ชื่อเรื่อง รูปแบบการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาล
ปีที่ 3 แบบบูรณาการผ่านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้
เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
ผู้รายงาน นางสาวณัฐญาพร แซ่เจียม ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2
ปีการศึกษา 2566
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) พัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการที่เน้นการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 2) ศึกษาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการที่เน้นการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 3) พัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 4) ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนครูและเด็กปฐมวัยหลังการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการที่เน้นการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 การวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กลุ่มเป้าหมาย คือ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านโตน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 12 คน และครูผู้สอนเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 ในจังหวัดตรัง จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการที่เน้นการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวัฏจักรการสืบเสาะเพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 3) แบบสอบถามความพึงพอใจของครูและเด็กปฐมวัยการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t test) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 แบบบูรณาการผ่านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ มีองค์ประกอบคือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการจัดประสบการณ์ สาระความรู้ ทักษะกระบวนการ สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม สิ่งสนับสนุน และหลักการตอบสนอง ซึ่งกระบวนการจัดประสบการณ์มี 6 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขั้นตั้งคำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ (Asking questions about natural phenomena: A) ขั้นที่ 2 ขั้นรวบรวมความคิดและข้อสันนิษฐาน (Stage of gathering thoughts and assumptions : S) ขั้นที่ 3 ขั้นทดลองและปฏิบัติการสืบเสาะ (Experimental and investigative procedures: E) ขั้นที่ 4 ขั้นสังเกตและบรรยาย (Observation and description step: O) ขั้นที่ 5 ขั้นบันทึกข้อมูล (Data recording step: D) และขั้นที่ 6 ขั้นอภิปรายผล (Results discussion stage: R)
2. รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการที่เน้นการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ เท่ากับ 86.25/87.18 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
3. ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของสำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนโดยใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการที่เน้นการเรียนรู้โดยใช้การกระบวนการสืบเสาะหาความรู้สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีจำนวนเด็กปฐมวัยผ่านเกณฑ์คิดเป็นร้อยละ 87.27 ของจำนวนเด็กปฐมวัยทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนดไว้
5. เด็กปฐมวัยและครูมีความพึงพอใจหลังการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการที่เน้นการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 อยู่ในระดับมาก