การพัฒนาชุดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยโครงงงานเป็นฐาน (Project Based Learning) ร่วมกับหลักการเรียนรู้แบบสืบเสาะ 7E รายวิชาวิทยาศาสตร์ 6 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนนิคมพิมายศึกษา
ผู้จัดทำ : นางสาวรัชนี ชุ่มกิ่ง (2567)
สภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้และคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน
วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมโลกปัจจุบันและอนาคต เพราะวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับทุกคนทั้งในชีวิตประจำวันและการงานอาชีพต่าง ๆ ตลอดจนเทคโนโลยีเครื่องมือเครื่องใช้และผลผลิตต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตและการทำงาน เหล่านี้ล้วนเป็นผลของความรู้วิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์และศาสตร์อื่นๆ วิทยาศาสตร์ช่วยให้มนุษย์พัฒนาวิธีคิด ทั้งความคิดเป็นเหตุเป็นผล คิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ มีทักษะสำคัญในการค้นคว้าหาความรู้ มีความสามารถในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่หลากหลายและมีประจักษ์พยานที่ตรวจสอบได้ วิทยาศาสตร์เป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นทุกคนจึงต้องได้รับการพัฒนาให้รู้วิทยาศาสตร์เพื่อที่จะมีความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติและเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น สามารถนำความรู้ไปใช้อย่างมีเหตุผล สร้างสรรค์ และมีคุณธรรม (กระทรวงศึกษาธิการ. 2552 : 92 )
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนนิคมพิมายศึกษา ที่ผ่านมายังไม่บรรลุผลเท่าที่ควรและนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ค่อนข้างต่ำ จากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET (Ordinary Nation Educational Test) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในปีการศึกษา 2565 ได้คะแนนได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 28.37 เมื่อแบ่งคะแนนตามสาระการเรียนรู้ สาระวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 19.06 ซึ่งต่ำกว่าระดับเขตพื้นที่และระดับชาติ นอกจากนี้ยังพบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนนิคมพิมายศึกษา ขาดทักษะในการปฏิบัติการทดลอง ขาดการแสวงหาความรู้ ไม่สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง ขาดความกระตือรือร้น ส่งผลให้นักเรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์อยู่ในระดับต่ำ จำเป็นจะต้องหาแนวทางเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และผลการเรียนของนักเรียนให้มีระดับสูงขึ้น และพบว่าผู้เรียนในชั้นเรียน มีความแตกต่างกันทั้งด้านความรู้ ความสนใจและความถนัด ทำให้ผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ประกอบด้วยสภาพสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของผู้สอนไม่ตอบสนองต่อความสนใจและความถนัดของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายในการเรียน ขาดความสนใจใฝ่รู้ ไม่กระตือรือร้นในการเรียนและมีเจตคติที่ไม่ดีต่อวิทยาศาสตร์
การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ความเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำการทดลองจริง มีการใช้กระบวนการเรียนการสอนที่สนุก น่าสนใจ ดังคำกล่าวของ ภพ เลาหไพบูลย์ (2555 : 194) ซึ่งได้กล่าวถึงเรื่อง การจัดกระบวนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ไว้ว่า การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ จะต้องใช้สื่อการเรียนการสอนเป็นสื่อกลาง ในการแลกเปลี่ยนเนื้อหาทักษะความคิดระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ให้มีการถ่ายทอดความรู้กระบวนการแสวงหาความรู้วิทยาศาสตร์ เจตคติทางวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกัน การนำชุดกิจกรรมมาช่วยในการเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองได้มากขึ้น ชุดกิจกรรมยังมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนดังคำกล่าวของ ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2537 :123) ซึ่งกล่าวไว้ว่า ชุดกิจกรรมการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้สอนถ่ายทอดเนื้อหาและประสบการณ์ที่เหมาะสมที่เป็นรูปธรรม เร้าความสนใจของนักเรียนต่อสิ่งที่กำลังศึกษา