ความสำคัญของการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
จากข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหนองพอกวิทยายน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 1 ปีการศึกษา 2566 ค่าเฉลี่ยของคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 69.11 ไม่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ค่าเฉลี่ยร้อยละ 75.00 และจากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2566 ของวิชาวิทยาศาสตร์ พบว่าในระดับสถานศึกษาโรงเรียนหนองพอกวิทยายน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 1 มีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 35.00 โดยมาตรฐาน ว3.2 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าสาระอื่น ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และนำเทคนิคใหม่ ๆ มาพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้ดียิ่งขึ้น ผู้วิจัยศึกษา ค้นคว้า และพบว่าการนำเสนอเนื้อหาในรูปของ ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เป็นอีกทางเลือกที่จะพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น ซึ่งชุดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นนวัตกรรม ทางการศึกษาอย่างหนึ่งที่มีลักษณะเป็นสื่อประสม จัดขึ้นสำหรับหน่วยการเรียนตามหัวข้อเนื้อหาที่ต้องการ จะให้นักเรียนได้รับความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้สอนเกิดความมั่นใจในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และช่วยให้นักเรียนกับผู้สอนมีโอกาสปฏิบัติกิจกรรมร่วมกัน เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนที่ตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนมีอิสระในการเรียนตามความสามารถและความสนใจ โดยมีครูคอยแนะนำช่วยเหลือ ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ วิธีการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ใช้เหตุผลในการวางแผนอย่างมีระบบได้อย่างเหมาะสม จากใบความรู้ กิจกรรม แบบฝึกหัด และแบบทดสอบ ตลอดจน สื่อต่าง ๆ ที่ครูผู้สอนเตรียมไว้อย่างมีระบบ แล้วยังทำให้นักเรียนสามารถทราบผลการปฏิบัติกิจกรรมนั้น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่เกิดความเบื่อหน่ายต่อการเรียน ดังนั้น ผู้วิจัยจึงพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง สารอาหาร
2. จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
2.1 จุดประสงค์
เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง สารอาหาร
2.2 เป้าหมายของการดำเนินงาน
การจัดการเรียนการสอนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง สารอาหาร สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ สามารถพัฒนาให้ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้สูงขึ้น
3. ขั้นตอนการดําเนินงาน
1) ประชากรคือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหนองพอกวิทยายน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 16 คน
2) เครื่องมือที่ใช้
2.1 แผนจัดการจัดการเรียนรู้เรื่อง สารอาหาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 3 แผน
2.2 แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน 10 ข้อ
2.3 ชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง สารอาหาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
3) ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย
3.1 ให้นักเรียนทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน
3.2 ดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแผนจัดการเรียนรู้
3.3 ให้นักเรียนทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน
3.4 วิเคราะห์คะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย
4. ผลการดำเนินงาน/ประโยชนที่ได้รับ
จากการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่อง สารอาหาร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พบว่านักเรียน จำนวน 16 คน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น โดยคะแนนก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ย 4.25 คิดเป็นร้อยละ 42.50 คะแนนหลังเรียนมีค่าเฉลี่ย 8.00 คิดเป็นร้อยละ 80.00 คะแนนที่เพิ่มขึ้นมีค่าเฉลี่ย 3.75 คิดเป็นร้อยละ 37.50