บทสรุปผู้บริหาร
ชื่อผลงาน : รูปแบบการนิเทศเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม 5CO+QLC MODEL ผู้รายงาน : นายเถกิงศักดิ์ ชะนะทอง ตำแหน่ง : รองผู้อำนวยการโรงเรียนโยธินบำรุง
สถานศึกษา : โรงเรียนโยธินบำรุง สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราช
ปีที่ประเมิน : ประจำปี 2567
บทสรุปผู้บริหาร
รายงานวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เรื่อง รูปแบบการนิเทศเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม 5CO+QLC MODEL ของโรงเรียนโยธินบำรุง สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครศรีธรรมราชมี มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อให้โรงเรียนพัฒนารูปแบบและจัดกระบวนการนิเทศ ติดตามและประเมินผลภายในโรงเรียนได้อย่างเป็นระบบ มีความเข้มแข็ง 2. เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูให้มีคุณภาพ 3. เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนให้สูงขึ้น กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้บริหาร และครูบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนโยธินบำรุง จำนวน 94 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
ผลการรายงานพบว่า
1. ผลการประเมินความพึงพอใจของครูผู้สอนต่อรูปแบบการนิเทศเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม 5CO+QLC MODEL โดยภาพรวมครูผู้สอนมีความเห็นว่า มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
2. ผลการใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม 5CO+QLC MODEL พบว่าผลการนิเทศเป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูให้มีคุณภาพของครูผู้สอน ด้วยการสังเกตการสอน พบว่า ผลการประเมินด้านแผนการจัดการเรียนรู้ ด้านการนำเข้าสู่บทเรียน ด้านการสอน ด้านการวัดและการประเมินผล และด้านบุคลิกภาพ มีการปฏิบัติในระดับดีมาก โดยด้านบุคลิกภาพ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (x = 4.93) โดยครูจำนวน 87 คน คิดเป็นร้อยละ 93.54 ได้รับการประเมินในระดับดีมาก รองลงมาคือ ด้านการดำเนินการสอนออนไลน์ มีค่าเฉลี่ย (x = 4.90) โดยครูจำนวน 76 คน คิดเป็นร้อยละ 81.72 ได้รับการประเมินในระดับดีมาก ด้านที่น้อยที่สุดคือ ด้านการนำเข้าสู่บทเรียน มีค่าเฉลี่ย (x = 4.67) โดยครูจำนวน 64 คน คิดเป็นร้อยละ 68.81 ได้รับการประเมินในระดับดีมาก
3. ผลการใช้รูปแบบการนิเทศเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม 5CO+QLC MODEL พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของปีการศึกษา 2566 ระดับผลการเรียน 2.5 ขึ้นไป ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้สูงขึ้น และค่าเฉลี่ยรวมของโรงเรียนสูงขึ้น กว่าปีการศึกษา 2565