วิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
ชื่อผู้ส่งประกวด : นางสาวพันธิมา เชาวลิต
ประเภทสถานศึกษา : ขนาดเล็ก
ประเภทผลงาน : ด้านบริหารจัดการชั้นเรียน
โรงเรียน : โรงเรียนเทพราชพิทยาสรรค์
..
ชื่อผลงาน : การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา วิชาวิทยาการคำนวณ 2 โดยใช้กระบวนการสอนแบบสืบเสาะหา
ความรู้ (5Es) ร่วมกับกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) ของนักเรียนชั้น
มัธยมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนเทพราชพิทยาสรรค์
1. ความสำคัญของผลงาน
1.1 ความเป็นมาและสภาพปัญหา
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ปรับปรุง 2560) ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมด้านกำลังคนและการเสริมสร้างศักยภาพของประชากรในทุกช่วงวัย โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศ โดยพัฒนาคนให้เหมาะสมตามช่วงวัย เพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ การพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงานและทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของคนในแต่ละช่วงวัยตามความเหมาะสม การเตรียมความพร้อมของกำลังคน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคต ตลอดจนการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2560)
เป้าหมายของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้ระบุว่าการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐานนั้นมีความสำคัญมาก เพราะนักเรียนได้เรียนรู้จากการเรียนแบบลงมือทำแล้วการเรียนรู้ก็จะเกิดจากภายในใจและสมองของตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่มีคุณค่าและความหมาย (วิจารณ์ พานิช, 2555) ซึ่งการเรียนรู้โดยการใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) เป็นการจัดสถานการณ์ของการเรียนการสอนที่ใช้ปัญหาเป็นเครื่องมือ ในการช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมาย โดยผู้สอนอาจนำนักเรียนไปเผชิญสถานการณ์ปัญหาจริง หรืออาจจัดสภาพการณ์ให้นักเรียนเผชิญปัญหา ฝึกกระบวนการวิเคราะห์ปัญหา แก้ปัญหาร่วมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจในปัญหานั้นอย่างชัดเจน ได้เห็นทางเลือกรวมถึงวิธีการที่หลากหลายในการแก้ปัญหา (ทิศนา แขมมณี, 2555)
ภายใต้กรอบแนวคิดศตวรรษที่ 21 ได้มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการสอนในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5Es) ซึ่งเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และมีประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้ ค้นพบความรู้หรือแนวทางแก้ปัญหาได้เอง และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนผู้สอนเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก ช่วยเสริมสร้างพลังความสามารถของนักเรียนแต่ละคนให้เต็มขีดความสามารถ โดยประยุกต์ใช้หลักการเรียนรู้ด้วยตนเองเน้นบรรยากาศในการเรียนการสอน ให้นักเรียนมีอิสระในการคิดทุกคนมีโอกาสใช้ความคิดอย่างเต็มศักยภาพ (สุคนธ์ สินธพานนท์, 2553, น. 56)