ชื่อนวัตกรรม การบริหารจัดการเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนเขาดินประชานุกูลอย่างยั่งยืน โดยใช้ KDPS Model
ชื่อเจ้าของนวัตกรรม นายเทวัน เงาะเศษ
คุณภาพของคนในชาติเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงคุณภาพของการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคนในชาติซึ่งเป็นกระบวนการที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีความรู้ทักษะ คุณธรรมและจริยธรรมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์สามารถดำรงชีวิตในสังคมไทยและสังคมโลกได้อย่างมีความสุข และจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปได้(สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๖๐ :๗๖-๗๘)
สภาพโรงเรียนเขาดินประชานุกูลจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่าโรงเรียนเขาดินประชานุกูลเผชิญปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขหลายด้าน อาทิ ด้านการจัดการเรียนการสอนที่ขาดแคลนทรัพยากรและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตที่เพียงพอครอบคลุมพื้นที่ และห้องเรียนมาตรฐาน รวมถึงการขาดแคลนครูในบางรายวิชา ทำให้การศึกษาขาดความทั่วถึงและไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ปัญหาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบระบายอากาศ เช่น พัดลมที่ไม่เพียงพอในห้องเรียน อีกทั้งอาคารเรียนที่มีอายุการใช้งานนานและไม่ได้รับการบำรุงรักษาเพิ่มความเสี่ยงด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ นักเรียนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่มักมีฐานะยากจน ครอบครัวหย่าร้าง โดยส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนอย่างยั่งยืน
๑.๒ แนวทางแก้ปัญหาและพัฒนา
จากสภาพปัญหาดังกล่าวมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา คุณภาพของผู้เรียนและคุณภาพของครูผู้สอน ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการสถานศึกษาต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยอาศัยการบริหารจัดการสถานศึกษาด้วยรูปแบบ KDPS model เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนเขาดินประชานุกูลอย่างยั่งยืน จากสภาพปัญหาที่ได้กล่าวข้างต้นข้าพเจ้าจึงมีแนวทางในการแก้ปัญหาโดยมุ่งเป้าไปที่ ครูผู้สอน และดูผลลัพธ์ที่ คุณภาพของผู้เรียน ภายใต้สโลแกน “ตีที่ครู ดูที่เด็ก” โดยุ่งเน้นส่งเสริม พัฒนาครูในทุกมิติเพื่อสร้างครูคุณภาพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครู มอบเวลาให้กับครูเพื่อได้เตรียมในการพัฒนาการเรียนการสอน และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงหลักสูตรใหม่เพื่อลดคาบสอนที่เกินความจำเป็น ผู้เรียนก็มีเวลาได้เรียนรู้นอกหลักสูตรมากขึ้น มีความสุขในการมาโรงเรียน เกิดการจินตนาการอย่างสร้างสรรค์โดยแบ่งการแก้ปัญหาดังนี้
ด้านครู ประกอบด้วย ๑. มอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับครูทุกคน โดยจัดสรรสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย รวมถึงอุปกรณ์การเรียนที่มีคุณภาพ เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และห้องเรียนที่มีมาตรฐาน และห้องสำนักงานให้กับครูโดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศและให้ครูทุกท่านนั่งทำงานร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกเพื่อให้ครูมีเวลาในการ PLC อย่างต่อเนื่องในทุกมิติและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ๒. สร้างขวัญ กำลังใจให้กับคณะครูในทุกมิติ ให้มีแรงกาย แรงใจในการทำงาน ไม่ย่อท้อต่องานที่หนักและอุทิศเวลาให้กับราชการเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน ๓. ได้มอบนโยบายกับคณะครู ที่มีชื่อว่า IPAD สำหรับครูเพื่อมุ่งเน้นในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญและเป็น Creative teachers ประกอบด้วย I Innovation ครูมีนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ P Professional teacher ครูมืออาชีพ A Active learning ครูจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก D (Discussion and Deep