ชื่อผลงาน การพัฒนาทักษะการสื่อสารและสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกแบบกิจกรรมเป็นฐานร่วมกับการใช้โปรแกรม Geogebra เรื่อง กราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติ ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ชื่อผู้นำเสนอผลงาน นางสาวลลิตา ธนวิบูลย์เกียรติ
โรงเรียน/หน่วยงาน โรงเรียนสิงห์บุรี
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสิงห์บุรี อ่างทอง
1. ความเป็นมาและความสำคัญ
คณิตศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากคณิตศาสตร์
ช่วยให้มนุษย์มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผล เป็นระบบ มีแบบแผน สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้
อย่างรอบคอบและถี่ถ้วน ช่วยให้คาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจ แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และสามารถ
นำไปใช้ได้ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้คณิตศาสตร์ยังเป็นเครื่องมือในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
เทคโนโลยีและศาสตร์อื่น ๆ อันเป็นรากฐานในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติให้มีคุณภาพและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติ การศึกษาคณิตศาสตร์จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมและความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัฒน์ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2560)
จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาโดยดำเนินการผ่านกระบวนการ PLC ร่วมกับครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ มีการสังเกตและสัมภาษณ์นักเรียนเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ รหัสวิชา
ค32104 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ฟังก์ชันตรีโกณมิติ เรื่อง กราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติ
ในปีการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนขาดความสนใจในการเรียน เนื่องจากมีความคิดเห็นว่าเนื้อหามีความยาก และนักเรียนไม่เห็นประโยชน์ของการนำเนื้อหาดังกล่าวไปใช้ในชีวิตประจำวัน เรียนเนื้อหาโดยการท่องจำ ขาดความเข้าใจ ทำให้นักเรียนไม่สามารถสื่อสารและสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์โดยการวาดกราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติได้ และยังส่งผลให้นักเรียนมีเจตคติที่ไม่ดีต่อการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในการเรียนในระดับชั้นอื่น ๆ ต่อไป
ผู้จัดทำจึงเห็นว่า ครูจึงควรจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตจริง ควรให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรม เพื่อช่วยในการพัฒนาทักษะการสื่อสารและสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ ซึ่งหนึ่งในการจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ คือ การจัดการเรียนรู้แบบกิจกรรมเป็นฐาน เป็นหนึ่งในรูปแบบการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) คือ การจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เน้นให้ผู้เรียนท่องจำ แต่ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริงและมีบทบาทในการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง โดยเน้นให้ผู้เรียนรู้จักคิดวิเคราะห์และเรียนรู้จากกิจกรรมที่ได้ทำจริง (Learning by doing) โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ โดยผู้สอนจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง (สุทัศ เอกา, 2557)
ดังนั้น การพัฒนาทักษะการสื่อสารและสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ นอกจากจะใช้การจัดการเรียนรู้แบบกิจกรรมเป็นฐานแล้ว การนำสื่อโปรแกรม Geogebra ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีลักษณะเป็นสื่อปฏิสัมพันธ์ สามารถช่วยให้นักเรียนมองภาพ สร้างกราฟ รูปเรขาคณิตได้ทั้งสองมิติและสามมิติ วัดขนาด สัดส่วนของส่วนของเส้นตรง ส่วนโค้ง มุมและพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง (อุบล กลองกระโทก, 2554) จากคุณลักษณะดังกล่าว ผู้จัดทำเชื่อว่า โปรแกรม Geogebra จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการสังเกตการเคลื่อนไหวของลักษณะกราฟในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการสื่อสารและสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ ส่งผลให้สามารถวาดกราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติได้ นอกจากนี้ แฟรงก์และมาริอ็อตตี้ (Frank & Mariotti, 2010) กล่าวว่า มีหลายงานวิจัยระบุว่าโปรแกรม Geogebra ช่วยให้นักเรียนค้นพบข้อความคาดการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้นและช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเกิดกระบวนการคิดเพื่อนำไปสู่การอ้างเหตุผลในการพิสูจน์ทางเรขาคณิต
ผู้จัดทำจึงเห็นความสำคัญและมีความสนใจที่จะพัฒนาทักษะการสื่อสารและสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกแบบกิจกรรมเป็นฐานร่วมกับการใช้โปรแกรม Geogebra เรื่อง กราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะการสื่อสารและสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ ส่งผลให้นักเรียนสามารถวาดกราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้นและมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในเรื่องกราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติที่สูงขึ้นได้
2. วัตถุประสงค์
2.1 วัตถุประสงค์
1) เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารและสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกแบบกิจกรรมเป็นฐานร่วมกับการใช้โปรแกรม Geogebra เรื่อง กราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติ ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกแบบกิจกรรมเป็นฐานร่วมกับการใช้โปรแกรม Geogebra เรื่อง กราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
2.2 เป้าหมายของการดำเนินงาน
2.2.1 เป้าหมายเชิงปริมาณ
1) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร้อยละ 70 ขึ้นไป ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกแบบกิจกรรมเป็นฐานร่วมกับการใช้โปรแกรม Geogebra เรื่อง กราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติมีทักษะการสื่อสารและสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ สามารถวาดกราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนคณิตศาสตร์ด้วยการ
จัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกแบบกิจกรรมเป็นฐานร่วมกับการใช้โปรแกรม Geogebra เรื่อง กราฟของฟังก์ชันตรีโกณมิติ สูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70 ขึ้นไป
2.2.2 เป้าหมายเชิงคุณภาพ
1) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีเจตคติที่ดีและเห็นคุณค่าของการนำวิชาคณิตศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ชีวิตประจำวันได้ อยู่ในระดับมากขึ้นไป
3. กระบวนการพัฒนาผลงานนวัตกรรมการเรียนรู้
3.1 การวางแผนการดำเนินงาน
ผู้จัดทำใช้กระบวนการการออกแบบผลงานโดยใช้แนวคิดและกระบวนการออกแบบนวัตกรรมการศึกษา PDCA