ช่วยในการแก้ปัญหาความแตกต่างระหว่างบุคคลและช่วยแก้ปัญหาการขาดครูผู้สอน ในสาขาวิทยาศาสตร์ได้ อีกทั้งนักเรียนยังได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และส่งเสริมให้มีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ ชุดกิจกรรมเป็นการพัฒนามาจากวิธีการเรียนการสอนหลาย ๆ ระบบเข้ามาผสมผสานให้กลมกลืนกัน นับตั้งแต่การเรียนรู้ด้วยตนเอง การร่วมกิจกรรมกลุ่ม การใช้สื่อในรูปแบบต่าง ๆ การเรียนการสอนวิธีนี้เหมาะสมกับการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่สุด (สุนันทา สุนทรประเสริฐ. 2543:107) ในส่วนของชุดกิจกรรมวิทยาศาสตร์คือการประยุกต์ชุดการเรียนการสอนเข้ากับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หรือระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ขึ้น เพื่อใช้เป็นนวัตกรรมการสอนทางวิทยาศาสตร์ศึกษา จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้หรือสร้างองค์ความรู้ได้อย่างมีระบบ ส่งผลให้เกิดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาศาสตร์ และสามารถพัฒนาทักษะปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น (ธานินทร์ ปัญญาวัฒนากุล. 2546 : 50) และจากงานวิจัยพบว่า การสอนโดยใช้ชุดกิจกรรม ทำให้ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้สูงขึ้นกว่าการสอนแบบปกติอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็มีทักษะกระบวนการหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน (สำเนียง พุทธา. 2550 : บทคัดย่อ , Farkas. 2002 : 1243-A) การเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมที่พัฒนาขึ้นอย่างมีระบบ และมีประสิทธิภาพ สามารถช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น ส่งผลให้มีผลการเรียนรู้ ทั้งด้านความรู้ ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และมีเจตคติต่อการเรียนรู้สูงขึ้น (นพคุณ แดงบุญ. 2552 : บทคัดย่อ ,สมทรง หางสลัด. 2553 : บทคัดย่อ) เพราะชุดกิจกรรมจะช่วยให้ผู้เรียนมีอิสระ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม โดยใช้ความสามารถตามความต้องการของตน ได้ฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมความรับผิดชอบ ให้มีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เกิดการเรียนรู้และปฏิบัติจริง เกิดทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ในทางที่ดีขึ้น สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้และชุดกิจกรรมเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่มีคุณค่าเพียงพอที่จะนำมาสอนได้ และยังช่วยให้ผู้เรียนมีความพอใจในการเรียน ช่วยส่งเสริมการเรียนรายบุคคล นักเรียนได้เรียนตามความสามารถตามความสนใจ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ชุดกิจกรรมยังช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามอัตภาพไม่เกิดความเบื่อหน่าย สนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ส่งเสริมความรับผิดชอบของนักเรียน การสอนโดยชุดกิจกรรมเป็นการสอนที่ผู้เรียนได้ประสบการตรงผ่านกระบวนการต่าง ๆ ได้พิสูจน์ทดสอบและเห็นผลประจักษ์ด้วยตนเอง จึงเกิดการเรียนรู้ได้ดีมีความเข้าใจและจดจำการเรียนรู้นั้นได้นาน เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะต่าง ๆ ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมมาก ทำให้เกิดความกระตือรือร้นในการเรียน (บุญเกื้อ ควรหาเวช. 2530 : 84-85 ; สมจิต สวธนไพบูลย์. 2535 : 39 ; ทิศนา แขมมณี. 2550 : 28)
การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวคือ โครงงาน เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมุ่งส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ ผู้เรียนร่วมกันวางแผนเพื่อสร้างองค์ความรู้หรือแก้ปัญหาด้วยการค้นคว้า ทดลองตามขั้นตอน (วิมลรัตน์ สุนทรโรจน์. 2549 : 180) การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ มีประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง ฝึกให้แก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะติดตัวเด็กไปตลอด เมื่อมีข้อสงสัยหรือปัญหาเกิดขึ้นเขาจะแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าความรู้ที่ขาดการปฏิบัติ (วิมลศรี สุวรรณรัตน์ และมาฆะ ทิพย์คีรี. 