1. ความสำคัญของผลงาน นวัตกรรม หรือวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ
จากการศึกษาสังเกตเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสัน พบว่า เด็กปฐมวัยส่วนใหญ่เด็กยังขาดพัฒนาการทักษะกระบวนการคิด และทักษะการลงมือทำงานด้วยตนเอง ขาดความกล้าแสดงออกในการทำกิจกรรม ขาดการจดจ่อใส่ใจในการทำงาน มีความวอกแวก ไม่มีสมาธิในขณะที่ทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งการทำกิจกรรมไม่มีความแปลกใหม่ด้านจินตนาการ การคิดนอกกรอบค่อนข้างน้อย ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ง่ายๆ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองEF (Executive Function) โดยการเปิดโอกาสให้เด็กได้มีอิสระในการแสดงออก ได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง โดยอาศัยประสบการณ์เดิม และเป็นการจัดประสบการณ์ที่เน้นทักษะทางสมอง สามารถช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง กล้าคิดกล้าทำ อันเป็นรากฐานสำคัญให้เด็กเกิดการพัฒนาให้เหมาะสมกับวัย เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในอนาคตต่อไป
2. วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง EF (Executive Function) ด้วยกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนอนุบาลชั้นปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสัน
3. เป้าหมายของการดำเนินงาน
ด้านปริมาณ
1. เด็กชาย- หญิง อายุระหว่าง 5-6 ปี จำนวน 11 คน ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนบ้านสัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2 จังหวัดเชียงราย มีคะแนนค่าเฉลี่ยพัฒนาการทางสมอง EF หลังการวิจัย เพิ่มขึ้น หลังจากการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์
ด้านคุณภาพ
1. เด็กชาย- หญิง อายุระหว่าง 5-6 ปี จำนวน 11 คน ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนบ้านสัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 2 จังหวัดเชียงราย มีพัฒนาการทางสมอง EF ที่เพิ่มขึ้น
4. หลักการและแนวคิด
กระแสการเปลี่ยนแปลงทางความรู้และเทคโนโลยีก่อให้เกิดความคาดหวังและผลักดันให้เกิด(พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ,2542) เพื่อกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและได้ระบุแนวทางการจัดการศึกษาที่มุงเน้นฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ระบุให้จัดกิจกรรมโดยเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็นและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 ต้องการให้เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมพัฒนาการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ตลอดจนได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างเหมาะสม ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับผู้สอน เด็กกับผู้เลี้ยงดูหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดู การพัฒนา และให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นของพัฒนาการทุกด้าน อย่างเป็นองค์รวม มีคุณภาพ และเต็มตามศักยภาพ ด้วยการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการที่ครอบคลุมเด็กปฐมวัยทุกคน ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และวิถีชีวิตของเด็กตามบริบทของชุมชน สังคม และวัฒนธรรมไทยยึดพัฒนาการและการพัฒนาเด็กโดยองค์รวมผ่านการเล่นอย่างมีความหมายและกิจกรรมที่หลากหลาย ได้ลงมือกระทำในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เหมาะสมกับวัยและมีการพักผ่อนเพียงพอ จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กมีทักษะชีวิต และสามารถปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นคนดี มีวินัย และมีความสุข สร้างความรู้ ความเข้าใจ และประสานความร่วมมือในการพัฒนาเด็กระหว่างสถานศึกษากับพ่อแม่ ครอบครัว ชุมชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย (กระทรวงศึกษาธิการ.2560:4)
ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต เพราะวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน ทั้งในการดำรงชีวิตประจำวันและในงานอาชีพต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนผลผลิตต่างๆ ที่ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตและในการทำงาน ล้วนเป็นผลของความรู้วิทยาศาสตร์ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และศาสตร์อื่นๆ ความรู้วิทยาศาสตร์ช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมาก ในทางกลับกันเทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญมากที่จะให้มีการศึกษาค้นคว้าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง วิทยาศาสตร์ทำให้คนได้พัฒนาวิธีคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ มีทักษะที่สำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลหลากหลายและประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้วิทยาศาสตร์เป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ซึ่งเป็นสังคมแห่งความรู้ (Knowledge based society) คนทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้รู้วิทยาศาสตร์ (scientific literacy for all)เพื่อที่จะมีความรู้ ความเข้าใจโลกธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น และนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล สร้างสรรค์ มีคุณธรรม ความรู้วิทยาศาสตร์ ไม่เพียงแต่นำมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ยังช่วยให้คนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์การดูแลรักษา ตลอดจนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืนและที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ความรู้วิทยาศาสตร์ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจ สามารถแข่งขันกับนานาประเทศและดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมโลกได้อย่างมีความสุข (กระทรวง-ศึกษาธิการ. 2547)
การจัดประสบการณ์ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดีนั้นควรให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงมากที่สุด สอดคล้องกับแนวคิดของจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ที่ว่าเด็กเรียนรู้จากการกระทำ (Learning by doing) ซึ่งตรงกับเพียเจท์ (Piaget) และบรูเนอร์ (Bruner) ที่กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาการทางสติปัญญานั้นเกิดจากการเรียนรู้โดยการกระทำและการเรียนรู้จากการค้นพบด้วยตนเอง การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัยเป็นการตอบสนองและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในการเรียนรู้โลกธรรมชาติรอบตัวและพัฒนาทักษะทางสติปัญญาต่าง ๆ เนื่องจากเด็กในระดับปฐมวัยมีธรรมชาติของการสืบเสาะหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์อยู่ในตนเอง การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างเหมาะสมโดยมุ่งเน้นให้เด็กได้เรียนรู้และค้นพบด้วยตนเองมากที่สุด ให้ได้ทั้งกระบวนการเรียนรู้และองค์ความรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของเด็กในการพัฒนาทักษะต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาในอนาคต(ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์, 2552, หน้า 27)
พัฒนาการทางสมองทักษะ EF (Executive Function) คือ ความสามารถของสมองและจิตใจที่จะควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายได้ (ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. 2561 : คำนำ) ซึ่งการพัฒนาสมองของเด็กนอกเหนือจากเรื่อง IQ และ EQ การฝึกทักษะ EF ทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่จะเป็นรากฐานกระบวนการคิดตัดสินใจและการกระทำที่มีส่วนช่วยให้เด็กในวันนี้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต (นวลจันทร์ จุฑาภัคดีกุล. 2559 : 1) ซึ่ง สอดคล้องกับ สุภาวดี หาญเมธี (2559 : 2) ได้กล่าวถึง ทักษะสมอง EF (Executive Function) ว่า เป็นชุดกระบวนการทางความคิด (Mental Process) ที่ช่วยให้เราวางแผน มุ่งใจจดจ่อ จำคำสั่งและจัดการกับงานหลาย ๆ อย่างให้ลุล่วงเรียบร้อยได้ สามารถจัดลำดับความสำคัญของงาน วางเป้าหมาย และทำไปเป็นขั้นตอน จนสำเร็จ รวมทั้งควบคุมแรงอยาก แรงกระตุ้นทั้งหลาย ไม่ให้สนใจไปนอกลู่ นอกทาง และเป็นกระบวนการทำงานของสมองในระดับสูงที่ประมวลประสบการณ์ในอดีต และ สถานการณ์ในปัจจุบันนั้นนำมาประเมิน วิเคราะห์ ตัดสินใจ วางแผน เริ่มลงมือทำ ตรวจสอบตนเอง และแก้ไขปัญหา ตลอดจนควบคุมอารมณ์ บริหารเวลา จัดความสำคัญ กำกับตนเอง และมุ่งมั่นทำจนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ (Goal- Directed Behaviors) หรือกล่าวง่าย