1. เข้าเรียนตรงตามเวลาและสม่ำเสมอ
ตั้งใจฟังคำสอนจากครูอย่างมีสมาธิไม่ทำงานอื่น ซักถามข้อข้องใจเมื่อมีโอกาส และจงกล้าที่จะถามเสมอ บางครั้งข้อสงสัยของเราอาจเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมชั้นเรียนอีกด้วย
2. ควรหาเวลาทบทวนเนื้อหาบทเรียนอย่างสั้นๆ ก่อนเข้าห้องเรียน
ถ้าอ่านเนื้อหาที่จะเรียนมาล่วงหน้ายิ่งดี เมื่ออยู่ในห้องเรียนจะได้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
3. ขณะฟังครูสอน ควรมีกระดาษและเครื่องเขียนพร้อมที่จะจดและเขียนสิ่งที่อยากจะจำหรืออยากตรวจสอบดูภายหลัง หรือเป็นข้อสงสัยที่จะถามครูเมื่อมีโอกาส
4. ควรหมั่นทำโจทย์แบบฝึกทักษะที่ครูผู้สอนกำหนดให้โดยไม่เปิดตำราดู
จะเปิดก็ต่อเมื่อทำไม่ได้จริงๆ การใช้วิธีนี้อยู่เสมอๆ จะทำให้นักเรียนเข้าใจเรื่องนั้นๆ ทั้งหมด และช่วยให้มีทัศนคติที่ดีเมื่อเข้ารับการทดสอบในบทเรียนนั้นๆ
5. ควรทำโจทย์ข้อที่ง่ายก่อนแล้วจึงทำข้อที่ยากขึ้น
ถ้าพบข้อไหนที่ยุ่งยากนักก็พักไว้ก่อน แล้วกลับมาคิดใหม่ทีหลัง การเว้นช่วงเวลาก็เพื่อจะได้ไม่คิดซ้ำในข้อผิดพลาดอย่างก่อนๆ
6. ฝึกทำงานทำให้ถูกต้อง
ถ้าพบว่าตนเองชอบคิดเลขผิดบ่อยๆ ก็ต้องตรวจสอบทุกขั้นในขณะที่ทำ บางอาจจำเป็นต้องทำโจทย์มากกว่าคนอื่น การที่มองโจทย์ออกทราบแต่วิธีการเท่านั้นยังไม่เป็นการเพียงพอ ต้องทำให้ถูกต้องด้วย ในตอนแรกๆ จงอย่ารีบทำ และอย่าลุกลนจนเกินไป เมื่อทำได้อย่างถูกต้องแล้วจึงค่อยเร่งให้เร็วขึ้นอีก
7. ควรมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น สนทนา แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการกับเพื่อนๆ
การศึกษาจากตำราหรือฟังครูผู้สอนเท่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะแตกฉานในศาสตร์นี้ ถ้ามีโอกาสควรร่วมทำโจทย์กับเพื่อนๆ เพื่อจะได้แนวคิดใหม่ๆ ทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีในหมู่เพื่อนอีกด้วย
8. ต้องคิดเสมอว่าไม่ใช่หน้าที่ของครูผู้สอนที่จะนำความรู้ซึ่งอาจหาได้จากตำรามาป้อนให้ทั้งหมด
แต่ครูผู้สอนจะเป็นผู้อธิบายเรื่องราวในตำราให้แจ่มชัด และคอยชี้แนะเมื่อนักเรียนมีปัญหา ถ้าทำได้นักเรียนอาจช่วยอธิบายให้เพื่อนผู้ยังไม่รู้ ได้เข้าใจในเรื่องซึ่งนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจอย่างดีแล้ว เป็นการแสดงน้ำใจอีกทางหนึ่งด้วย
9. การสอนประจำบทเรียนหรือการสอบย่อย
เป็นวิธีช่วยให้นักเรียนมีโอกาสที่จะตรวจสอบความพร้อม การเตรียมตัวเพื่อการนี้ทำได้โดยการทบทวนแต่ละเรื่องด้วยการเขียนสรุปหัวข้อต่างๆ ประกอบด้วยคำอธิบายที่จำเป็นโดยลำดับตามความเข้าใจ การสรุปหัวข้อเพื่อทบทวนนี้ควรทำให้เสร็จก่อนเวลาทดสอบพอสมควร การคร่ำเคร่งอยู่จนดึกเกินไปก่อนไปสอบนั้นมิใช่สิ่งที่ควรทำ ควรเข้าสอบด้วยสมองที่แจ่มใสและร่างกายที่สดชื่น
10. การเลือกซื้อหนังสือคู่มือคณิตศาสตร์
ควรพิจารณาโจทย์ว่าไม่ง่ายและไม่ยากจนเกินไป และควรมีเฉลยละเอียดเพื่อจะได้ตอบปัญหานักเรียนได้อย่างกระจ่างเมื่อนักเรียนทำไม่ได้หรือทำผิดได้คำตอบต่างจากเฉลยถ้านักเรียนมีปัญหาในการใช้หนังสือคู่มืออาจปรึกษาเพื่อน ครูผู้สอน หรือผู้เขียนหนังสือนั้นโดยส่งตรงไปยังสำนักพิมพ์ ซึ่งผู้เขียนหนังสือทุกคนยินดีตอบปัญหา
ความใฝ่รู้และต้องการคำตอบในเรื่องข้องใจ เป็นสมบัติอีกประการหนึ่งของนักเรียนที่มีทักษะเชิงคำนวณไม่น้อยกว่าความกระหายในการทำโจทย์ที่ยากกว่าในแบบเรียน ถือเป็นการท้าทายความสามารถทางหนึ่งโดยมีผลพลอยได้ตอบแทนเป็นความก้าวหน้าในวิชาด้านการคำนวณ ความรวดเร็วในการทำโจทย์ข้อสอบซึ่งจำเป็นมาก เนื่องจากข้อสอบมีปริมาณมาก ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องเวลา จึงต้องฝึกทักษะด้านความว่องไวด้วยเช่นกัน
ที่มา หนังสือคู่มือคณิตศาสตร์ ม.3
กานดา ลือสุทธิวิบูลย์ ภาณุมาศบัวก้านทอง และ ยุพิน จิรสุชานนท์