รายงานผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
ระดับมัธยมศึกษา
ชื่อผลงาน การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องฟังก์ชันกำลังสอง โดยใช้การจัด
กิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
ผู้เสนอผลงาน นางศราวดี ลูกอินทร์
ตําแหน่ง ครู
หน่วยงาน โรงเรียนสิงห์บุรี
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสิงห์บุรี อ่างทอง
๑. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ปัจจุบันผลจากการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ สังคม และสถานการณ์สังคม ส่งผลให้ทุกประเทศทั่วโลกกําหนดทิศทางการผลิตและพัฒนากําลังคนของประเทศให้มีทักษะและ สมรรถนะ ระดับสูง การจัดการศึกษาในปัจจุบันจึงต้องมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนมี ทักษะในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วยทักษะที่เรียกตามคําย่อ ๆ ว่า 3Rs + BCs ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้ 3Rs ได้แก่ อ่านออก เขียนได้ และคิดเลขเป็น ส่วน BCs ได้แก่ ทักษะด้านการคิดอย่างมี วิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม ทักษะด้านความ เข้าใจต่างวัฒนธรรม ทักษะด้านความร่วมมือทักษะด้านการสื่อสารทักษะด้านคอมพิวเตอร์เทคโนโลยี สารสนเทศ ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ ซึ่งการศึกษาที่ดีสําหรับคนยุคใหม่นั้น ไม่เหมือน การศึกษาเมื่อสิบหรือยี่สิบปีที่แล้ว การศึกษาที่มีคุณภาพจะต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ไป ตามความถนัดของนักเรียน และบทบาทของครูก็ต้องเปลี่ยน กล่าวคือครูต้องเปลี่ยนบทบาทของ ตนเองจาก “ครูสอน" ไปเป็น “ครูฝึก” และต้องเรียนรู้ทักษะในการทําหน้าที่โดยรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง (ปริยาภรณ์ ตั้งคุณานันต์, 2551, น. 77-78)
ในการสอนที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำในเรื่องความสัมพันธ์และฟังก์ชัน และเรื่องที่จะต้องนำไปต่อยอดที่เจอบ่อยๆ คือเรื่องฟังก์ชันกำลังสอง จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นที่นักเรียนจะต้องได้รับการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ ซึ่งพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถแก้ปัญหาโจทย์ได้ อ่านโจทย์แล้วไม่เข้าใจ แสดงว่านักเรียนยังขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์และการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ได้ ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ตกต่ำ ดังนั้นครูควรหาวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม ในการพัฒนาการคิดวิเคราะห์และทักษะการสื่อสารทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ให้สูงขึ้น วิธีการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับการสอนคณิตศาสตร์อีกวิธีหนึ่งคือ การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค TAI การจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นรายบุคคลหรือเทคนิค TAI เป็นวิธี สอนที่ผสมผสานระหว่างการเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) กับการเรียนเป็นรายบุคคล (Individualization Instruction) เข้าด้วยกันเป็นวิธีการเรียนการสอนที่สนองความแตกต่างระหว่างบุคคลโดยให้ผู้เรียนลงมือกระทํากิจกรรมการเรียนด้วยตนเองตามความสามารถจากแบบฝึกทักษะและส่งเสริมความร่วมมือภายในกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้และการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม กําหนดให้นักเรียนที่มีความสามารถต่างกันมาทํางานร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยปกติจะมี 4 คน นักเรียนเก่ง 1 คน นักเรียนปานกลาง 2 คน และนักเรียนอ่อน 1 คน ผลการทดสอบของนักเรียนถูก แบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ เป็นคะแนนเฉลี่ยทั้งกลุ่มและเป็นคะแนนรายบุคคล ในการทดสอบนักเรียนต่างคนต่างทํา แต่เวลาเรียนต้องร่วมมือกัน (Slavin, 1990, pp. 22-24) และศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย (2558, น. 142) กล่าวว่า TAI (Team Assisted Individualization) คือ วิธีการสอนที่ผสมผสาน ระหว่างการเรียนแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) และการสอนรายบุคคล (Individualization) เข้าด้วยกัน โดยให้ผู้เรียนได้ลงมือทํากิจกรรมในการเรียนได้ด้วยตนเองตามความสามารถของตนและ ส่งเสริมความร่วมมือภายในกลุ่ม มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI มีข้อดีหลายประการ การเรียนแบบ TAI ช่วย
ให้เกิดแรงจูงใจและกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถของตนเอง ช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความช่วยเหลือ สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาเด็กอ่อนในห้องเรียนได้ สนองความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคลได้เป็นอย่างดี เด็กที่เรียนช้ามีเวลาศึกษาและฝึกฝนเรื่องที่ไม่เข้าใจมากขึ้น และเด็กที่เรียนเร็วใช้เวลาศึกษาน้อยและมีเวลาไปทำอย่างอื่น เช่น ช่วยเหลือเพื่อนที่อ่อนในกลุ่ม ช่วยให้เกิดการยอมรับในกลุ่ม โดยเด็กเก่งยอมรับเด็กอ่อนและเด็กอ่อนเห็นคุณค่าของเด็กเก่ง ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้สอนในการสอนข้อเท็จจริงต่าง ๆทำให้ผู้สอนมีเวลาสร้างสรรค์งานสอน ปรับปรุงงานสอนมากขึ้น และมีเวลาที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมเร้าความสนใจ หรืออภิปรายปัญหากับนักเรียนเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มย่อย ปลูกฝังนิสัยที่ดีในการอยู่ร่วมกันในสังคม มีการเสริมแรงให้เกิดขึ้นทั้งรายกลุ่มและรายบุคคล ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจ และความสนใจแก่ผู้เรียน ช่วยให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของตนเองมากขึ้นและทราบความก้าวหน้าของตนเองตลอดเวลา (นงลักษณ์ ระงับภัย. 2539 : 39-40)
ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้วิจัยจึงนําแนวทางการจัดกิจกรรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ
เทคนิคTAI มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่องฟังก์ชันกำลังสอง
๒. วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI เรื่องฟังก์ชันกำลังสอง
2. เพื่อศึกษาความพึงพอใจในการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ต่อการ จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI
เป้าหมาย
เป้าหมายเชิงปริมาณ : นักเรียนที่เรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ของโรงเรียนสิงห์บุรี จำนวน 1ห้อง ร้อยละ 75 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด (ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม)
เป้าหมายเชิงคุณภาพ : นักเรียนที่เรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก
๓. ขั้นตอนการดำเนินงาน
. 3.1. วางแผนงาน ขั้นตอนการดำเนินงาน (PLAN)
1. วิเคราะห์ปัญหา
2. วิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุงพุทธศักราช 2560) และหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนสิงห์บุรี ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2563 ในเรื่องของ มาตรฐานการเรียน และตัวชี้วัด ของเนื้อหา เรื่อง ฟังก์ชันกำลังสอง
3. ศึกษาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่มเทคนิค TAI , วิธีการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความพึงพอใจ
4. ดำเนินการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการกลุ่มเทคนิค TAI
5. ดำเนินการจัดทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง
ฟังก์ชันกำลังสอง
6. ดำเนินการจัดทำแบบสอบถามความพึงพอใจเกี่ยวกับการจัด การเรียนรู้โดยใช้
การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิคTAI
7. นำโครงร่างแผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ และ แบบสอบถามความพึงพอใจ ไปให้ครูผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิชาคณิตศาสตร์ตรวจสอบความถูกต้องและความเหมาะสม พร้อมทั้งเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไข
3.2 การดำเนินงานตามกิจกรรม (DO)
ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามที่วางแผนไว้ดังนี้
1. ปฐมนิเทศนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ชี้แจงข้อตกลงเบื้องต้นในการเรียนการสอน
2 ดําเนินการทดสอบก่อนเรียน (Pre-test) กับกลุ่มตัวอย่างก่อนการจัดกิจกรรม
การเรียนรู้ โดยใช้การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
3. ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้
