัดสินใจเลือกใช้วิธีการ ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้นั้นไปปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เฉกเช่นเดียวกับการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในศตวรรษที่ 21 นั้น ซึ่งสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง คือ ผู้เรียนควรมีโอกาสในการลงมือทำ ค้นหาวิธีการ วางแผน และสรุปองค์ความรู้นั้น ๆ ได้ด้วยตนเอง มากกว่าที่จะสอนให้ผู้เรียนได้รู้ถึงคำตอบของปัญหานั้นในทันที โดยไม่พยายามส่งเสริมให้ผู้เรียนค้นพบรูปแบบหรือวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเอง กล่าวคือ ไม่เน้นทักษะกระบวนการคิดของนักเรียนนั่นเอง
จากการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนปากจาบวิทยา ที่ข้าพเจ้าได้ทำการจัดการเรียนการสอนอยู่นั้น พบว่า นักเรียนมีปัญหาในด้านการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ในบทเรียนเรื่องการหารากที่สองของจำนวนเต็ม ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักและเนื้อหาสำคัญอย่างมากในการเรียนเพื่อเชื่อมโยงความรู้ไปใช้ในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น อีกทั้งบทเรียนดังกล่าวยังคงต้องอาศัยความรู้พื้นฐานอย่างมากในการเรียนรู้ และมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งผลที่พบก็คือ นักเรียนไม่สามารถแก้ไขโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ตั้งแต่โจทย์ในระดับขั้นพื้นฐานไปจนถึงโจทย์ในระดับการประยุกต์และนำไปใช้ ข้าพเจ้าคิดว่า เกิดจากกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมายังไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้นักเรียนไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ไม่สามารถทำแบบทดสอบกลางภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ได้ในระดับการผ่านเกณฑ์ร้อยละ 50 ของคะแนนเต็ม ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ นักเรียนไม่สามารถต่อยอดความรู้ได้ทำให้การเรียนในระดับต่อไปหรือในบทเรียนต่อไปนั้นเกิดความไม่เข้าใจและยากลำบากในการเรียน อีกทั้งนักเรียนยังมีเจตคติที่ไม่ดีต่อรายวิชาคณิตศาสตร์อีกด้วย ส่งผลต่อเนื่องให้นักเรียนไม่เปิดใจและไม่ชอบที่จะเรียนรู้หรือศึกษาค้นคว้าหาความรู้ที่เกี่ยวกับวิชาคณิตศาสตร์ ข้าพเจ้าจึงได้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยใช้การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือ (STAD) ร่วมกับกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของโพลยา เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้เรื่อง ทฤษฎีบทพีทาโกรัสของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ภายใต้โมเดล PAR-SAPS
1.2 แนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนา
จากความเป็นมาและสภาพปัญหาดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นนั้น ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์จะต้องร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ให้ดีขึ้น สอดคล้องกับ ศศิธร พงษ์โภคา และ อุบลวรรณ ส่งเสริม (2558) ที่ได้ระบุว่า การเรียนรู้ผ่านนวัตกรรมวิธีสอนแบบต่าง ๆ และกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมพัฒนาให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นและทำให้การจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนนั้นบรรลุตามเป้าหมายหรือจุดประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ได้ ข้าพเจ้าจึงได้ศึกษาค้นคว้าเทคนิควิธีการสอนในแบบต่าง ๆ พบว่า การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD (Student Teams Achievement Divisions) ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยให้ผู้เรียนที่มีความสามารถแตกต่างกัน ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน โดยจะประกอบไปด้วย ผู้เรียนที่เรียนเก่ง 1 คน ผู้เรียนที่เรียนปานกลาง 2-3 คน และผู้เรียนที่เรียนอ่อน 1 คน การจัดการเรียนการสอนในเทคนิคดังกล่าวนั้นจะช่วยให้ผู้เรียนมีความร่วมมือกันในการทำงานภายในกลุ่ม และทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสร่วมกันอธิบายความรู้ไปยังผู้เรียนที่เรียนอ่อนให้เข้าใจเนื้อหาไปด้วย เทคนิคนี้ยังครอบคลุมไปถึงการสร้างชิ้นงานเพื่อเป็นผลงานของกลุ่มต่อไปอีกด้วย นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้ใช้วิธีการสอนหรือเทคนิคดังกล่าวรวมกับกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของโพลยาอีกด้วย ซึ่งกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของโพลยานั้น ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ทำความเข้าใจปัญหา (Understanding the Problem) ขั้นที่ 2 วางแผนการแก้ปัญหา (Devising a plan) ขั้นที่ 3 ดำเนินการแก้ปัญหา (Carrying out the plan) และขั้นที่ 4 ตรวจสอบคำตอบ (Looking back) และกระบวนการจัดการเรียนการสอนของข้าพเจ้าทั้งสิ้นยังได้ดำเนินการภายใต้กรอบโมเดล PAR-SAPS ซึ่งเป็นโมเดลต้นแบบที่ดีของการจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning) อีกด้วย
2. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
2.1 วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชา คณิตศาสตร์พื้นฐาน (ค22101) เรื่อง ทฤษฎีบทพีทาโกรัส ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
2. เพื่อสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนในรายวิชาคณิตศาสตร์
2.2 เป้าหมาย
1. เชิงปริมาณ
- นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 13 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567โรงเรียนปากจาบวิทยา อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ได้รับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้เรื่อง ทฤษฎีบทพีทาโกรัสร้อยละ 100
2. เชิงคุณภาพ
- นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน
(ค22101) เรื่อง ทฤษฎีบทพีทาโกรัส สูงขึ้นในระดับการผ่านเกณฑ์ร้อยละ 50 ของคะแนนเต็ม
- นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนในวิชาคณิตศาสตร์
3. กระบวนการวิธีการดำเนินงาน (วิธีการพัฒนา Best Practice และการใช้ Best Practice )
3.1 การออกแบบผลงาน/นวัตกรรม
ขั้นตอนที่ 1 ศึกษา/ค้นคว้า
1. ศึกษาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรุง พุทธศักราช 2560) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ รวมถึงหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนปากจาบวิทยา
2. ศึกษารูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) และทักษะของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
3. ศึกษารูปแบบและวิธีการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดของกระบวนการเรียนรู้แบบร่วมมือด้วยเทคนิค STAD (Student Teams Achievement Divisions)
4. ศึกษารูปแบบและวิธีการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิดของกระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของโพลยา
5. ศึกษารูปแบบและวิธีการจัดการเรียนการสอนภายใต้โมเดล PAR-SAPS และได้จัดทำสรุปการค้นคว้าดังแผนภาพต่อไปนี้