การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐานร่วมกับการเรียนรู้แบบผสมผสาน เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ วิชาศิลปะ(สาระนาฏศิลป์) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 2) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน วิชาศิลปะ (นาฏศิลป์) ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่เรียนรู้ด้วยรูปแบบการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐานร่วมกับการเรียนรู้แบบผสมผสาน ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 และมีนักเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 75 ของนักเรียนทั้งหมด 3) พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย วิชาศิลปะ(สาระนาฏศิลป์) ที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐานร่วมกับการเรียนรู้แบบผสมผสาน และ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีต่อรูปแบบการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐานร่วมกับการเรียนรู้แบบผสมผสาน รูปแบบที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีขั้นตอนการศึกษา 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ผู้เชี่ยวชาญ 2) แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการเรียนรู้
ระยะที่ 2 ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน 18 ชั่วโมง 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ 3) แบบประเมินผลงานนาฏศิลป์สร้างสรรค์ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ 5) แบบสังเกตและบันทึกชั้นเรียน 6) อนุทินสะท้อนความคิดของนักเรียน และ 7) แบบสัมภาษณ์นักเรียน
ระยะที่ 3 การนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปใช้ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 10 แผน 18 ชั่วโมง 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ 3) แบบประเมินผลงานนาฏศิลป์สร้างสรรค์ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจ
กลุ่มเป้าหมายในการศึกษา เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/8 จำนวน 39 คน ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนกัลยาณวัตร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาขอนแก่น
ผลการศึกษาพบว่า
1) รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐานร่วมกับการเรียนรู้แบบผสมผสาน ประกอบด้วย 1) หลักการของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน พัฒนาความสามารถของผู้เรียน ที่แสดงความคิดหลายทิศทาง หลายแง่หลายมุม โดยนำประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นพื้นฐาน ที่ทำให้เกิดความคิดใหม่ซึ่งจะนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ ที่แปลกใหม่ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้การสอนแบบสร้างสรรค์เป็นฐาน ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 ขั้นกระตุ้นความสนใจ (Stimulate) ขั้นที่ 2 ขั้นเตรียมความคิด (Conception) ขั้นที่ 3 ขั้นสร้างความคิด (Ideating) ขั้นที่ 4 ขั้นนำเสนอ (Present) และขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผล (Assessment) จัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนควบคู่กับออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์, Google Classroom, Youtube 4) การวัดผลและประเมินผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เป็นการประเมินผลความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐานร่วมกับการเรียนรู้แบบผสมผสาน
2) นักเรียนมีคะแนนจากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทั้งหมด 39 คน มีคะแนนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 82.05
3) นักเรียนมีผลการประเมินความคิดสร้างสรรค์ ระดับคุณภาพ “ดี” ขึ้นไป จำนวน 39 คน คิดเป็นร้อยละ 100
4) นักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์เป็นฐานร่วมกับการเรียนรู้แบบผสมผสาน ระดับความเหมาะสมในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด (4.51)