ชื่อวิจัย: การพัฒนาการจัดประสบการณ์การเรียนรู้จากประสบการณ์ (ETC Cycle) โดยใช้หนังสือ
คำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปลายคลอง
ผู้วิจัย: นางสาวสุพิชฌาย์ ศรีเกตุ ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย
สถานที่ทำงาน: โรงเรียนบ้านปลายคลอง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง
ปีที่วิจัย: 15 กรกฎาคม 15 สิงหาคม 2567
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายของวิจัยได้แก่ 1) เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของหนังสือคำคล้องจอง ประกอบภาพเพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปลายคลอง 2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านคุณธรรมจริยธรรมของเด็กปฐมวัย ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปลายคลอง ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ 3)เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์ด้านคุณธรรมจริยธรรมของเด็กปฐมวัย ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปลายคลอง โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ชายและหญิง อายุ 5-6 ปี โรงเรียนบ้านปลายคลอง อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 จำนวน 10 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Custer Random Sampling) ดำเนินการจัดประสบการณ์เรียนรู้โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ จำนวน 1 สัปดาห์ ในกิจกรรมเสริมประสบการณ์สัปดาห์ละ 5 วันๆ ละ 20 นาที เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ 1)แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้จากประสบการณ์ (ETC Cycle) โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ เพื่อส่งเสริม คุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปลายคลอง (ELT) โดย ดร.เดวิด เอ. โคล์บ (Dr.David A. Kolb) นักทฤษฎีการศึกษา ผ่านวงจร 4 ขั้น ดังนี้ 1) ขั้นที่ 1 สร้างประสบการณ์ (Experiencing) 2) ขั้นที่ 2 ทบทวน (Reflecting) 3) ขั้นที่ 3 การคิด (Thinking) และ 4) ขั้นที่ 4 ลงมือทำ (Acting) 2)หนังสือคำคล้องจอง ประกอบภาพ เพื่อส่งเสริม คุณธรรมจริยธรรมของเยาวชน ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปลายคลอง โดยมีแบบแผนการทดลองใช้แบบ One Group Pre-test Post-test Design สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ (P) ค่าเฉลี่ย(x̄) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D) ร้อยละของความก้าวหน้า (D) และทดสอบสมมติฐานโดยใช้ค่าที (t-test Dependent Samples)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ประสิทธิภาพของหนังสือคำคล้องจองประกอบภาพเพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ของเยาวชน ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปลายคลอง เท่ากับ 85.55/80.00
2. ความสามารถด้านคุณธรรมจริยธรรมของเด็กปฐมวัย ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปลายคลอง หลังการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์โดยใช้หนังสือคำคล้องจอง ประกอบภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. ดัชนีประสิทธิผลของความสามารถด้านคุณธรรมจริยธรรมของเด็กปฐมวัย ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนบ้านปลายคลอง โดยใช้หนังสือคำคล้องจองประกอบภาพ มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.6429 แสดงว่า นักเรียนมีความก้าวหน้าด้านคุณธรรมจริยธรรมของเด็กปฐมวัยเพิ่มขึ้น 0.6429 หรือ คิดเป็นร้อยละ 64.29