ชื่องานวิจัย การพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นบูรณาการ โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแบบฝึกเสริมทักษะ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย นางสาวชมพูนุช ดำด้วง, นางสาวฤทัยวรรณ บุญครองชีพ, นางชญานี ขัตติยะมาน
สาขาวิชาเอก วิทยาศาสตร์ทั่วไป
ปีที่ทําการวิจัย ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นบูรณาการของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแบบฝึกเสริมทักษะ ให้ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นบูรณาการก่อนและหลังเรียน โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแบบฝึกเสริมทักษะ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 3) เพื่อศึกษาความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์หลังการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแบบฝึกเสริมทักษะ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแบบฝึกเสริมทักษะ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา ศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 จำนวน 30 คน ได้มาด้วยวิธีสุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling) ดำเนินการเก็บข้อมูลด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นบูรณาการ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแบบฝึกเสริมทักษะ จำนวน 6 แผน 6 ชั่วโมง 2) แบบทดสอบวัดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นบูรณาการ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 25 ข้อ ผ่านการหาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงโดยผู้เชี่ยวชาญมีค่า IOC ระหว่าง 0.67-1 3) แบบฝึกเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นบูรณาการ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 4) แบบประเมินความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ผ่านการหาคุณภาพด้านความเที่ยงตรงโดยผู้เชี่ยวชาญมีค่า IOC เท่ากับ 1 5) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแบบฝึกเสริมทักษะ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นแบบมาตราส่วนค่าของลิเคอร์ท (Likert Rating Scale) จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (x̄) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่าที (t-test for Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1) ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นบูรณาการของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแบบฝึกเสริมทักษะ หลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 70 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2) ผลสัมฤทธิ์ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นบูรณาการ โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแบบฝึกเสริมทักษะของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หลังเรียน (x̄ = 19.60, S.D. = 3.05) สูงกว่าก่อนเรียน (x̄ = 10.37, S.D. = 3.15) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3) ความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์หลังการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแบบฝึกเสริมทักษะ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในภาพรวมนักเรียนมีความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.70, S.D. = 0.46) เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่ม พบว่า นักเรียนมีความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์อยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 8 กลุ่ม และอยู่ในระดับมาก จำนวน 2 กลุ่ม
4) ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5E) ร่วมกับแบบฝึกเสริมทักษะ โดยภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.86, S.D. = 0.36) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านการจัดการเรียนการสอน อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.87, S.D. = 0.30) ด้านบทบาทผู้สอน (x̄ = 4.86, S.D. = 0.38) ด้านการวัดและประเมินผล อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.85, S.D. = 0.36) และด้านบทบาทผู้เรียน อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.85, S.D. = 0.39) ตามลำดับ