ในโลกปัจจุบันการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสื่อสาร การศึกษา การประกอบอาชีพ และการเข้าใจวัฒนธรรมวิสัยทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งยังจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้าใจถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความคิด ค่านิยมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครองของนานาประเทศ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551)
ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาสากลอีกภาษาหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน จากความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การเจริญเติบโตทางวิทยาการและเทคโนโลยี ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการติดต่อสื่อสาร ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสที่มีคุณภาพให้แก่นักเรียนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะส่งเสริมให้นักเรียนใช้องค์ความรู้ทักษะทางภาษานำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้นและประกอบวิชาชีพต่อไปในอนาคตได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม (อุบล ละมั่งทอง, 2553)
ปัจจุบันองค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส หรือ LOrganisation Internationale de la Francophonie (OIF) ระบุจำนวนตัวเลขผู้พูดภาษาฝรั่งเศสทั่วโลกว่ามีราวกว่า 274 ล้านคนและคาดว่าเมื่อสิ้นสิ้นสุดปี ค.ศ. 2060 จะมีผู้พูดภาษาฝรั่งเศสทั่วโลกสูงถึง 767 ล้านคน จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาษาฝรั่งเศสยังคงเป็นภาษาต่างประเทศที่โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทยกว่า 210 แห่ง ยังคงทำการเรียนการสอนอยู่ตามข้อมูลในปี พ.ศ. 2562 ที่สถาบัน Alliance Française แห่งประเทศไทยได้ให้ไว้
การเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในทวีปยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1991 ได้ยึดกรอบอ้างอิงการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเป็นมาตรฐาน (Cadre Européen Commun de Référence pour les langues) หรือ CECR ที่มุ่งเน้นให้การเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสต้องครอบคลุมทั้ง 4 ทักษะ คือ ฟัง พูด อ่าน และเขียน เริ่มตั้งแต่ A1 ถึง C2 ของ DELF ( Diplôme dEtudes en langue Française ) และ DALF ( Diplôme Approfondi de langue Française ) และการจัดการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในประเทศไทยเริ่มต้นในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายชั้น ม.4 , ม.5 และม.6 โดยในระยะ 1 ปีการศึกษานั้นนักเรียนควรได้เรียนราว 100 120 ชม. หากจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมแล้ว เมื่อจบชั้น ม.6 นักเรียนควรสอบผ่านเกณฑ์ DELF A2 ตามเกณฑ์ของ CECR ข้างต้น (ธิดา บุญธรรม, จงกล สุภเวชย์ , และเสาวนิตย์ ชัยมุสิก, 2550)
นอกเหนือไปจากการเรียนภาษาต่างประเทศเพื่อให้พูด ฟัง อ่าน และเขียนได้นั้น การเรียนไวยากรณ์ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพเข้าใจได้เมื่อต้องทำการสนทนา แต่จากสภาพการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในปัจจุบันพบว่าอุปสรรคด้านการสอนภาษาฝรั่งเศส คือ กฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ของภาษาฝรั่งเศสที่มีความซับซ้อน นอกจากนั้นก็มีข้อยกเว้นที่จะต้องระลึกถึงเสมอเมื่อนำไปใช้ ดังนั้นการเรียนการสอนไวยากรณ์ภาษาฝรั่งเศสสำหรับนักเรียนไทย จึงเหมือนเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับครูผู้สอนไม่น้อย
ธีรา ศุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา (2560) กล่าวว่าในปัจจุบันวิธีการสอนไวยากรณ์ภาษาฝรั่งเศสเพื่อการสื่อสารได้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ครูผู้สอนไม่จำเป็นต้องสอนไวยากรณ์ในลักษณะ Grammar translation เพียงอย่างเดียวแต่สามารถสอนแบบอุปมานซึ่งผู้เรียนจะสามารถค้นพบหลักไวยากรณ์ฝรั่งเศสด้วยตนเอง โดยศึกษาจากตัวอย่างที่ผู้สอนกำหนดให้เป็นต้น
เริ่มแรกผู้รายงานได้ศึกษากระบวนการเรียนรู้แบบ GI (Group Investigation) เป็นระยะหนึ่ง และพบว่ายังไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนที่ต้องเน้นการเปรียบเทียบองค์ความรู้ และการแสวงหาความรู้แบบกลุ่ม รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างผู้สอนและผู้เรียน ผู้รายงานจึงได้คิดค้น ศึกษา และทดลองการจัดการเรียนรู้แบบ PARIS model โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะภาษาฝรั่งเศสของนักเรียนให้ที่ดีขึ้นและช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาฝรั่งเศสตามตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551