2544 : 8) การจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามลักษณะความสนใจ มุ่งให้เด็กมีประสบการณ์ตรงกับเรื่องที่ศึกษา (วัฒนา มัคคสมัน. 2550 : 20) นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหลายฉบับที่ได้ศึกษาการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงาน พบว่า การจัดการเรียนรู้แบบโครงงานส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สูงขึ้น อาทิเช่น สายพิณ กองกระโทก (2552) ได้ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องแม่เหล็กไฟฟ้าและแรงไฟฟ้า ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากการสอนแบบโครงงาน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องแม่เหล็กและแรงไฟฟ้า โดยการสอนแบบโครงงานก่อนเรียนมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าก่อนเรียน และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เรื่องแม่เหล็กและแรงไฟฟ้าหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน สอดคล้องกับจารุวรรณ เสียงไพเราะ (2553) ได้ศึกษาการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่องพอลิเมอร์ โดยการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นฐาน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า ผลสัมฤทธิ์หลังการจัดกิจกรรมสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรม และทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลังการจัดกิจกรรมสูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรม และสอดคล้องกับณัฐกฤตา ดุลวิทย์ (2554) ได้ศึกษาผลการจัดการเรียนรู้วิชาเคมีพื้นฐาน ในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และผลจากการพัฒนาโครงงานของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากการพัฒนาโครงงานด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนว Constructivism พบว่า นักเรียนที่ได้รับการจัดกิจกรรมพัฒนาโครงงานด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ตามแนว Constructivism มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และนักเรียนมีคะแนนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน รวมทั้งผลการวิจัยของมารียะห์ มะเซ็ง (2555) ได้ศึกษาผลการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และคะแนนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน และ Mason (1991) ได้ศึกษาประสิทธิภาพของโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ครูเป็นผู้เริ่มและนักเรียนเป็นผู้เริ่ม พบว่า โครงงานที่ครูเป็นผู้กำหนดให้นักเรียนทำมีความสำเร็จและสมบูรณ์มากกว่าโครงงานที่นักเรียนเลือกทำเอง และพบว่าโครงงานวิทยาศาสตร์ที่เป็นปัญหาปลายเปิดส่งเสริมการพัฒนาความคิดได้ดีแต่ต้องอาศัยความสามารถทางสติปัญญา ซึ่งสอดคล้องกับ Wahl (2003) ได้ศึกษาเพื่อพัฒนาโครงงานรูปแบบการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์เบื้องต้น พบว่า นักเรียนชอบทำโครงงานที่ครูมอบหมายได้สำเร็จสมบูรณ์ดีกว่าโครงงานที่เลือกเอง
จากการศึกษาขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานของนักการศึกษาหลายท่าน พบว่ามีขั้นตอนที่สอดคล้องกันคือ ขั้นตั้งปัญหา ขั้นวางแผนและเขียนเค้าโครง ขั้นดำเนินการ ขั้นประเมินผล ผู้วิจัยจึงได้แบ่งลำดับขั้นของการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานในการวิจัยครั้งนี้ออกเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ขั้นสำรวจปัญหา 2) ขั้นรวบรวมข้อมูล 3) ขั้นวางแผนดำเนินการ 4) ขั้นดำเนินการ และ 5) ขั้นนำเสนอผลงาน
การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้เป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่มีการพัฒนาขึ้นตามทฤษฎี constructivism ซึ่งเป็นกระบวนการที่นักเรียนจะต้องสืบค้น เสาะหา สำรวจ ตรวจสอบ และค้นคว้าด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจและเกิดการรับรู้นั้นอย่างมีความหมายจึงจะสามารถสร้างเป็นองค์ความรู้ของนักเรียนเองและเก็บเป็นข้อมูลไว้ในสมองได้อย่างยาวนาน สามารถนำมาใช้ได้เมื่อมีสถานการณ์ใดๆ มาเผชิญหน้า (ทิศนา แขมมณี. 2553 : 141) การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้เป็นวิธีการสอนที่ฝึกให้นักเรียนรู้จักค้นหาความรู้ด้วยตนเอง โดยผู้สอนตั้งคำถามประเภทกระตุ้นให้นักเรียนใช้ความคิดหาวิธีการแก้ปัญหาได้เองและสามารถนำการแก้ปัญหามาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
การจัดการเรียนการสอน 7E เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้
