ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 (2545 น. 2) ให้ความสำคัญต่อการสืบทอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย รวมทั้งศิลปวัฒนธรรม โดยกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้และหลักสูตรการเรียนการสอนหนึ่งใน ศิลปวัฒนธรรมของชาติที่ถือว่าเป็นศิลปะชั้นสูง ควรค่าแก่การสืบทอด สร้างสรรค์ และพัฒนาไม่ให้หยุดนิ่ง นั่นคือ การศึกษาด้านนาฏศิลป์ไทย (อุษา สมฤกษ์, 2547, 2) เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของ เอกลักษณ์ความเป็นชาติที่มีศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเองมานาน แต่กำลังจะสูญหายไปในไม่ช้าถ้ายัง ขาดการอนุรักษ์และการพัฒนาสร้างสรรค์ในทางที่เหมาะสม
สภาวะการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็วของสังคม ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งวิทยาการ ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้โลกไร้พรมแดนการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วและไร้ซึ่งข้อจํากัด ส่งผลกระทบแก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก และประเทศไทยยังได้รับวัฒนธรรมและค่านิยมที่แปลก ใหม่จากต่างประเทศเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การสื่อสาร หรือการพูดจา (เรณู โกศินานนท์, 2535, น. 1) แต่มีวัฒนธรรมที่ประเทศไทยยังคงรักษาไว้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ และเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้ความเป็นมาของประวัติศาสตร์ และเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างดียิ่ง นั่นคือ นาฏศิลป์ ซึ่งศิลปวัฒนธรรมทางด้านนาฏศิลป์อันอ่อนช้อยงดงามนี้เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษไทยได้รักษา และสืบทอดมาแต่โบราณเป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งแห่งความเจริญของชาติ นาฏศิลป์ไทยเป็น เอกลักษณ์ประจำชาติที่แสดงถึงศิลปวัฒนธรรมไทยในรูปแบบของศิลปะการแสดงประเภทต่างๆ ได้แก่ การแสดงโขนละคร ระบำ รำ ฟ้อน การบรรเลงดนตรี วรรณกรรม เป็นต้น และถือว่าเป็น ศาสตร์ทางศิลปะที่สำคัญยิ่ง เป็นที่รู้จักกันดีในรูปแบบของการแสดงที่มีลีลาอันอ่อนช้อยงดงามแสดง ถึงความเป็นอารยธรรมอันรุ่งเรืองและความมั่นคงของชาติ นอกจากนี้นาฏศิลป์ยังมีประโยชน์สำหรับ ผู้ที่ได้เรียนรู้ นั่นคือ การเรียนนาฏศิลป์เป็นการใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายในการเคลื่อนไหว และ ท่าทางต่างๆของนาฏศิลป์ไทยมีท่วงที่คล้ายท่าฤาษีดัดตน จึงส่งผลให้ผู้ที่ได้ฝึกหัดเป็นผู้มีสุขภาพ ร่างกายสมบูรณ์ มีจิตใจร่าเริงแจ่มใส มีบุคลิกภาพที่ดี และยังส่งเสริมให้นักเรียนมีวินัยในตนเองใน การร่วมแสดงออกกับผู้อื่น มีสมาธิ มีความอดทนในการฝึกซ้อม มีความรับผิดชอบต่อผลงาน รู้จัก ความไพเราะของเสียงเพลง ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ที่สำคัญคือ ช่วยให้เด็กได้รู้คุณค่าของดนตรีและนาฏศิลป์ รู้คุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมประจำชาติและยังเข้าใจศิลปะของชาติอีกด้วย (อรวรรณ บรรจงศิลป์, 2545) การเรียนการสอนในวิชานาฏศิลป์ ไม่ใช่เป้าหมายเพียงเพื่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสุนทรียภาพเท่านั้น แต่ต้องมุ่งเน้นการจัด ประสบการณ์ในการเรียนรู้จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานทางนาฏศิลป์ไทยได้อย่างมีคุณภาพ แต่จาก สภาพการจัดการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์ของนักเรียนที่ผ่านมานั้น ครูผู้สอนวิชานาฏศิลป์ไทย มี จุดมุ่งหมายในการสอนเพียงให้ผู้เรียนเป็นฝ่ายรับความรู้ และรับท่าทางการร่ายรําจากครูแต่เพียงฝ่าย เดียว โดยไม่มีการพัฒนาวิธีการสอนที่แปลกใหม่ขึ้นมาใช้สอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะสามารถปฏิบัติ ท่ารําได้ถูกต้องและสวยงาม และมีความคิดสร้างสรรค์ท่ารําที่แปลกใหม่ (อุษา สบฤกษ์, 2536)
ในการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์ของโรงเรียนทุ่งช้าง ทางโรงเรียนมีการกำหนดเกณฑ์ มาตรฐานของคะแนนสอบที่ผ่านเกณฑ์คือ 50 % ของคะแนนสอบ และควรมีคะแนนค่าเฉลี่ยการ ทดสอบไม่ต่ำกว่าระดับดี อีกทั้งยังกำหนดนโยบายให้ครูผู้สอน ประเมินผลการเรียนของนักเรียนที่สอบไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่ควรเกิน 3% ของนักเรียนทั้งหมด จากการ ทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนวิชานาฏศิลป์ ปีการศึกษา 2567 ภาคเรียนที่ 2 พบว่าจาก นักเรียนจำนวน 15 คน สอบไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่โรงเรียนกำหนด คํานวณเป็น เปอร์เซ็นได้ 5 % และในการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์ ของโรงเรียนทุ่งช้าง ในระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 5 เป็นการเรียนการสอนที่มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งหน่วยการเรียนรู้ที่นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำที่สุดคือ การประดิษฐ์ท่ารําและท่าทางประกอบการแสดง จากการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนไม่สนใจในการเรียนเท่าที่ควร ซึ่งจะนําไปสู่การปฏิบัติท่ารําไม่ได้ ทำให้นักเรียนขาดความสนุกสนานในการเรียนและ เมื่อครูให้นักเรียนจับกลุ่มเพื่อทำกิจกรรม จะมีผู้นําในการคิดท่ารํา 1-2 คนในแต่ละกลุ่ม ส่วนสมาชิกในกลุ่มที่เหลือรอปฏิบัติตาม ซึ่งทำให้สมาชิกในกลุ่มมีบทบาทไม่เท่าเทียมกัน ไม่เกิดปฏิสัมพันธ์ต่อกันในการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังพบว่า นักเรียนชายจะจับกลุ่มกับเพื่อนนักเรียนชายด้วยกัน นักเรียนหญิงก็เช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้ว นักเรียนชายส่วนใหญ่มักไม่ชอบอะไรที่อ่อนช้อย กรีดกราย แต่จะชอบอะไรที่สนุกสนาน ส่งผลให้ นักเรียนไม่สนใจในเนื้อหาเท่าที่ควร และเท่าที่สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนชายและนักเรียนหญิงมี ความกระตือรือร้นและสนใจในการฝึกซ้อมท่ารําที่แตกต่างกัน