listening) ครูมีการสะท้อนคิดและรับฟังเชิงลึกร่วมกัน ๔. บูรณาการและปรับปรุงหลักสูตรเพื่อแก้ไขปัญหา ครูขาแคลนและไม่ตรงเอก เพื่อแก้ปัญหาดังนี้ ด้านนักเรียน ประกอบด้วย ๑. นำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมาใช้อย่างเป็นรูปประธรรม เพื่อพัฒนาผู้เรียนในทุกมิติทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้มีความพร้อมในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและตลอดชีวิต ๒. สร้างคุณลักณะที่ดีและพึงประสงค์ให้กับผู้เรียน โดยมอบ IPAD สำหรับนักเรียน เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนและเป็น Creative students ประกอบด้วย I Imagination ผู้เรียนมีจินตนาการที่สร้างสรรค์ P Potential ผู้เรียนมีศักยภาพในทุกด้าน A Analysis ผู้เรียนมีการคิดวิเคราะห์ที่สร้างสรรค์ และD Discipline ผู้เรียนมีวินัยทุกมิติ ๓. ผู้เรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมองเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่นและส่งต่อความสุขไปยังคครอบครัวและชุมชน
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย ๑. พัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนอาคารเรียน อาคารประกอบ ห้องน้ำให้มีความพร้อม มั่นคง สะอาด และปลอดภัย ส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนในทุกมิติ ๒. พัฒนาและปรับปรุงภูมิทัศน์ของโรงเรียนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเรียนและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
จากแนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนาทั้ง ๓ ด้าน เป็นการอาศัยการบริหารจัดการสถานศึกษาด้วยรูปแบบ KDPS model ภายใต้กระบวนการ PDCA ซึ่งประกอบด้วย K (Knowledge management) การจัดการความรู้ D (Distribution) การมอบหมายและการกระจายงาน P (Participation) การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และ S (Students Quality) คุณภาพของผู้เรียน
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อสร้างเครื่องมือในการบริหารจัดการศึกษาที่มีความเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน
๒. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนมัธยมขนาดเล็กอย่างยั่งยืน
ผลการดำเนินงานพบว่า
๑. เพื่อสร้างเครื่องมือในการบริหารจัดการศึกษาที่มีความเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน
๑.๑ พัฒนารูปแบบ KDPS Model กล่าวคือรูปแบบ KDPS Model ได้รับการออกแบบและปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทั้งด้านบุคลากร ผู้เรียน และทรัพยากร
๑.๒ สร้างกระบวนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยง KDPS Model กับวงจร PDCA ทำให้การบริหารจัดการในโรงเรียนมีความเป็นระบบ และสามารถตรวจสอบและปรับปรุงได้อย่างต่อเนื่อง
๑.๓ พัฒนาความร่วมมือในทุกภาคส่วน การมีส่วนร่วมของครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนช่วยสร้างความเข้าใจและการสนับสนุนที่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการโรงเรียน
๒. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนมัธยมขนาดเล็กอย่างยั่งยืน
๒.๑ คุณภาพผู้เรียนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
- ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ O-NET ของนักเรียนในหลายกลุ่มสาระสูงกว่าระดับประเทศ
- นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เช่น ความรับผิดชอบ ความมีวินัย และการคิดวิเคราะห์ในระดับดีเยี่ยมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๙๐
๒.๒ พัฒนาคุณภาพครูและบุคลากร
- ครูได้รับการพัฒนาทักษะในด้านการจัดการเรียนการสอน เช่น การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี
- ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และเกิดความร่วมมือผ่านการทำ PLC.
๒.๓ โครงสร้างพื้นฐานได้รับการปรับปรุง
- อาคารเรียน ห้องเรียน ห้องน้ำ และระบบสาธารณูปโภคได้รับการปรับปรุงจนมีความปลอดภัยและพร้อมใช้งาน
- สื่อการเรียนการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ททีวี และอินเทอร์เน็ต มีความพร้อมและตอบสนองต่อการเรียนการสอน