ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ PACECP Model ร่วมกับการใช้ชุดกิจกรรม สร้างสรรค์เพื่อสร้างเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เรื่อง การหาร กลุ่มสาระการเรียนรู้ คณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางจินตะนา พ่อหลอน ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนปลาปากราษฎร์บำรุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
ปีการศึกษา 2566
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ PACECP Model ร่วมกับการใช้ชุดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เรื่อง การหาร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 2) ศึกษาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ PACECP Model ร่วมกับการใช้ชุดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เรื่อง การหาร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 3) พัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เรื่อง การหาร 4) พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 5) ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ PACECP Model ร่วมกับการใช้ชุดกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เรื่อง การหาร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ การวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2 โรงเรียนปลาปากราษฎร์บำรุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 1 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 37 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ PACECP Model เรื่อง การหาร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน 4) แบบทดสอบวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ วิชาคณิตศาสตร์เพื่อสร้างเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ PACECP Model ร่วมกับการใช้ชุดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เรื่อง การหาร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดประสบการณ์ สาระความรู้ ทักษะกระบวนการ สิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม สิ่งสนับสนุนและหลักการตอบสนอง ซึ่งกระบวนการเรียนการสอนมี 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นเตรียมพร้อมสู่การเรียนรู้ (Preparation : P) 2) ขั้นมุ่งสู่การตระหนักรู้ (Awareness : A) 3) ขั้นสร้างเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ (Creation of thinking skill : C) 4) ขั้นประเมินผลการเรียนรู้ (Evaluation : E) 5) ขั้นสรุปองค์ความรู้ (Conclude of knowledge : C) และ 6) ขั้นเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน (Publication : P)
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 86.14/84.14 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้ PACECP Model ร่วมกับการใช้ชุดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เรื่อง การหาร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ทักษะการคิดวิเคราะห์สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2 มีจำนวนนักเรียนผ่านเกณฑ์ร้อยละ 80 ขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 91.89 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
5. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2 ที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ PACECP Model ร่วมกับการใช้ชุดกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เรื่อง การหาร กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์โดยภาพรวมความพึงพอใจของนักเรียนอยู่ในระดับมาก