หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติ โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ บนพื้นฐานความเชื่อว่าผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ ในการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะในด้านความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และทักษะในการใช้เทคโนโลยี (กระทรวงศึกษาธิการ,2552)
สาร สาระทัศนานันท์ ,(2527) ได้ให้ความสำคัญของพิธีบายศรีสู่ขวัญไว้ว่า พิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีที่สำคัญของชาวอีสาน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขวัญและจิตใจ เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น การดำเนินชีวิตของชาวอีสานแทบทุกอย่าง จึงมีการบายศรีสู่ขวัญควบคู่กันไปเสมอ เป็นการเรียกร้องพลังทางจิต ช่วยให้มีพลังใจที่เข้มแข็ง สามารถฟันฝ่าภัยพิบัติต่างๆได้ การสู่ขวัญช่วยทำให้เกิดมงคล ทำให้ดำรงอยู่ด้วยความสุขราบรื่น มีโชคลาภมากขึ้น และอาจดลปรารถนาให้ผู้ที่เคราะห์ร้ายพ้นจากสรรพเคราะห์ทั้งปวง ด้วยมูลเหตุแห่งการสู่ขวัญนี่เอง
พิธีบายศรีสู่ขวัญมีหลายรูปแบบ แล้วแต่ว่าจะจัดพิธีสู่ขวัญในเรื่องใด เช่น การสู่ขวัญเด็ก การสู่ขวัญนาค การสู่ขวัญบ่าวสาว หรือจะเป็นการสื่อขวัญในเหตุที่ทำให้เกิดการเสียขวัญ จิตใจไม่ดี เพื่อเรียกให้ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว สิ่งไม่ดีให้ผ่านพ้นไป มีพลังใจที่ดี รวมทั้งการสู่ขวัญสัตว์ และสิ่งต่างๆก็อาจทำได้ แต่การปฏิบัตินอกจากจะมีเครื่องขวัญที่ใช้ในพิธีแล้ว พิธีการต่างๆก็จะแตกต่างกันไปเป็นปลีกย่อย แล้วแต่ลักษณะพิธี ซึ่งประเพณีบายศรีสู่ขวัญในภาคอีสาน เป็นประเพณีที่ประชาชนส่วนมาก ยังนิยมปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป เพราะถือว่าเป็นพิธีที่เป็นสิริมงคล เป็นการมอบความปรารถนาดีและดลบันดาลให้ ผู้รับการทำพิธีตลอดจนผู้เกี่ยวข้องมีความสุขความเจริญ และจิตใจสงบสุข และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรักใคร่กันเป็นอย่างดี นับเป็นวัฒนธรรมที่ดี ควรแก่การอนุรักษ์ให้อยู่สืบไป
จากวิถีชีวิตของชาวอีสาน ที่มีคติความเชื่อตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ และเป็นสิ่งที่คณะผู้จัดทำได้พบเห็นและคุ้นเคยมาตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งจะมีพิธีกรรมประกอบในแต่ละช่วงเวลามีความใกล้เคียงกันแต่จะมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยเฉพาะการทำพาขวัญหรือการทำพานบายศรี ประเพณีที่คนอีสานมักนิยมทำกันเป็นประจำเช่น ก่อนจะออกจากบ้าน การเดินทาง การแต่งงาน การคลอดลูก เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ รวมถึงมีความเชื่อว่าช่วยป้องกันภัยจากภูตผี ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนถึงความเชื่อ ศรัทธา ความเป็นอยู่ ความเอื้อเฟื้อและความสามัคคี ของชาวอีสานที่มีต่อพิธีบายศรีสู่ขวัญ และยังคงปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
คณะผู้จัดทำมีความเชื่อและความศรัทธาในพิธีบายศรีสู่ขวัญของชาวอีสาน ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของคณะผู้จัดทำ โดยเฉพาะการทำพาขวัญ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อ ศรัทธาและค่านิยมของชาวอีสาน คณะผู้จัดทำจึงมีความสนใจในการประดิษฐ์พานบายศรี เพื่อแสดงออกถึงความเชื่อ ความศรัทธา และร่วมกันรักษาสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้ ให้คงอยู่และเชิดชูให้เป็น Soft Power ของสถานศึกษาและชุมชนต่อไป