ๆ ได้ว่า เป็นทักษะ ความสามารถที่มนุษย์เราทุกคน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ไม่ว่าชนชาติหรือชนชั้นใด ๆ และไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน หรือแม้แต่ในอนาคต เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้วก็จะต้องใช้สมองเหล่านี้ในการดำเนินชีวิตทุก ๆ วันให้อยู่รอดปลอดภัย และทำกิจการงานต่าง ๆ ให้สำเร็จเรียบร้อย ดังนั้นเด็กปฐมวัยจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็กควรได้รับการพัฒนาทักษะ EF เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการควบคุมตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องพบกับความท้าทายปัญหา อุปสรรค หรือความยากลำบากต่าง ๆ ในชีวิต ทั้งที่บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน และในสังคมต่อไป (วีระศักดิ์ ชลไชยะ. 2560 : 11)
5. กระบวนการผลิตผลงาน หรือขั้นตอนการดำเนินงาน
การส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง EF (Executive Function) ด้วยการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ของอนุบาลชั้นปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสัน ดำเนินการโดยใช้วงจรคุณภาพ PDCA ดังนี้
รูปแบบ/กระบวนการ กิจกรรมที่ปฏิบัติ
P (Plan)
การวางแผน
-วิเคราะห์สภาพปัญหา บริบทของผู้เรียน
-ศึกษาหลักสูตรปฐมวัย หลักสูตรสถานศึกษา ทฤษฎีการเรียนรู้และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะทางสมอง Executive Function (EF)
-เลือกใช้สื่อและกิจกรรมที่สอดคล้องกับการพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์
-เขียนแผนการจัดการเรียนรู้และนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจความสอดคล้องแล้วแก้ไขตามคำแนะนำ
-วางแผนการวัดและประเมินผลการเรียนรู้
D (Do)
การปฏิบัติตามแผน -ขอความร่วมมือจากผู้บริหารโรงเรียนในการทำวิจัย
-สร้างความคุ้นเคยกับเด็กกลุ่มเป้าหมาย
-ผู้วิจัยนำชุดเครื่องมือแบบทดสอบวัดทักษะการสื่อสารของเด็กปฐมวัยอายุ 5 - 6 ปีที่ ผู้วิจัยสร้างขึ้นมาทดสอบก่อนการทดลอง (Pre-test) การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์กับกลุ่มเป้าหมาย
-ดำเนินการทดลองโดยกลุ่มเป้าหมายจะได้รับการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ซึ่งทำการทดลองในช่วงกิจกรรมเสริมประสบการณ์ใช้เวลาในการทดลอง 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 20 นาที
-ผู้วิจัยดำเนินการทดลองด้วยตนเอง โดยการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์กับกลุ่มเป้าหมาย มีขั้นตอนดังนี้
ขั้นนำ ครูเข้าสู่กิจกรรมโดยการทักทายเด็ก ใช้เพลง คำคล้องจอง ปริศนาคำทาย เพื่อกระตุ้นให้สนใจและสร้างความพร้อมให้กับเด็กก่อนเริ่มกิจกรรม
ขั้นดำเนินกิจกรรม ทดลองกิจกรรมวิทยาศาสตร์
ขั้นสรุป ครูเปิดโอกาสให้เด็กได้ถามคำถามเกี่ยวกับการทดลองวิทยาศาสตร์
-เมื่อดำเนินการทดลองครบ 10 สัปดาห์ ผู้วิจัยทำการทดสอบหลังการทดลอง (Post-test) กับกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้แบบทดสอบประเมินทักษะทางสมอง EF ของเด็กปฐมวัยชุดเดียวกันกับแบบทดสอบประเมินทักษะทางสมอง EF ของเด็กปฐมวัยก่อนการทดลอง
- เมื่อสิ้นสุดการทดลองแล้วผู้วิจัยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ
C (Check)
การติดตามและการประเมินผล -ประเมินผลคะแนนความสามารถทางพัฒนาการทางสมอง EF
A (Action)
การแก้ไขปรับปรุง -- นำผลการประเมินของเด็กมาวิเคราะห์ปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป
6. ผลการดำเนินงาน ผลสัมฤทธิ์ และประโยชน์ที่ได้รับ
จากการดำเนินการจัดกิจกรรมการส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง EF (Executive Function) ด้วยกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ของอนุบาลชั้นปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสัน พบว่า
1. เด็กปฐมวัยมีทักษะทางสมอง EF ก่อนได้รับการจัดประสบการณ์การจัดกิจกรรม วิทยาศาสตร์มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14.55 และหลังได้รับการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 21.64 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมเท่ากับ 7.09
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. เด็กปฐมวัยได้รับการส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง EF (Executive Function)
2. ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องได้แนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง EF (Executive Function) ของเด็กปฐมวัยโดยการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์
3. ผู้วิจัยได้ความรู้และประสบการณ์ หลักการขั้นตอนการทำวิจัยในชั้นเรียน เข้าใจถึงกระบวนการ และเทคนิคในการทำวิจัย สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีประสิทธิภาพได้อย่างเหมาะสมกับวัย
7. ปัจจัยความสำเร็จ
ในการเลือกใช้แบบทดสอบเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง EF (Executive Function) ด้วยการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนบ้านสัน
ผู้ใช้สื่อได้รับการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก สามารถสร้างผลงานได้สำเร็จลุล่วง ต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี่ด้วย ซึ่งรายนามต่อไปนี้
1. ท่านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสัน นางสายทิพย์ เกียรติวาณิช ที่ได้มอบนโยบายและดำเนินการ ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรในโรงเรียนบ้านสันได้เข้ารับการอบรมต่าง ๆ ตลอดจนเป็นผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคุณภาพของแบบทดสอบ ให้คำปรึกษาและแนะนำในการเลือกใช้กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะทางสมอง EF ของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสัน จนสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
2. หัวฝ่ายวิชาการ นายสุริยัน สุภาคำ และครูกาญจนา กองแรง ครูปฐมวัย โรงเรียนบ้านโป่งนก ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบคุณภาพของแบบทดสอบ และคณะครู โรงเรียนบ้านสัน ที่ได้สร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อร่วม ปรึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
3. นักเรียนและผู้ปกครองชั้นอนุบาลปีที่ 3 ปีการศึกษา 2567โรงเรียนบ้านสัน ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
8. บทเรียนที่ได้รับ
8.1 ข้อสรุปผล
ผลการวิจัย เรื่อง การส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง EF (Executive Function) ด้วยการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ของชั้นอนุบาลปีที่ 3โรงเรียนบ้านสัน สามารถสรุปผลได้ว่าเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการทางสมอง ง EF ก่อนได้รับการจัดประสบการณ์การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14.55 และหลังได้รับการจัดกิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 21.64 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมเท่ากับ 7.09
8.2 ข้อสังเกต
จากการศึกษาการส่งเสริมพัฒนาการทาง EF (Executive Function) ด้วยการจัดกิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์ ของชั้นอนุบาลปีที่ 3โรงเรียนบ้านสัน ผู้วิจัยจะกล่าวถึงประเด็นสำคัญของการศึกษาทดลองซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
เด็กปฐมวัยมีทักษะพัฒนาการทางสมอง EF ก่อนได้รับการจัดประสบการณ์การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 14.55 และหลังได้รับการจัดกิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 21.64 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมเท่ากับ 7.09 เมื่อผู้วิจัยจัดประสบการณ์การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ พบว่าเด็กปฐมวัยมีความสนใจในการทดลองกิจกรรมวิทยาศาสตร์ มีความตื่นเต้นกับกิจกรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัน เพราะเนื่องด้วยผู้วิจัยได้คัดเลือกกิจกรรมรูปแบบในการทำงานที่แปลกใหม่ ทำให้เด็กเกิดความตื่นเต้นและให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมมากขึ้น
