บทคัดย่อ
อุลัย บุญโท : พฤติกรรมความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาทาง
การเรียนรู้ที่ได้รับการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะตามหลักการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Active Learning). โรงเรียนอนุบาลบึงกาฬวิศิษฐ์อำนวยศิลป์ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ.
การศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ เป็นการศึกษาค้นคว้าโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการใน ชั้นเรียน มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำความเข้าใจและอธิบายการใช้ปัจจัยตามหลักการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Active Learning) ในการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะที่มีผลต่อพฤติกรรมความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาทางการเรียนรู้
กลุ่มตัวอย่างเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าคือ เด็กปฐมวัยที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ กำลังศึกษาในระดับปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนอนุบาลบึงกาฬวิศิษฐ์อำนวยศิลป์ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ จำนวน 3 คน เพื่อจัดให้เด็กได้รับการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะตามหลักการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Active Learning) รวมทั้งสิ้น 40 ครั้ง
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ คือแบบประเมินพฤติกรรมความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่มีปัญหาทางการเรียนรู้และแบบบันทึกการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะตามหลักการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Active Learning )
ผลการศึกษาพบว่า
1. ปัจจัยตามหลักการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Active Learning ) 5 ประการ
คือ วัสดุ การเลือก การกระทำ การใช้ภาษาของเด็กและการสนับสนุนของผู้ใหญ่ ผู้ศึกษามีการใช้ในปริมาณที่แตกต่างกันโดยในระยะที่ 1 ปัจจัยด้านการสนับสนุนของผู้ใหญ่มีการใช้มากที่สุดเพื่อสร้างความไว้วางใจรองลงมาคือ ปัจจัยด้านการเลือก ปัจจัยด้านการกระทำ ปัจจัยด้านวัสดุ เพราะเมื่อเด็กได้รับการสนับสนุนให้ปฏิบัติกิจกรรมเด็กมีโอกาสเลือกที่จะใช้วาจา ท่าทางและวัสดุต่าง ๆ อย่างอิสระและปัจจัยที่ใช้น้อยที่สุดคือการใช้ภาษาของเด็กเพราะเด็กยังไม่คุ้นเคยกับกิจกรรม เด็กจึงไม่มีการใช้ภาษาแต่เด็กจะใช้ท่าทางอย่างอิสระก่อนที่จะมีการใช้ภาษาในการบรรยายการเคลื่อนไหว ระยะที่ 2 ผู้ศึกษายังคงใช้ปริมาณปัจจัยด้านการสนับสนุนของผู้ใหญ่มากที่สุด เพื่อใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กคิดท่าทางที่หลากหลาย รองลงมาคือ ปัจจัยด้านการเลือก ปัจจัยด้านการกระทำ ปัจจัยด้านวัสดุและปัจจัยด้านการใช้ภาษาที่มีความสัมพันธ์กัน ซึ่งในระยะนี้การใช้ภาษามีการเริ่มใช้ภาษามากขึ้นเพราะเด็กเริ่มคุ้นเคยกับกิจกรรมและครูกระตุ้นและให้โอกาสเด็กในการบรรยายท่าทางการเคลื่อนไหว ระยะที่ 3 ผู้ศึกษาใช้ปริมาณการเลือก การใช้ภาษา การกระทำและปัจจัยด้านวัสดุมากที่สุดโดยปัจจัยทั้งสี่มีความสัมพันธ์กัน เพราะเด็กมีโอกาสคิดและเป็นผู้เลือกท่าทาง วาจาและวัสดุด้วยตนเองตลอดเวลาในการเคลื่อนไหว รองลงมาคือปัจจัยด้านการสนับสนุนเพราะบทบาทครูในระยะนี้ลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดท่าทางการเคลื่อนไหวอย่างเต็มที่ บทบาทครูในระยะนี้จึงเน้นไปที่การจัดหาวัสดุ วางแผนการจัดกิจกรรมเพื่อให้โอกาสเด็กคิดและตอบสนองซึ่งความคิดของเด็กให้ได้มากที่สุด
2. เด็กปฐมวัยที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ มีการพัฒนาพฤติกรรมความเชื่อมั่นในตนเองสัมพันธ์กับระยะเวลา โดยเด็กมีการพัฒนาพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 3