ชื่อผู้วิจัย นางสาวไข่มุก มณีศรี
ชื่อหน่วยงาน สำนักการศึกษา เมืองพัทยา
ปีที่วิจัย 2566
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการนิเทศตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา 2) พัฒนารูปแบบการนิเทศตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการนิเทศตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา 4) ประเมินผลรูปแบบการนิเทศตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหาร และครู ของโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา ปีการศึกษา 2566 จำนวน 206 คน โดยใช้วิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือทดลอง คือ คู่มือการนิเทศตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ เครื่องมือวิจัย คือ 1) แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการนิเทศตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ 2) แบบประเมินความสามารถในการนิเทศตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ 3) แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบและเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก 4) แบบประเมินความสามารถในการออกแบบและเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก และ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการใช้รูปแบบการนิเทศตามแนวคิดพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติทดสอบ T - Test ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา
สรุปผลการวิจัย
ผลการใช้รูปแบบการนิเทศตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา สรุปได้ดังนี้
1. ครูมีระดับการปฏิบัติ และระดับความต้องการในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยา โดยรวมมีระดับการปฏิบัติปัจจุบันอยู่ในระดับปานกลาง และมีความต้องการพัฒนาอยู่ในระดับมากที่สุด
2. รูปแบบการนิเทศตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา มี 6 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) ระบบและกลไก 4) แผนการดำเนินงาน 5) การวัดและประเมินผล และ 6) เงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ การตรวจสอบรูปแบบของผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า มีความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการใช้รูปแบบการนิเทศตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูในโรงเรียนสังกัดเมืองพัทยา พบว่า ผู้ทำหน้าที่นิเทศมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิเทศ ก่อนและหลังการใช้รูปแบบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และมีความสามารถในการนิเทศอยู่ในระดับดี ครูผู้สอนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับออกแบบและเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ก่อนและหลังการใช้รูปแบบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 และมีความสามารถในการออกแบบและเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เชิงรุกอยู่ในระดับดี
4. หลังการใช้รูปแบบการนิเทศตามแนวคิดพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ พบว่า ครูมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการนิเทศ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
จากการสะท้อนคิดของครูผู้ทำหน้าที่สอนต่อรูปแบบการนิเทศตามแนวคิดการพัฒนาบทเรียนร่วมกันผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ พบว่า ครูมีความเข้าใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์วิเคราะห์หลักสูตร การวางแผนจัดการเรียนรู้ จากสะท้อนคิดจากการสืบสอบแบบชื่นชมเชียร์ และมีความพึงพอใจต่อการให้คำชี้แนะ และการสอนงานแบบพี่เลี้ยง ของชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