การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมด้วย MORAL Model ของโรงเรียนวัดทองแท่งนิสยาราม มีรูปแบบการบริหารจัดการที่มุ่งสู่การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้นักเรียนที่เป็นผลผลิตและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดีมีคุณธรรม เป็นพลเมืองดีของชาติ มีเจตคติที่ดีต่อบ้านเมือง และมีอาชีพสุจริต เป็นรูปแบบการขับเคลื่อนที่มีความสอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน และจากการศึกษาแนวคิดและทฤษฎีด้านการบริหารจัดการ รวมไปถึงประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียน ผู้จัดทำผลงานจึงนำทฤษฎีการบริหาร PDCA คิดค้นโดย Dr. Edwards W. Deming และทฤษฎีระบบ (System Theory) แนวคิดของ วอน เบอรทาแลนฟ มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบนวัตกรรม MORAL Model ทำให้ได้นวัตกรรมรูปแบบการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของโรงเรียน ทำให้การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรมบรรลุตามเป้าหมาย โดยมีรายละเอียดของการดำเนินการใช้นวัตกรรมการบริหารจัดการโรงเรียนคุณธรรม ดังนี้
การดำเนินงานตามกิจกรรม
1 ขั้นตอนการวางแผน (Plan)
ศึกษาปัจจัยนำเข้า (Input ) ได้แก่ นโยบายโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต ๑ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทำให้มีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ตามขั้นตอนดังนี้
1) จัดประชุมชี้แจงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโรงเรียน สร้างความรู้ความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็นเพื่อความมั่นใจในการสมัครใจทำงานและตัดสินใจร่วมกัน ได้แก่ ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ตลอดจนชุมชนที่เกี่ยวข้อง
2) แต่งตั้งและมอบหมายงานให้คณะทำงานรับผิดชอบ ในการวางแผน การลงมือปฏิบัติ การประเมินผล และการปรับปรุงแผนจนบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีวาระการทำงาน 1 ปี
3) สรุปข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียน โดยวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยภายใน ได้แก่ จุดแข็ง (ปัจจัยส่งเสริมการปฏิบัติงานให้มีคุณภาพ) และจุดอ่อนหรือข้อด้อย รวมทั้งวิเคราะห์ข้อมูลสภาพแวดล้อมภายนอก ได้แก่ โอกาส (สภาพภายนอกที่เอื้อให้โรงเรียนมีผลงาน เช่น ประชาชนต้องการให้ลูกหลานมีอาชีพ โรงเรียนจึงควรให้ความรู้ด้านทักษะอาชีพ เป็นต้น) และสภาพภายนอกที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของโรงเรียน เช่น เศรษฐกิจไม่ดี ชุมชนยากจนมาก เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาทบทวน วิสัยทัศน์ ปรัชญาต่างๆ ของโรงเรียนด้วย เพื่อให้โรงเรียนรู้จักตนเองและเลือกใช้ประโยชน์ได้ถูกต้องตามความเป็นจริงของโรงเรียน
4) จัดเตรียมผู้เข้าประชุมระดมสมอง โดยจัดกลุ่มผู้เข้าประชุมที่มีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ในกลุ่มเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น 1) กลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา 2) กลุ่มนักเรียนแกนนำ 3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น การพิจารณาจัดประชุมแต่ละกลุ่มที่มีพื้นฐานหน้าที่ความรับผิดชอบใกล้เคียงกัน เพื่อประโยชน์ในการมีความรู้ ความเข้าใจใกล้เคียงกัน ทั้งเรื่องเกี่ยวกับปัญหา ความต้องการพัฒนาและพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน นอกจากนี้ ขนาดของกลุ่ม ควรมีปริมาณที่ช่วยให้ทุกคนในกลุ่มมีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้ ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่จัดเตรียมไว้ในแผนงาน
5) จัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ ตามที่กำหนดไว้ในแผนงานตามความจำเป็น สำหรับการจัดหาวิทยากร ขอให้พิจารณาตามความเหมาะสมตามบริบทของโรงเรียน
2 ขั้นตอนการตอนดำเนินการตามแผน (Do)
เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจกับบุคลากรทุกฝ่าย เพื่อนำรูปแบบการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ด้วย MORAL Model มีการกำหนดแนววิธีดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในอนาคต เน้นการพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียนให้สามารถใช้นวัตกรรม มีการทำงานเป็นทีม การนำรูปแบบการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ด้วย MORAL Model ไปใช้ในโรงเรียนเป็นการดำเนินงานตามขั้นตอนการดำเนินงานแบบ P-D-C-A อย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับรูปแบบของนวัตกรรมการบริหารที่กำหนดไว้โดยมีกระบวนการ (Process) ในการดำเนินงาน
3 ขั้นตรวจสอบ (Check) เป็นการประเมินผลและตรวจสอบผลผลิต (Output)
จากการบริหารจัดการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ.ด้วย MORAL Model ภายใต้วงจร PDCA โดยยึดวัตถุประสงค์ที่กำหนดผลสำเร็จอย่างสมดุล ประเมินพฤติกรรมนักเรียนตามหลักคุณธรรมพื้นฐาน 5 ประการ ของโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประเมินความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและสรุปผลการประเมิน
4 ขั้นปรับปรุงแก้ไข (Action) เป็นการสะท้อนผลการดำเนินงานตามสภาพจริง (Reflection)
เป็นการสะท้อนผลการดำเนินงานตามสภาพจริง (Reflection) จากการบริหารจัดการโรงเรียนคุณธรรม
สพฐ. ด้วย MORAL Model ภายใต้วงจร PDCA มาวิเคราะห์ผลสะท้อนกลับ ข้อเสนอแนะ(Feedback) ว่ามีปัญหา อุปสรรคที่ควรแก้ไขและพัฒนาหรือไม่ ถ้าหาก ไม่ใช่ ก็จะนำปัญหา อุปสรรคที่พบมาเป็นสิ่งที่จะต้องแสวงหาวิธีการแก้ไข ปรับปรุง ในขั้นตอนของการวางแผนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอีกครั้ง ถ้าหาก ใช่ แสดงว่าการบริหารจัดการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ด้วย MORAL Model ภายใต้วงจร PDCA บรรลุผลตามเป้าหมายที่ กำหนดไว้ สามารถประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่และขยายผลการดำเนินงานสู่โรงเรียนและหน่วยงาน อื่นๆ เพื่อพัฒนาโรงเรียนและส่งผลในภาพกว้างต่อไป