ชื่อเรื่อง การวิจัยและพัฒนารูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะร่วมกับ
ทฤษฎีการบริหารคุณภาพโดยรวม (TQM) เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา
โรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษานราธิวาส เขต 3
ชื่อผู้วิจัย นายซากี สะมะแอ
ปีที่วิจัย 2563-2564
บทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนารูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะร่วมกับทฤษฎีการบริหารคุณภาพโดยรวม (TQM) เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา โรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 3 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานของการพัฒนารูปแบบ 2) สร้างและตรวจสอบรูปแบบ 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบ และ4) ประเมินรูปแบบ การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาและวิเคราะห์หลักการ แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ 2 การสร้างและตรวจสอบรูปแบบ โดยใช้เทคนิคการสนทนากลุ่มกับผู้ทรงคุณวุฒิ ขั้นตอนที่ 3 การศึกษาผลการใช้รูปแบบ โดยนำรูปแบบไปใช้เพื่อเก็บข้อมูลจริงกับกลุ่มตัวอย่าง คือ ครูผู้สอน จำนวน 20 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 12 คน ของโรงเรียนบ้านบูเก๊ะตาโมง มิตรภาพที่ 128 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 3 ในปีการศึกษา 2564 ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) และขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม และแบบตรวจสอบคุณภาพรูปแบบ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน พบว่า สภาพการบริหารงานของโรงเรียนมีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก โดยมีการปฏิบัติมากที่สุด คือ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรร่วมกันเพื่อกำหนดเป้าหมายและแนวทางการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครูมีความต้องการในการพัฒนารูปแบบในระดับมากที่สุด โดยต้องการให้ผู้บริหารมีการพัฒนา ปรับปรุงสถานศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการบริหารสถานศึกษาและการเปลี่ยนแปลงของสังคม ผู้บริหารเป็นผู้นำในการกำหนดนโยบาย และเป้าหมายของงาน จากการสัมภาษณ์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหาร พบว่า การมีส่วนร่วมของผู้บริหาร ครูและบุคลากรในการพัฒนา เปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินงานทั้งในด้านการบริหาร การจัดการเรียนการสอน รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสม ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่องและคุณภาพที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเป็นหลัก เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ทำให้การบริหารจัดการศึกษาเกิดการพัฒนาทั้งระบบ
2. ผลการสร้างและตรวจสอบรูปแบบ พบว่า รูปแบบการบริหารที่พัฒนาขึ้น มี 5 องค์ประกอบ 5 องค์ประกอบ คือ 1) หลักการของรูปแบบ 2) ระบบงานและกลไกรูปแบบ 3) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 4) วิธีการดำเนินงาน และ 5) แนวการประเมิน โดยมีวิธีการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ตามตัวอักษร PGOCE Model ขั้นที่ 1 การวางแผน (Planning: P) ขั้นที่ 2 การกำหนดเป้าหมาย (Goal: G) ขั้นที่ 3 การจัดองค์การ (Organizing: O) ขั้นที่ 4 การประสานงาน (Coordinating: C) และขั้นที่ 5 การประเมินผลเพื่อปรับปรุงงาน (Evaluation: E) และผลการตรวจสอบรูปแบบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ภาพรวม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. ผลการใช้รูปแบบการบริหาร พบว่า
3.1 การมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาโรงเรียน โดยรวมมีระดับการดำเนินงาน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ครูสามารถจัดกระบวนการสอนที่ส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนมีระดับการดำเนินงานมากที่สุด รองลงมา คือ มีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนและชุมชน และโรงเรียนมีการประกันคุณภาพการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ ตามลำดับ
3.2 ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ปีการศึกษา 2564 สูงกว่าปีการศึกษา 2563 ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยในปีการศึกษา 2563 คิดเป็นร้อยละ 62.45 และปีการศึกษา 2564 คิดเป็นร้อยละ 72.05 ร้อยละที่เพิ่มขึ้น คือ 16.45
3.3 ผลการประเมินคุณลักษณะด้านสุขภาวะทางร่างกายและลักษณะจิตสังคมของนักเรียน ในระดับดีขึ้นไป ปีการศึกษา 2564 สูงกว่าปีการศึกษา 2563 โดยในปีการศึกษา 2563 คิดเป็นร้อยละ 92.57 และปีการศึกษา 2564 คิดเป็นร้อยละ 98.06 ร้อยละที่เพิ่มขึ้น คือ 5.93
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหาร พบว่า
4.1 รูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะร่วมกับทฤษฎีการบริหารคุณภาพโดยรวม (TQM) เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา มีผลการประเมินความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้อง อยู่ในระดับมากที่สุด
4.2 ความพึงพอใจของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานตามรูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะร่วมกับทฤษฎีการบริหารคุณภาพโดยรวม (TQM) เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา อยู่ในระดับมากที่สุด
4.3 ผลที่เกิดขึ้นต่อนักเรียน และสถานศึกษาหลังการใช้รูปแบบการบริหารตามแนวคิดโรงเรียนสุขภาวะร่วมกับทฤษฎีการบริหารคุณภาพโดยรวม (TQM) เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา พบว่า จำนวนรางวัลที่นักเรียน และสถานศึกษาได้รับจากการแข่งขันตั้งแต่ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นไป ในปีการศึกษา 2563-2564 จำนวน 15 รายการ เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ ไม่น้อยกว่า 5 รายการ