ชื่อผลงาน : การนิเทศภายในแบบมีส่วนร่วม ร่วมกับการใช้กระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทาง
วิชาชีพ(Professional Learning Community : PLC) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโรงเรียนบ้านนาทม
ผู้นำเสนอผลงาน : นายไกรศรี พลเยี่ยม
ตำแหน่ง : ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาทม
สถานศึกษา : โรงเรียนบ้านนาทม
สังกัด : สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด เขต 3
1. ความเป็นมาและความสำคัญ
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) และหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 นั้น จะต้องมีกระบวนการสู่ความสำเร็จ มีองค์ประกอบและปัจจัยคือ คุณภาพของผู้เรียน โดยโรงเรียนต้องประกันคุณภาพต่อผู้ปกครองว่า ผู้เรียนจะต้องมี คุณภาพและมาตรฐานตามหลักสูตร มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นการพัฒนา คุณภาพผู้เรียนจะต้องมี กระบวนการสู่ความสำเร็จในการพัฒนา 3 กระบวนการ คือ 1) กระบวนการบริหาร 2) กระบวนการเรียนการสอน และ 3) กระบวนการนิเทศการศึกษา ซึ่งการนิเทศการศึกษาถือเป็นภารกิจ จำเป็นต่อการจัดการศึกษาที่ต้องอาศัยความร่วมมือ จากบุคคลหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนิเทศภายใน คือ กระบวนการที่อาศัยความร่วมมือของบุคลากรในโรงเรียน ภายใต้การนำของผู้บริหารโรงเรียนที่จะพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน และก่อให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ตามเป้าหมาย คือ คุณภาพของผู้เรียนที่ประกอบความรู้คู่คุณธรรม มีความก้าวหน้า ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงและนโยบายเรียนดี มีความสุข ของกระทรวงศึกษาธิการ กระบวนการนิเทศภายในจึงมีบทบาทในการพัฒนาประสิทธิภาพของผู้เรียน ซึ่งพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 หมวด 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรา 47 บัญญัติไว้ว่า ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน การศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายใน และ ระบบการประกันคุณภาพภายนอก ระบบ หลักเกณฑ์และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา ให้เป็นไปตามที่ กำหนดใน กฎกระทรวง มาตรา 48 บัญญัติไว้ว่า ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการ ประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเพื่อรองรับ การประกันคุณภาพภายนอก
การขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติให้เกิดผลทาง การปฏิบัตินั้น หน่วยงานทางการศึกษามีแนวทางในการปฏิบัติมากมาย ซึ่งหนึ่งในกิจกรรม การดำเนินการที่สำคัญ คือ การนิเทศการศึกษา โดยในปัจจุบันนี้มีการใช้กระบวนการนิเทศการศึกษา ในการติดตาม ส่งเสริม ช่วยเหลือและพัฒนาการจัดการศึกษา เพื่อการปฏิบัติงานที่ได้คุณภาพ การนิเทศการสอนมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่ง
เพราะในบางครั้งแม้ว่า ครูผู้สอน จะได้ใช้ความรู้ความสามารถในกิจกรรมที่ได้วางแผนไว้แล้วก็ตาม อาจจะมีบางอย่างขาดตกบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ หากมีบุคคลอื่นคอยชี้แนะ แนะนำ ช่วยเหลือ จะทำให้การสอนเกิดผลดีกว่าการสอนเพียง คนเดียว (วัชรา เล่าเรียนดี, 2553ก, น. 2) การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีจุดมุ่งหมาย เพื่อช่วยเหลือและพัฒนางาน ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และยังช่วยพัฒนา สนับสนุน ส่งเสริมการท างานซึ่งกันและกัน การนิเทศการศึกษาจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยสนับสนุน กระบวนการบริหาร และกระบวนการเรียนการสอนทีมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา ประกอบด้วย การให้ความช่วยเหลือครูผู้สอน โดยให้มีการปรับปรุงแนวการสอน รูปแบบการสอนของครูอย่างสม่ำเสมอ มีการวางแผนการแก้ปัญหา กำหนดเป้าหมายของกลุ่มรวมกัน มีการปรับกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของผู้เรียน (ปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์, 2553, น. 226) จึงกล่าวได้ว่าการนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการที่สำคัญใน การแนะนำช่วยเหลือครูให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนิเทศการศึกษา มิใช่เน้นการปรับปรุงตัวครู หากแต่ให้ความสำคัญไปถึงนโยบายการศึกษา จุดประสงค์ของการให้ การศึกษา การพิจารณาความเหมาะสมของหลักสูตรที่ใช้ วัสดุอุปกรณ์การสอนและวิธีสอนของครู สิ่งแวดล้อมของครูและผู้เรียนในขณะที่เรียน เป็นต้น (กิตติศักดิ์ อังคะนาวิน และอภิสรรค์ ภาชนะวรรณ์, 2561, น. 193)
หลักการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และแนวทางการ จัดการศึกษา เน้นไปที่ ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ดังนั้น ครู และบุคลากร ทางการศึกษาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและคุณภาพด้านผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียนของผู้เรียน ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ครูจึงจำเป็นต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ การพัฒนาคุณภาพครู และบุคลากรทางการศึกษาได้จัดแนวทางใน การพัฒนาวิชาชีพของครูในสถานศึกษาด้วยการส่งเสริมให้มี ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) เพื่อให้ครูเกิดการสร้างสังคมการเรียนรู้ในการพัฒนา และช่วยเหลือผู้เรียนในสถานศึกษาและระหว่างสถานศึกษา รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างสังคมครูที่เข้มแข็ง ในการพัฒนาตนเองและนักเรียนให้เต็มศักยภาพ (สำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา, 2560, น. 118) จะเห็นได้ว่าการพัฒนาครูเป็นประเด็นสำคัญ และมีความพยายาม ในการหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาครู จากการติดตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ในระดับโลกทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่าแนวคิดเชิงระบบ หรือกระบวนการพัฒนาครูที่มีลักษณะ การสร้างและนำชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพไปใช้จะสะท้อนลักษณะเด่น หรือคุณลักษณะ ตามปรากฏการณ์จริงของชุมชนนั้นๆ ซึ่งมีบริบทแตกต่างกันไป แต่ยังคงไว้ ซึ่งกระบวนการที่เอื้อให้ เกิดการร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมคิดของผู้บริหาร ครู เพื่อให้การทำงานมุ่งเป้าหมายไปที่การเปลี่ยนแปลง การจัดการเรียนรู้ของครูสู่คุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ (เฉลิมชัย พันธ์เลิศ, 2558, น. 6)