สุภาวดี หาญเมธี (2558 : 23) กล่าวว่า ทักษะ EF หรือ Executive Function เป็นชุดของกระบวนการทางความคิด (Mental Process) ที่ช่วยให้เรานั้นคิดเป็น มีเหตุผล ยับยั้งชั่งใจได้ วางแผนทำงานเป็น มุ่งใจจดใจจ่อ ทำอะไรไม่วอกแวก จำคำสั่ง และจัดการกับงานหลาย ๆ อย่างนั้นให้สำเร็จลุล่วงเรียบร้อยได้ สามารถจัดลำดับงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการยึดเป้าหมายแล้วทำไปเป็นขั้นตอนจนสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับ จุติพร ทองคำชู (2557 : 10) กล่าวว่า การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์แบบปกติ หมายถึง การจัดการเรียนการสอนในช่วงกิจกรรมเสริมประสบการณ์ตามหน่วยการเรียนรู้ที่สอดแทรกสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยมุ่งเน้นให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดจากการตอบคำถาม การลงมือกระทำกับสื่อการเรียนรู้ ซึ่งมีครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และชี้แนะการปฏิบัติประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นนำ ขั้นสอน และขั้นสรุป และสอดคล้องกับ อัญชลี รังสีทอง (2556 : 18) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นการแก้ปัญหาหรือข้อสงสัย หาคำตอบ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมเรียนรู้ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง มุ่งให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เด็กได้ลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเองโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ใช้การคิด สังเกต สนทนา ซักถาม แก้ปัญหา สรุปด้วยตนเองจนเกิดเป็นองค์ความรู้ สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริง ซึ่งสัมพันธ์กับผลวิจัยของขนิษฐา สุยะเพี้ยง (2560 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเพื่อหาค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ของแผนการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กปฐมวัย และเพื่อเปรียบเทียบทักษะการคิดวิเคราะห์หลังการจัดประสบการณ์ โดยใช้เกมการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ของเด็กปฐมวัย จากผลการวิจัยพบว่า แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้เกมการศึกษามีค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 86.67/95.60 เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์ โดยใช้เกมการศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยทักษะการคิดวิเคราะห์หลังเรียนเท่ากับ 28.84 คิดเป็นร้อยละ 96.13 ซึ่งสูงกว่าก่อนเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 25.88 โดยมีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนเท่ากับ 2.96 คิดเป็นร้อยละ 9.86 และสอดคล้องกับผลวิจัยของสุมาลี หมวดไธสง (2554 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรม ผลวิจัยพบว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มีระดับความสามารถในการคิดวิเคราะห์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของเด็กปฐมวัยหลังได้รับการจัดกิจกรรมกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าก่อนได้รับการจัดกิจกรรมกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
ดังนั้น การจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์เป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง EF (Executive Function) ของเด็กปฐมวัย ช่วยให้เด็กมีทักษะด้านการยับยั้งชั่งใจ-การคิดไตร่ตรอง และการยืดหยุ่นของความคิด โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้มีอิสระในการแสดงออก ได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง โดยอาศัยประสบการณ์เดิม และเป็นการจัดประสบการณ์ที่เน้นทักษะทางสมอง สามารถช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง มีการคิด กล้าทำ อันเป็นรากฐานสำคัญให้เด็กเกิดการพัฒนาให้เหมาะสมกับวัย เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในอนาคตต่อไป
8.3 ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
1.1 การจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ควรมีขั้นนำที่น่าสนใจ แปลกใหม่ในอยู่เสมอ เพื่อเป็นการเร้าความสนใจและกระตุ้นเด็กในสนใจในกิจกรรม และช่วยให้เด็กมีสมาธิก่อนการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ได้
1.2 ครูควรมีบทบาทในการดูแลให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำกับเด็ก ให้เด็กได้มี ส่วนร่วมในการทดลอง และทำตามความคิดของตนเองบ้างในแต่ละโอกาส และควรให้ การเสริมแรง โดยการกล่าวคำชมเชยในผลงานของเด็กทำให้เด็กมีความมั่นใจและตั้งใจใน การทำกิจกรรม
2. ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการศึกษาความสามารถที่ส่งเสริมพัฒนาการทักษะทางสมอง EF (Executive Function) ของเด็กปฐมวัย จากกิจกรรมอื่น ๆ เช่น นิทาน ศิลปะ เป็นต้น