หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ ที่มีความสมดุล ทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข มีความรู้ทักษะพื้นฐาน รวมทั้งเจตคติที่จ าเป็นต่อการศึกษาต่อประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ มีความรู้และทักษะพื้นฐานรวมทั้งเจตนาที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อการประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ บนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองตามศักยภาพ
เป้าหมายสำคัญของการประเมินผลการเรียนหลักสูตรสถานศึกษาตามแนวทางหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 คือ เพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละรายวิชาของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ โดยการนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุง แก้ไข ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนโดยตรง นำผลไปปรับปรุงแก้ไขผลการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งนำไปใช้ในการพิจารณาตัดสินความสำเร็จทางการศึกษาของผู้เรียน ตลอดจนความสำเร็จของผู้สอนอีกด้วย
การบริหารงานวิชาการ เป็นงานที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการพัฒนาองค์กร เพราะงานวิชาการถือเป็นงานหลักของโรงเรียน ซึ่งปรียาพร วงศ์อนุตรโรจน์ (2553),กาญจน์ เรืองมนตร และธรินธร นามวรรณ (2554) กล่าวว่า งานวิชาการถือเป็นหัวใจของการบริหารการศึกษาเพราะจุดมุ่งหมายของสถานศึกษา คือการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพซึ่งขึ้นอยู่กับวิชาการทั้งสิ้น งานวิชาการเป็นกิจกรรมการจัดการเกี่ยวกับงานด้านหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ งานการเรียนการสอน งานสื่อการเรียนการสอน งานวัดและประเมินผล งานห้องสมุด งานนิเทศการสอน งานวางแผนการศึกษา เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนบรรลุจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพของโรงเรียน
เนื่องจากในแต่ละภาคเรียนมีผู้เรียนที่มีผลการเรียน 0 , ร , มส และ มผ จำนวนมาก โรงเรียนได้จัดสอบแก้ตัว 2 ครั้ง แต่ยังมีผู้เรียนจำนวนมากมีผลการเรียนไม่ผ่านเกณฑ์ หรือไม่ดำเนินการสอบแก้ตัว จึงทำ
ให้ผู้เรียนเหล่านั้นไม่สามารถจบหลักสูตรได้ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว งานวัดผลจึงกำหนดขั้นตอนและแนวทางการสอบแก้ตัวของผู้เรียนที่มีผลการเรียน 0 , ร , มส และ มผ ตามแนวทางของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการเรียน ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง 2533) และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการเรียน ตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายพุทธศักราช 2524 (ฉบับปรับปรุง2533) แนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในการแก้ไขผลการเรียน 0 , ร , มส และ มผ มีดังนี้ 1) การแก้ไข 0 โดยให้สถานศึกษาจัดสอนซ่อมเสริมในจุดประสงค์ที่ผู้เรียนสอบไม่ผ่านก่อน แล้วจึงสอบแก้ตัวและให้สอบแก้ตัวได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ทั้งนี้ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในภาคเรียนถัดไป ถ้าผู้เรียนไม่สามารถมาดำเนินการสอบแก้ตัวตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าสถานศึกษาที่จะพิจารณาขยายเวลาแก้ 0 ออกไปอีกหนึ่งภาคเรียน เพื่อให้วิธีการดังกล่าวปฏิบัติได้จริง มีผลดีต่อผู้เรียนช่วยลดจำนวนติด 0 ให้น้อยลง 2) การแก้ไข ร ให้ดำเนินการแก้ไขตามสาเหตุ เมื่อผู้เรียนแก้ไขปัญหาเสร็จแล้วให้ได้รับผลการเรียนปกติ (ตั้งแต่ 0-4) ถ้าผู้เรียนไม่ดำเนินการแก้ไข ร กรณีส่งงานไม่ครบแต่มีผลการประเมินระหว่างภาคเรียนและปลายภาค ให้ผู้สอนนำข้อมูลที่มีอยู่ตัดสินผลการเรียน 3) การแก้ไข มส มี 2 กรณี คือ มีเวลาเรียนไม่ถึงร้อยละ 80 แต่มีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ให้สถานศึกษาจัดเรียนเพิ่มเติมโดย ใช้ชั่วโมงสอนซ่อมเสริม หรือใช้เวลาว่าง ใช้วันหยุดหรือมอบหมายงานจนมีเวลาเรียนครบ จึงให้วัดผลปลายภาคผลการแก้ มส ให้ได้ระดับผลการเรียนไม่เกิน 1 กรณีที่สองมีเวลาเรียนน้อยกว่าร้อยละ 60 ของเวลาเรียนทั้งหมด ถ้าเป็นรายวิชาพื้นฐานให้เรียนซ้ำในรายวิชานั้น ถ้าเป็นรายวิชาเพิ่มเติม ให้อยู่ในดุลพินิจของสถานศึกษา ให้เรียนซ้ำหรือเปลี่ยนรายวิชาเรียนใหม่ 4) การแก้ไข มผ สถานศึกษาต้องจัดสอนซ่อมเสริมให้ผู้เรียนทำกิจกรรมในส่วนที่ไม่ได้เข้าร่วมหรือไม่ได้ทำจนครบ แล้วจึงเปลี่ยนผลจาก มผ เป็น ผ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 ส่งผลให้สถานศึกษาต้องจัดรูปแบบการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตรให้รองรับการจัดการเรียนการสอน 4 วิธี หรือ 4 ON คือ Online, On Air, On Hand และ On Site โดยนักเรียนที่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแบบ Online ก็จะเข้าเรียนผ่านโปรแกรม Zoom และสามารถเข้าไปศึกษาด้วยตนเองผ่านสื่อดิจิทัล หรือเรียน On Air ผ่านทางโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมและช่องทีวีดิจิทัลของกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มเติมได้ สำหรับนักเรียนที่ไม่พร้อมเรียน Online จะใช้วิธีการ On Air และ On Hand ควบคู่กันไป โดยโรงเรียนจะจัดส่งหนังสือแบบเรียน ใบงานการบ้านและกิจกรรม ให้นักเรียนทุกคนสำหรับกลุ่มนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมทั้ง Online และ On Air จะใช้วิธีการ On Site นัดหมายมาเรียนรู้เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่โรงเรียนเป็นระยะๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งทางโรงเรียนบางสวรรค์วิทยาคมได้ดำเนินการในงานวัดและประเมินผลการเรียน ซึ่งมีจำนวนผู้เรียนที่มีผลการเรียน 0 ร มส และ มผ ที่สะสมเป็นจำนวนมาก โดยมีร้อยละของผู้เรียนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6) ย้อนหลัง 3 ปีการศึกษา ดังนี้ปีการศึกษา 2563 ร้อยละ 91.30 ปีการศึกษา 2564 ร้อยละ 84.35 ปีการศึกษา 2565 ร้อยละ 92.52 และ ร้อยละของผู้เรียนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรภาคบังคับ (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) ย้อนหลัง 3 ปีการศึกษา ดังนี้ปีการศึกษา 2563 ร้อยละ 86.52 ปีการศึกษา 2564 ร้อยละ 62.78 ปีการศึกษา 2565 ร้อยละ 86.71
จากสภาพปัญหาและเหตุผลที่ได้กล่าวข้างต้น คณะผู้วิจัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารงานวิชาการ ในส่วนของการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้เรียนที่มีผลการเรียน 0 ร มส และ มผ อย่างเร่งด่วนจึงได้ดำเนินการกำกับติดตาม แก้ปัญหาผู้เรียนที่มีผลการเรียน 0 ร มส และ มผ โดยใช้กระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) เนื่องจากกระบวนนี้สามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนมีคุณภาพการศึกษาสอดคล้องตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๖๒ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา และการกำกับ ติดตามผลการเรียนเหมาะสมกับบริบทของผู้เรียนโรงเรียนบางสวรรค์วิทยาคม ในปีการศึกษาต่อไป