จากปัญหาดังกล่าวผู้วิจัยจึงเล็งเห็นว่า การจัดการเรียนรู้ โดยการนํานวัตกรรมและเทคโนโลยี ทางการศึกษาใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์นั้น มีความจําเป็นที่จะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ทักษะปฏิบัติ ของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เป็นรูปแบบการเรียนที่มีการจัดกลุ่มการ ทำงานอย่างมีโครงสร้างที่ชัดเจน สมาชิกทุกคนในทีมจะทำกิจกรรมร่วมกันในการเรียนรู้และจะได้รับการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ เพื่อเพิ่มการเรียนรู้ของสมาชิกในทีม และลงมือปฏิบัติจนเกิดความ คล่องแคล่ว ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้ และเกิดการคิดริเริ่ม ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะพัฒนา แผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซัน ร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารําประกอบเพลงรำโทน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อให้ ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมายได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เพลงที่นักเรียนสามารถเข้าใจในความหมายของเนื้อเพลงได้ง่าย เข้ากับยุคสมัย และยังเป็นการส่งเสริมและปลูกฝังให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่ดีอีกด้วย
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชานาฏศิลป์ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม
2. เพื่อเปรียบเทียบทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชานาฏศิลป์ สูงขึ้น
2. มีแนวทางในการจัดการเรียนการสอน ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ในด้านจินตนาการ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การปฏิบัติและการพัฒนาตนเอง
วิธีขอบเขตการวิจัย
1. ขอบเขตเชิงประชากร
1.1. ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 36 คน
1.2. กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย แล้วแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม โดยใช้วิธการเปรียบเทียบความสามารถที่มีความเท่าเทียมกัน จากนั้นสุ่มกลุ่มนักเรียนจากนักเรียนสองกลุ่มดังกล่าว เพื่อกำหนดเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม
2. ขอบเขตเชิงเนื้อหา
เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ หารประดิษฐ์ท่ารำ โดยใช้ทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD
3. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
3.1. แผนการจัดการเรียนรู้วิชานาฏศิลป์ โดยใช้ทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน
3.2. แผนการจัดการเรียนรู้แบบปกติ
3.3. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชานาฏศิลป์ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน
3.4. แบบประเมินทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน
4. ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย
ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัย ตลอดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567
ตัวแปรที่ศึกษา
1. ตัวแปรอิสระ ประกอบด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้ 2 แบบ คือ
1.1. แผนการจัดการเรียนรู้วิชานาฏศิลป์ โดยใช้ทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน
1.2. แผนการจัดการเรียนรู้แบบปกติ
2. ตัวแปรตาม ประกอบด้วย
2.1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชานาฏศิลป์ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน
2.2. คะแนนทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน
วิธีการดำเนินงาน
ขั้นตอนการสร้างเครื่องมือ
1. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตร แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเครื่องมือ
2. จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ โดยเขียนกิจกรรมการเรียนการสอนตามทฤษฎีทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน
3. สร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชานาฏศิลป์ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน ซึ่งเป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ
4. สร้างแบบประเมินทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน
การเก็บรวบรวมข้อมูล
1. การเตรียมตัวผู้เรียน โดยเตรียมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 36 คน
2. ดำเนินการตามแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทนโดยใช้เวลาทดลอง 4 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง
3. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชานาฏศิลป์ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน จำนวน 30 ข้อ
4. ทดสอบทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง ซึ่งประเมินโดยครูผู้สอนหลังจากการจัดการเรียนรู้ ครบ 4 สัปดาห์
5. รวบรวมข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ข้อมูล
สรุปผลการวิจัย
1. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชานาฏศิลป์ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม พบว่า กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 25.41 มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 1.72 และกลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 19.16 มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 3.14 จากการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชานาฏศิลป์ ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม ด้วยสถิติทดสอบ t ได้ค่า t=6.982 มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มทดลอง จากการใช้แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
2. ผลการเปรียบเทียบทักษะปฏิบัติการรำ เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม พบว่า กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 27.55 มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 1.85 และกลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 2.91 มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เท่ากับ 3.11 จากการเปรียบเทียบทักษะปฏิบัติการรำ ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม ด้วยสถิติทดสอบ t ได้ค่า t=9.762 มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลปรากฏว่าทักษะปฏิบัติการรำ ของกลุ่มทดลอง จากการใช้แผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ทักษะปฏิบัติของซิมพ์ซันร่วมกับการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิค STAD เรื่อง การประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลง รำโทน สูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05