ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะบาตู
ผู้วิจัย นัจลาอ์ ปันดีกา
ปีที่วิจัย 2566
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและแนวทางในการจัด การเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 4) เพื่อประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีขั้นตอนการวิจัย 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ขั้นตอนที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 โรงเรียนบ้านลูโบ๊ะบาตู อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 3 จำนวน 15 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) คู่มือการใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอน 2) แบบบันทึกสนทนากลุ่ม 3) แผนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบ 3) แบบประเมินทักษะการอ่าน เขียน 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) การหาค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t - test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและแนวทางในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อเพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่า ครูได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับจุดเน้นที่ต้องการพัฒนานักเรียน คือ ทักษะการอ่าน เขียน โดยได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน คือ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ จากกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสร้างความรู้อย่างมีความหมายด้วยตนเอง โดยมีหลักการ คือ ให้นักเรียนได้คิดอย่างอิสระให้มากขึ้น มีความสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนที่ได้รับประสบการณ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ ในการฟัง พูด อ่าน เขียน และการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยแบ่งผู้เรียนตามความสามารถแตกต่างกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในการเรียนร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เรียนรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยผู้เรียนได้รับประสบการณ์ในการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ หรือวิธีการคิดใหม่ ๆ ซึ่งผู้เรียนจะบรรลุถึงเป้าหมายของการเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกคนอื่น ๆ ในกลุ่ม ไปถึงเป้าหมายเช่นเดียวกัน ความสำเร็จของตนเองก็คือความสำเร็จของกลุ่มด้วย
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอน พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีองค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) เนื้อหา 4) ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน มี 4 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ทบทวนความเดิมเติมเรื่องใหม่ ขั้นที่ 2 ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันอ่าน เขียน ขั้นที่ 3 หมั่นพากเพียร เขียนและอ่าน ขั้นที่ 4 สรุปวิจารณ์ และประเมินผล และ 5) การวัดและประเมินผล และผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอนโดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า มีความเหมาะสมในระดับมาก
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย พบว่า
3.1 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย มีคะแนนทักษะการอ่าน เขียน ผ่านเกณฑ์ในระดับดี คิดเป็นร้อยละ 81.80
3.2 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย พบว่า
4.1 รูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีมาตรฐานความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสมและความถูกต้อง อยู่ในระดับมากที่สุด
4.2 ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่าน เขียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย อยู่ในระดับมากที่สุด