บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง : การศึกษาผลการใช้บอร์ดเกม Treasure Hunt : The Science of Materials ผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องวัสดุในชีวิตประจำวัน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล 7 ฝั่งหมิ่น
ผู้วิจัย : นางสาวอรนรินทร์ มุกดา
ปีการศึกษา : 2567
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาผลการใช้บอร์ดเกม Treasure Hunt : The Science of Materials ผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องวัสดุในชีวิตประจำวัน 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องวัสดุในชีวิตประจำวัน ระหว่างนักเรียนที่เรียนโดยใช้บอร์ดเกมผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model และนักเรียนที่เรียนโดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model แบบปกติ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนต่อการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องวัสดุในชีวิตประจำวัน หลังการเรียนด้วยบอร์ดเกมผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ใช้การเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยเลือกนักเรียนกลุ่มทดลอง ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/3 โรงเรียนเทศบาล 7 ฝั่งหมิ่น เทศบาลนครเชียงราย จำนวน 33 คน ได้รับการจัดการเรียนรู้โดยใช้บอร์ดเกมผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model และกลุ่มควบคุม ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 โรงเรียนเทศบาล 7 ฝั่งหมิ่น เทศบาลนครเชียงราย จำนวน 33 คน โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model แบบปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ บอร์ดเกม “Treasure Hunt: The Science of Materials” รายวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องวัสดุในชีวิตประจำวัน ผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แบบทดสอบวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องวัสดุในชีวิตประจำวัน จำนวน 20 ข้อ และแบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อการจัดการเรียนรู้หลังการเรียนด้วยบอร์ดเกมผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating scale) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละ ค่าประสิทธิภาพ และและวิเคราะห์ความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยโดยใช้ T-Test (Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. บอร์ดเกม “Treasure Hunt: The Science of Materials” ผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model เรื่องวัสดุในชีวิตประจำวัน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีความเหมาะสมกับ การใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ในหัวข้อ วัสดุในชีวิตประจำวัน โดยมีลักษณะเป็น เกมผจญภัยล่าสมบัติ (Adventure-based Board Game) ซึ่งช่วยส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เกมสามารถเล่นเป็นกลุ่ม 5-6 คน ช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานเป็นทีมและ การสื่อสาร เกมมีองค์ประกอบที่สนับสนุนการเรียนรู้ เช่น การ์ดคำถาม การ์ดพิเศษ และวัสดุที่ใช้เป็นรางวัล (Material Token) ซึ่งเป็นวัสดุจริง ทำให้นักเรียนสามารถเข้าใจและจดจำคุณสมบัติของวัสดุได้ง่ายขึ้น
2. ผลการเปรียบเทียบสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องวัสดุในชีวิตประจำวัน ของนักเรียนที่เรียนด้วยบอร์ดเกมผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น (กลุ่มทดลอง) สูงกว่านักเรียนที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model ปกติ (กลุ่มควบคุม) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. ความพึงพอใจของนักเรียนต่อการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องวัสดุในชีวิตประจำวัน หลังการเรียนด้วยบอร์ดเกมผ่านรูปแบบการจัดการเรียนรู้ INNO-PBL Model อยู่ในระดับพึงพอใจมากที่สุด