ชื่อเรื่อง รูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
โรงเรียนโพธิ์ชัยชนูปถัมภ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาร้อยเอ็ด
ชื่อผู้รายงาน ดวงจันทร์ ยวงสุวรรณ์
ปีการศึกษา 2566
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง เพื่อทดลองใช้ และเพื่อประเมินรูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โรงเรียนโพธิ์ชัยชนูปถัมภ์ สำนักงาน
เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาร้อยเอ็ด วิธีดำเนินการวิจัย 3 ขั้นตอน คือ 1) สร้างรูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ โดยการศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหาเอกสาร และสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ยกร่างและตรวจสอบความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ เครื่องมือที่ใช้ในวิจัย คือ แบบสัมภาษณ์ ประเด็นสนทนากลุ่ม และแบบประเมิน 2) ทดลองใช้รูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ กับครูและบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ปีการศึกษา 2566 3) ประเมินรูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์ จากครูและบุคลากรทางการศึกษา ปีการศึกษา 2566 สถิติที่ใช้ คือ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสรุปข้อมูล ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โรงเรียนโพธิ์ชัยชนูปถัมภ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาร้อยเอ็ด มี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ หลักการ จุดประสงค์ กลยุทธ์ 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) การพัฒนาความรู้ ความสามารถ และศักยภาพนักเรียน
สู่ความเป็นสากล 2) การพัฒนานักเรียนด้านสุขภาพ สุนทรียภาพ คุณธรรม จริยธรรม และลักษณะ
อันพึงประสงค์ของผู้เรียน 3) การพัฒนาประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานสากล 4) ส่งเสริม พัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษาเป็นครูมืออาชีพ มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสากล และ 5) พัฒนาหลักสูตรและกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และผลลัพธ์จากการพัฒนา ได้แก่ ผลลัพธ์ตรง คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ผลลัพธ์ตาม คือ ผลการพัฒนาตามกลยุทธ์ทั้ง 5 กลยุทธ์
โดยรูปแบบมีความเหมาะสมและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ของนักเรียน โรงเรียนโพธิ์ชัยชนูปถัมภ์ พบว่า ปีการศึกษา 2566 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 73.97 สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากคะแนนเฉลี่ย
ปีการศึกษา 2565 เท่ากับ 7.75 พฤติกรรมด้านการปฏิบัติงานกลุ่มและพฤติกรรมด้านความสนใจ
และความรับผิดชอบในการเรียนของนักเรียน โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และผลการพัฒนาตาม
กลยุทธ์ มีดังนี้ 1) กลยุทธ์ที่ 1 พบว่า การพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะความรู้เชิงบูรณาการสำหรับศตวรรษที่ 21 มีทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่อการเรียนและการประกอบอาชีพในอนาคต มีทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน มีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และเติบโตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และการมีคุณธรรมจริยธรรมเหมาะสมตามช่วงวัย มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และคุณลักษณะ
ในศตวรรษที่ 21 2) กลยุทธ์ที่ 2 พบว่า การพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และการมีคุณธรรมจริยธรรมเหมาะสมตามช่วงวัย มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และคุณลักษณะในศตวรรษที่ 21 ส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้ออกกำลังกายและเล่นกีฬา ให้มีสุนทรียภาพด้าน ศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ และนันทนาการ สร้างเสริมระเบียบวินัย ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบแบบแผนของโรงเรียนและกฎกติกาของสังคม มีจิตสำนึกที่ดี มีจิตสาธารณะ มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมอันพึงประสงค์และมีคุณลักษณะตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีคุณลักษณะ
อันพึงประสงค์ มีทักษะการดำรงชีวิตและมีจิตสำนึกของความเป็นพลโลก 3) กลยุทธ์ที่ 3 พบว่า
การดำเนินการพัฒนาระบบบริหารจัดการตามแนวทางการกระจายอำนาจ และมีส่วนร่วมของคณะกรรมการสถานศึกษา บุคลากรภายในโรงเรียน ชุมชนและทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน พัฒนาระบบประกันคุณภาพให้มีความเข้มแข็ง สร้างวัฒนธรรมคุณภาพสามารถขับเคลื่อนให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศที่ครบถ้วน ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน บริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพโดยใช้เทคโนโลยีการบริหารยุคใหม่เพื่อพัฒนาให้ได้คุณภาพเทียบเคียงมาตรฐานสากล พัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศมีระบบการจัดการความรู้ และสร้างนวัตกรรมให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการศึกษา พัฒนาสภาพแวดล้อม
ทางกายภาพ และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางวิชาการทั้งในและนอกห้องเรียน ตลอดจนการจัดบริการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนทางวิชาการต่างๆ ให้มีบรรยากาศที่น่าเรียนรู้ 4) กลยุทธ์ที่ 4 พบว่า การพัฒนาผู้บริหาร คณะครูและบุคลากรของโรงเรียนให้มีความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นผู้นำทางวิชาการ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระบบบริหารจัดการ พัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถมีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพและสร้างขวัญกำลังใจ เพื่อจูงใจให้ครูเสียสละและทุ่มเทการปฏิบัติหน้าที่ เหมาะสมกับการเป็นครูมืออาชีพ 5) กลยุทธ์ที่ 5 พบว่า การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาที่สอดคล้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักสูตรที่เทียบเคียงหลักสูตรมาตรฐานสากล เพื่อตอบสนองต่อความถนัด ความสนใจและศักยภาพตามความต้องการของผู้เรียนและชุมชน พัฒนาการเรียนการสอนที่เน้นความสามารถของนักเรียนเป็นรายบุคคล และส่งเสริม
ให้สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ มีแหล่งเรียนรู้ บรรยากาศสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการ
ใช้บริการมีสื่อที่พอเพียงเหมาะสมทันสมัยมีกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย 3) ผลการประเมินรูปแบบการบริหารเชิงกลยุทธ์เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โรงเรียนโพธิ์ชัยชนูปถัมภ์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาร้อยเอ็ด พบว่า โดยรวมมีความเป็นไปได้
ความเหมาะสม และความเป็นประโยชน์ อยู่ในระดับมากที่สุด