การจัด กิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI เรื่อง ฟังก์ชันกำลังสอง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ตามสาระการเรียนรู้แต่ละเรื่องของการเรียนการสอนตามตารางสอนปกติ
4. เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ผู้วิจัยได้ดําเนินการทดสอบหลังเรียน (Post-test) กับ
นักเรียนกลุ่มตัวอย่างด้วยแบบทดสอบชุดเดิม
3.3 การประเมินผลการดำเนินงาน (CHECK)
1. วัดและประเมินผล
- เมื่อสิ้นสุดการทดลอง ผู้วิจัยได้ดําเนินการทดสอบหลังเรียน (Post-test) โดยใช้
แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องฟังก์ชันกำลังสอง จำนวน 20 ข้อกับนักเรียนกลุ่ม
ตัวอย่างด้วยแบบทดสอบชุดเดิม
- นำคะแนนของนักเรียนทั้งหมดมาหาค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
- เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน
2. แบบสอบถามความพึงพอใจจำนวน 10 ข้อ
- ให้นักเรียนทำแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้
การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI เรื่อง ฟังก์ชันกำลังสอง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
วิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI เรื่องฟังก์ชันกำลังสอง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้วิธีหาค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) โดยมีเกณฑ์ในการแปลความหมายของค่าคะแนนเฉลี่ย (สมบูรณ์ สุริยวงศ์, สมจิตรา เรืองศรี, และเพ็ญศรี เศรษฐวงศ์, 2544, หน้า 76) ดังนี้
ค่าเฉลี่ย 4.51 – 5.00 มีความพึงพอใจมากที่สุด
ค่าเฉลี่ย 3.51 – 4.50 มีความพึงพอใจมาก
ค่าเฉลี่ย 2.51 – 3.50 มีความพึงพอใจปานกลาง
ค่าเฉลี่ย 1.51 – 2.50 มีความพึงพอใจน้อย
ค่าเฉลี่ย 1.00 – 1.50 มีความพึงพอใจน้อยที่สุด
3.4 การปรับปรุงและพัฒนา
- หากมีนักเรียนไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ใช้วิธีสอนเสริมและกระบวนการกลุ่ม
เทคนิค TAI อีกครั้งแล้วดำเนินการทดสอบใหม่จนกระทั่งนักเรียนมีผลการวัดประเมินผลผ่านเกณฑ์
๔. ผลการดำเนินการ/ผลลัพธ์/ประโยชน์ที่ได้รับ
4.1 ผลการดำเนินการ
เชิงปริมาณ : นักเรียนที่เรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 ของโรงเรียนสิงห์บุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสิงห์บุรี อ่างทอง จำนวน 1ห้อง ร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด (ร้อยละ 70 ของคะแนนเต็ม)
เชิงคุณภาพ : นักเรียนที่เรียนโดยใช้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2567 มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
4.2 ผลลัพธ์ของผู้เรียน
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/4 เฉลี่ย 7.80 จากคะแนน 20 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 39.00 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(SD) เท่ากับ 1.95 ผลสัมฤทธิ์หลังเรียนเฉลี่ย 15.50 จากคะแนน 20 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 77.50 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(SD) เท่ากับ 2.43 จากการทดสอบทั้งสองครั้งผลปรากฎว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/4 มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 7.70 คิดเป็นร้อยละ 39.00 ซึ่งแสดงให้เห็นว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นหลังจากได้เรียนรู้กิจกรรมการเรียนรู้ แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI เป็นไปตามสมมติฐานที่วางไว้
4.3 ประโยชน์ที่ได้รับ
1 ผู้เรียนเกิดทักษะด้านการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองสร้างความภูมิใจให้กับผู้เรียน
นอกจากนี้หากผู้เรียนไม่เข้าใจตรงไหน สามารถขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในกลุ่มที่เก่งกว่าให้อธิบายให้จนกระทั่งเกิดการเรียนรู้ที่ก้าวหน้าขึ้น และยังเป็นการสร้างความสามัคคีกันภายในกลุ่ม
2. ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์
3. ครูผู้สอนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองด้วยการแสวงหาความรู้อย่างสม่ำเสมอ
ออกแบบเทคนิคและวิธีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบต่าง ๆ อีกทั้งยังสามารถสร้างสื่อและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอีกด้วย นอกจากนี้ยังเกิดประโยชน์กับเพื่อนครูคือช่วยแนะนำวิธีการสอนด้วยเทคนิคนี้ให้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาในระดับชั้นอื่นๆ
4. ระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของโรงเรียนสูงขึ้น
5. โรงเรียนได้รับศรัทธาความเชื่อมั่นจากผู้ปกครอง และชุมชนในการจัดการเรียน
การสอน
6. ชุมชนเกิดความเชื่อมั่น ศรัทธาในโรงเรียนจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาโรงเรียนให้ดีขึ้นไป
5. ปัจจัยความสำเร็จ
1. คณะผู้บริหารโรงเรียนสิงห์บุรี ให้การส่งเสริม สนับสนุน และให้กำลังใจกับครูและนักเรียนในการดำเนินการเป็นอย่างดี
2. ครูผู้สอนมีความพร้อมเตรียมการอย่างมีขั้นตอนตามแผนที่กำหนดไว้ มีกัลยามิตรที่ดีต่อผู้เรียนทำให้ผู้เรียนให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมเป็นอย่างดี
๓. การเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค TAI เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสําคัญและผสมผสานระหว่างการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือและแบบรายบุคคลเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนตามความสามารถและความถนัดของตนเอง สำหรับผู้เรียนที่มีผลการเรียนอ่อน หรือเกิดการเรียนรู้ชา สามารถศึกษาด้วยตนเองได้ เมื่อไม่เข้าใจก็ให้ผู้เรียนที่เก่งกว่าช่วยอธิบายจนเกิดการเรียนและทำด้วยตนเองได้ สำหรับผู้เรียนที่เก่งเมื่อทำกิจกรรมเสร็จแล้วก็มีเวลาว่างพอที่จะช่วยอธิบายให้เพื่อนฟัง เกิดความสามัคคีในกลุ่ม
4. สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/4 เป็นนักเรียนที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน และตั้งใจในการทำกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นอย่างดี
6. บทเรียนที่ได้รับ
1. ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะ ด้านการคิด แก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ มีความกระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้
2. เป็นการกระตุ้นผู้เรียนได้แสดงความสามารถของตนก่อน เด็กที่มีผลการเรียนอ่อนได้ฝึกฝนในเรื่องที่ไม่เข้าใจและหากไม่ผ่านจะมีเพื่อนคอยช่วยเหลือจนกระทั้งผ่านเกณฑ์ได้
3. ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการช่วยเหลือกันในกลุ่ม
๗. การเผยแพร่
1. นําเสนอกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ ให้แก่คณะครูโรงเรียนสิงห์บุรีไปปรับใช้ด้านการจัด การเรียนการสอน โดยการใช้สื่อการสอนหรือนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพและมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยดึงดูดความสนใจของนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย
2. การเผยแพร่ ไปยังช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Facebook, Line เพื่อเป็นความรู้ให้แก่เพื่อนครูท่านอื่น ๆ
3. เผยแพร่ผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) แก่ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ในระดับชั้นอื่น ๆ
๘. บรรณานุกรม
นงลักษณ์ ระงับภัย. การศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้น
ประถมศึกษาปีที่ 3 เรื่องเศษส่วน ที่เรียนโดยวิธีสอนแบบกลุ่มร่วมมือกันเรียนรู้กับวิธีสอน
ตามปกติ. วิทยานิพนธ์ กศ.ม. มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2539
ปริยาภรณ์ ตั้งคุณานันต์. (2561), พื้นฐานการศึกษา, กรุงเทพฯ: มีนเซอร์วิส ซัพพลาย, ปรียา สถิระ
บุตร. (2558). การพัฒนาทักษะการแก้โจทย์ปัญหาเรื่อง การคูณ การหาร สําหรับนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ด้วยการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWDL ร่วมกับการวาดรูปบาร์
วารสารวิจัยและประเมินผลอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ศิริวรรณ วณิชวัฒนวรชัย. (2558). วิธีสอนทั่วไป. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยลัยศิลปากร วิทยาเขต
พระราชวังสนามจันทร์
สมบูรณ์ สุริยวงศ์, สมจิตรา เรืองศรี และเพ็ญศรี เศรษฐวงศ์. (2544). ระเบียบวิธีวิจัยทางการศึกษา
กกกกกกก(พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ.
Slavin, Robert E. (1990). Cooperative Leaming: Theory, Research and Practice. New
Jersey.Prentice-Hall.