ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลาม เพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน
กรณีศึกษา : โรงเรียนอ่าวกะพ้อ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา
ผู้วิจัย : โสภิตา สินโต
ปีการศึกษา : 2565
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลาม เพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน กรณีศึกษา : โรงเรียนอ่าวกะพ้อ อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพการบริหารและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน 2) เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน และ 4) เพื่อประเมินและปรับปรุงรับรองรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน การวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การวิจัย (Research : R1) ศึกษาสภาพการบริหารและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน เครื่องมือได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็น (ฉบับที่ 1) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (ฉบับที่ 2) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (ฉบับที่ 3) แบบวิเคราะห์ข้อมูลจากการสนทนากลุ่มย่อย (ฉบับที่ 4) และแบบวิเคราะห์ข้อมูลจากการสนทนากลุ่มย่อย (ฉบับที่ 5) ผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 10 คน ครูผู้สอน จำนวน 25 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 15 คน และนักเรียนโรงเรียนอ่าวกะพ้อ จำนวน 18 คน ระยะที่ 2 การพัฒนา (Development : D1) การออกแบบและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน เครื่องมือได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็น (ฉบับที่ 6) แบบประเมินความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) (ฉบับที่ 7) และแบบประเมินคู่มือ (ฉบับที่ 8) ผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 15 คน ระยะที่ 3 การวิจัย (Research : R2) การทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน เครื่องมือได้แก่ แบบประเมินคุณภาพการปฏิบัติงานของครูผู้สอน (ฉบับที่ 9) และแบบประเมินอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน (ฉบับที่ 10) ผู้ให้ข้อมูลคือ ครูผู้สอน จำนวน 22 คน และนักเรียนโรงเรียนอ่าวกะพ้อ จำนวน จำนวน 100 คน และระยะที่ 4 การพัฒนา (Development : D2) การประเมินและปรับปรุงรับรองรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน เครื่องมือได้แก่ แบบประเมินการปรับปรุง แก้ไข (ฉบับที่ 11) ผู้ให้ข้อมูลคือ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน และครูผู้สอน จำนวน 22 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพการบริหารและความต้องการในการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน พบว่า โดยรวมมีสภาพการบริหารอยู่ในระดับมาก ( x̄= 3.55, S.D. = 0.79) และความต้องการอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄= 4.53, S.D. = 0.90) และมีแนวทางในการพัฒนารูปแบบการบริหารสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียนที่มีประสิทธิภาพ จากการสัมภาษณ์เกี่ยวกับการจัดการศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลาม การสนทนากลุ่มย่อย โดยภาพรวมพบว่า การเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียนจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนรู้ของนักเรียนให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีและพร้อมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคม และควรมีทักษะด้านวิชาการ ทักษะวิชาชีพ และทักษะชีวิต เพื่อให้นักเรียนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
2. ผลการสร้างและพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน มีชื่อว่า “Metacognitive-Based Administration Model” (MBA Model) หมายถึง การรู้คิดเป็นฐานในการบริหารสถานศึกษา ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) เนื้อหา 4) กระบวนการบริหารจัดการสถานศึกษา 7 ขั้นตอน มีดังนี้ ขั้นที่ 1 การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Collection and Analysis of Data Stage : C) ขั้นที่ 2 การกำหนดเป้าหมายและนโยบายการจัดการศึกษา (Goals and Policy Stage : G) ขั้นที่ 3 การจัดทำโครงสร้างภารกิจการจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงการนำหลักศาสนาเป็นหลักในการปฏิบัติงาน (Matrix Organization Structure Stage : M) ขั้นที่ 4 การปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice Stage : B) ขั้นที่ 5 การสร้างและพัฒนาทีมงาน (Team Building and Development Stage : T) ขั้นที่ 6 การประเมิน ผลงานตามสภาพที่แท้จริง (Job Assessment Stage : J) ขั้นที่ 7 การสร้างระบบประกันคุณภาพ (Quality Assurance Construction Stage : Q) 5) การประเมินผล และ 6) เงื่อนไขสู่ความสำเร็จ มีความเหมาะสมกับการบริหารจัดการสถานศึกษาและสถานการณ์ในพื้นที่ โดยรูปแบบมีความเป็นไปได้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงและมีความเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษา ครูและนักเรียน
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน พบว่า หลังจากการนำรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียนไปทดลองใช้ ผลการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนก่อนการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียน มีความถูกต้องและเหมาะสมในระดับมากที่สุด ( x̄= 4.53, S.D. = 0.52) การสังเกตการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄= 4.55, S.D. = 0.51) ผู้บริหารมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.53, S.D. = 0.50) และนักเรียนปฏิบัติ/แสดงพฤติกรรมนั้นทุกครั้ง หรือ 100% (x̄ = 2.57, S.D. = 0.50)
4. ผลการประเมินและปรับปรุงเพื่อรับรองรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษาตามวิถีชีวิตอิสลามเพื่อเสริมสร้างอุปนิสัยสู่การเรียนรู้ในการดำรงชีวิตของนักเรียน พบว่า องค์ประกอบของรูปแบบการบริหารจัดการสถานศึกษา “Metacognitive-Based Administration Model” (MBA Model) มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.51, S.D. = 0.51) และการนำไปใช้ได้จริงอยู่ในระดับมากที่สุด (x̄ = 4.53, S.D. = 0.50) และผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄= 4.52, S.D. = 0.50)