โดย Eisenkraft ได้ปรับปรุงและพัฒนาขึ้นจากรูปแบบของวงจรการเรียนรู้แบบ 5E ซึ่งมี 5 ขั้นตอนมาเป็น 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1) ขั้นตรวจสอบความรู้เดิม 2) ขั้นสร้างความสนใจ 3) ขั้นสำรวจและค้นหา 4) ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป 5) ขั้นขยายความรู้ 6) ขั้นประเมินผล 7) ขั้นนำความรู้ไปใช้ โดยให้เหตุผลว่าขั้นตอนของวงจรการเรียนรู้แบบ 5E เป็นขั้นที่ยังไม่ต่อเนื่อง จึงเพิ่มขั้นตอนของวงจรการเรียนรู้อีก 2 ขั้น คือขั้นตรวจสอบความรู้เดิมและขั้นนำความรู้ไปใช้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ใช้การจัดการเรียนการสอน 7E จะทำให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ได้สมบูรณ์ ช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น และมีแนวคิดที่ผิดพลาดน้อยลง จากการศึกษาพบว่าการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การจัดการเรียนการสอน 7E เป็นการจัดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งที่เน้นให้นักเรียนใช้วิธีการสืบเสาะหาความรู้ โดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ของนักเรียนให้สูงขึ้น เพราะเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ของนักเรียนเอง สามารถเก็บเป็นข้อมูลไว้ในสมองได้อย่างยาวนาน และนำมาใช้ได้เมื่อมีสถานการณ์ใดๆ มาเผชิญหน้า
จากปัญหาและแนวคิดดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะ พัฒนาชุดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการทดลองตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เรื่อง ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยโครงงงาน (Project Based Learning) ร่วมกับหลักการเรียนรู้แบบสืบเสาะ 7E วิชาวิทยาศาสตร์ 6 ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนนิคมพิมายศึกษา
วิธีการดำเนินการให้บรรลุผล
1. วิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2561) และหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนนิคมพิมายศึกษา ในเรื่องมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด จัดทำคำอธิบายรายวิชา
เพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม
2. ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบการสอน กระบวนการโครงงงาน (Project Based Learning) และกระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะ 7E
3. ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบสืบเสาะ 7E มาออกแบบขั้นตอนการเรียนรู้ในเนื้อหาสาระการเรียนรู้ หลักการ/ทฤษฎี ที่เอื้อและง่ายต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน นำไปสู่ความคิดรวบยอด ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ จัดทำ Course Syllabus และแผนการจัดการเรียนรู้ โดยให้สอดคล้องกับการพัฒนารูปแบบการสอน กระบวนการโครงงงาน (Project Based Learning)
4. จัดทำแบบฝึกทักษะ แบบทดสอบและออกแบบเครื่องมือวัดและประเมินผลผู้เรียนตามหน่วยการเรียนรู้ และสอดคล้องกับการพัฒนารูปแบบการสอน กระบวนการโครงงงาน (Project Based Learning)
5. ให้ผู้เชี่ยวชาญ ช่วยกันตรวจสอบ พร้อมทั้งเสนอแนะ เพื่อปรับปรุงแก้ไข
6. ปรับปรุง แก้ไขตามคำแนะนำ
7. นำไปใช้กับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
8. บันทึกผลการเรียนรู้ของนักเรียน และสะท้อนผลการเรียนรู้ โดยจัดป้ายนิเทศ หรือนิทรรศการ และการจัดประกวดโครงงานในเวทีประกวดต่าง ๆ
9. รายงานผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และนำผลมาพัฒนาต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
ผลลัพธ์การพัฒนาที่คาดหวัง
1. เชิงปริมาณ
1.1 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สูงกว่าเกณฑ์ที่
กำหนด
1.2 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีทักษะการทดลองตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้น 1.3 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีคะแนนเฉลี่ยการทดสอบ O-Net สูงกว่าระดับประเทศ และผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด
1.4 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อการพัฒนารูปแบบการสอน กระบวนการโครงงงาน (Project Based Learning) อยู่ในระดับ มากขึ้นไป
2. เชิงคุณภาพ
2.1 นักเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้สร้างสรรค์ผลงานได้
2.2 นักเรียนได้แสดงผลงานในระดับโรงเรียน เขตพื้นที่ ระดับภาคและระดับชาติ
2.3 นักเรียนได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติ จากทุกภาคส่วน