โครงร่างงานวิจัยในชั้นเรียน
เรื่อง การพัฒนาทักษะการอ่านออกเสียงในระบบเสียงภาษาจีน โดยใช้ชุดแบบฝึกเสริมทักษะสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
1. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
สาธารณรัฐประชาชนจีนมีบทบาทและมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก และมีแนวโน้มที่จะขยายบทบาทในประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศจีนกำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อการค้า การลงทุนในอนาคต และส่งผลให้ภาษาจีนกลายเป็นภาษาที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่เรียนภาษาจีนเพิ่มเติมเป็นภาษาที่สามนอกจากภาษาอังกฤษ
กระทรวงศึกษาธิการได้เล็งเห็นความสำคัญของภาษาต่างประเทศ จึงได้กำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศไว้ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาอย่างชัดเจน และมิได้เน้นเพียงภาษาอังกฤษเท่านั้น ภาษาต่างประเทศอื่นๆ ก็สามารถเลือกจัดการเรียนรู้ได้ตามความเหมาะสม (กระทรวงศึกษาธิการ, 2551) กระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนด้วยมาตรการต่าง ๆ ในแต่ละระดับการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันให้แก่คนไทยในการสื่อสารบนเวทีระหว่างประเทศ ทั้งด้านการค้าการลงทุน การทูต การท่องเที่ยว และการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้มีการเปิดสอนวิชาภาษาจีนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษากันอย่างกว้างขวาง
การเรียนภาษาจีนให้ได้ผลดีนั้น ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ทักษะทั้ง 4 ด้านคือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน โดยเฉพาะทักษะด้านการอ่าน เป็นทักษะสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนภาษาจีนในระดับเบื้องต้น เพื่อใช้ในการสื่อสารและการเรียนรู้ในทักษะด้านอื่นๆ จากประสบการณ์ในการสอน การสังเกตพฤติกรรมการเรียน และการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านออกเสียงของนักเรียนที่ผ่านมา ผู้วิจัยพบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านออกเสียงของนักเรียนอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการอ่านออกเสียงพยัญชนะ สระ และการผันเสียงวรรณยุกต์ในภาษาจีนที่นักเรียนส่วนมากมีปัญหาในการอ่านออกเสียง และไม่สามารถแยกแยะการออกเสียงได้ อาจเนื่องจากนักเรียนขาดความสนใจ การอ่านภาษาจีนกลางเป็นสิ่งที่ยากต่อการออกเสียง การใช้กิจกรรมในการส่งเสริมการอ่านไม่น่าสนใจ และคิดว่าภาษาจีนเป็นภาษาที่ยาก ผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงความจำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาทักษะการอ่านภาษาจีนโดยใช้แบบวัดประเมินการอ่านการอ่านออกเสียงภาษาจีนกลางและแบบทดสอบ
2. วัตถุประสงค์ของงานวิจัย
2.1 เพื่อพัฒนาการอ่านออกเสียงในระบบเสียงภาษาจีน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
2.2 เพื่อเปรียบเทียบการอ่านออกเสียงในระบบเสียงภาษาจีน โดยใช้กิจกรรมเสริมบทเรียนแบบก่อน
เรียนและหลังเรียน
3. สมมติฐานของงานวิจัย (ถ้ามี)
4. ขอบเขตของงานวิจัย
4.1 ประชากร
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนหนองเสือวิทยาคม
4.2 กลุ่มตัวอย่าง
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนหนองเสือวิทยาคม นักเรียนแผนการเรียนภาษาจีน จำนวน 70 คน
4.3 ตัวแปรที่ศึกษา
ตัวแปรต้น ได้แก่
- แบบประเมินการอ่านออกเสียงในระบบเสียงภาษาจีน
- แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
ตัวแปรตาม ได้แก่
- ผลการพัฒนาการอ่านออกเสียงในระบบเสียงภาษาจีน
- ผลการทดสอบผลความสามารถในการอ่านออกเสียงภาษาจีนกลางของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน
4.4 ระยะเวลาในการดำเนินงาน
วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 14 มิถุนายน 2567 จำนวน 4 สัปดาห์
(สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง รวม 8 ชั่วโมง)
4.5 เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานวิจัย
- แบบประเมินการอ่านออกเสียงในระบบเสียงภาษาจีน
- แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
4.6 ขอบเขตเนื้อหาสาระ
ในการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจใช้แบบประเมินการอ่านออกเสียงในระบบเสียงภาษาจีนและแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนเป็นเครื่องมือหลักในการเก็บรวบรวม ข้อมูล ประกอบด้วยเนื้อหาในรายวิชาภาษาจีน
4.7 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล (ถ้ามี)
5. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. นักเรียนสามารถทำแบบประเมินการอ่านออกเสียงในระบบเสียงภาษาจีนและแบบทดสอบก่อน
เรียนและหลังเรียน ที่สอดคล้องกับบทเรียนได้อย่างถูกต้อง
2. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียน ด้านการอ่านออกเสียงในระบบเสียงภาษาจีนกลางหลังเรียนมากกว่าก่อนเรียน