บทคัดย่อ
แนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการอ่านบนรากฐานประวัติศาสตร์ชุมชน
ไมตรี นาคประสิทธิ์ และคณะ (2568) .โรงเรียนบ้านเมืองเก่า “ศรีอินทราทิตย์”
การดำเนินงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการอ่านบนรากฐานประวัติศาสตร์ชุมชน โรงเรียนบ้านเมืองเก่า “ศรีอินทราทิตย์” อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ปีการศึกษา 2567 โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชน พัฒนาทักษะการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างจิตสำนึกรักชุมชน ความภาคภูมิใจในท้องถิ่น การวิจัยใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนาผ่านขั้นตอนหลัก ได้แก่ (1) การวิเคราะห์และวางแผนเบื้องต้น (2) การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของนักเรียน (3) การวางแผนพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมการอ่าน (4) การพัฒนาทักษะครูผู้สอน (5) การดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน (6) การติดตามและประเมินผล และ (7) การปรับปรุงและพัฒนาต่อเนื่อง
กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้บริหาร 2 คน ครูผู้สอน 40 คน นักเรียนระดับชั้น ป.1 - ม.3 จำนวน 131 คน และผู้ปกครอง 90 คน รวม 363 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบทดสอบ แบบประเมินความเป็นประโยชน์ และแบบประเมินความพึงพอใจ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าคะแนนเฉลี่ยและร้อยละ
ผลการดำเนินงานพบว่า
1. ด้านผลผลิต นักเรียนทุกระดับชั้นสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพในระดับ “ดี” ขึ้นไป ร้อยละ 100 โดยมีนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในระดับ “ดีเยี่ยม” โดยเฉพาะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีนักเรียนในระดับดีเยี่ยมเกินร้อยละ 90 สะท้อนถึงประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้อย่างต่อเนื่อง
2. ด้านผลลัพธ์
ความเป็นประโยชน์ของแนวทางการจัดการเรียนรู้ ทุกกลุ่มผู้ประเมินมีความคิดเห็นในทิศทางบวก ค่าเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด โดยด้านการปรับปรุงและพัฒนาต่อเนื่องได้รับคะแนนสูงสุดจากผู้บริหาร (ค่าเฉลี่ย 5.00)
ความพึงพอใจต่อแนวทางการจัดการเรียนรู้ ผลการประเมินพบว่าผู้บริหารและผู้ปกครองมีความพึงพอใจสูงในทุกด้าน (ค่าเฉลี่ย 4.60–4.90) ขณะที่ครูผู้สอนและนักเรียนมีความพึงพอใจในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.28–4.54) ด้านที่มีคะแนนสูงสุดคือความสามารถในการถ่ายทอดเนื้อหาและความชัดเจนของเนื้อหาและแผนงาน
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ได้แก่ การสนับสนุนจากผู้บริหาร ความร่วมมือของครูผู้สอน ผู้ปกครองและชุมชน การใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น การพัฒนาทักษะครูผู้สอนและการออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน
ข้อเสนอแนะ ควรมีการพัฒนากิจกรรมให้มีความหลากหลาย ตรงกับความสนใจของนักเรียน ส่งเสริมการใช้สื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของการจัดการเรียนรู้
คำสำคัญ: การจัดการเรียนรู้, การส่งเสริมการอ่าน, ประวัติศาสตร์ชุมชน, การพัฒนาผู้เรียน, ความภาคภูมิใจท้องถิ่น