ผลงานวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้านการนิเทศภายในสถานศึกษา ประจำปี ๒๕๖๗
ของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนวัดอ่าวช้างไล่ (สมเกตุประชาสรรค์) สพป.ฉะเชิงเทรา เขต ๒
ชื่อผลงาน การนิเทศการสอนโดยขับเคลื่อนกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC)
ด้วยกระบวนการนิเทศแบบ PIDRE ของโรงเรียนวัดอ่าวช้างไล่ (สมเกตุประชาสรรค์)
๑. ที่มาและความสำคัญ
โรงเรียนวัดอ่าวช้างไล่ (สมเกตุประชาสรรค์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาฉะเชิงเทรา เขต ๒ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาขนาดกลาง ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้น จำนวน ๕๘๓ คน (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๗) มีผู้บริหารสถานศึกษา ๒ คน โดยมี ดร.อัมพิกา สิริพรม เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน และนางสาวธัญญามาศ แดงสีดา เป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียน มีครูประจำการ ๒๕ คน ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ ๑ คน เจ้าหน้าที่ธุรการ ๑ คน และนักการภารโรง ๑ คน
สภาพปัญหาที่พบ คือ ๑) ปัญหาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน และ ๒) ปัญหาด้านบุคลากร จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่โรงเรียนจะต้องใช้การนิเทศภายในสถานศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อพัฒนาคุณภาพการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา พัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ของครู สู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
๒. เป้าหมาย
เชิงปริมาณ
๑) ครูโรงเรียนวัดอ่าวช้างไล่ (สมเกตุประชาสรรค์) ร้อยละ ๑๐๐ ได้รับการนิเทศการสอน อย่างน้อยภาคเรียนละ ๑ ครั้ง
๒) ครูโรงเรียนวัดอ่าวช้างไล่ (สมเกตุประชาสรรค์) ร้อยละ ๑๐๐ เข้าร่วมกิจกรรม PLC อย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง
เชิงคุณภาพ
๑) ผู้บริหารสถานศึกษามีการพัฒนาคุณภาพการบริหาร ด้านการนิเทศภายในสถานศึกษาให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
๒) ครูสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการนิเทศ ไปพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ได้ และได้รับการส่งเสริมให้แสดงผลงานที่เกิดจากวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice)
๓) นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น บรรลุตามค่าเป้าหมายของโรงเรียน และมีคุณภาพตามหลักสูตร โดยมีผลการประเมินมาตรฐานการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาตรฐานที่ ๑ คุณภาพผู้เรียน อยู่ในระดับคุณภาพ ดี ขึ้นไป
๓. กระบวนการหรือขั้นตอนการนิเทศภายในสถานศึกษา
ขั้นตอนที่ ๑ P Planning การวางแผนการนิเทศ
ขั้นตอนที่ ๒ I Informing การให้ความรู้ความเข้าใจ
ขั้นตอนที่ ๓ D Doing การลงมือปฏิบัติงาน
ขั้นตอนที่ ๔ R Reinforcing การสร้างขวัญและกำลังใจ
ขั้นตอนที่ ๕ E Evaluating การประเมินผล
๔. ประโยชน์ที่ได้รับ
๑) สถานศึกษา มีวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้านการนิเทศภายในสถานศึกษา
๒) ครู มีวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ด้านการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นผลจากการที่ได้รับการนิเทศอย่างสม่ำเสมอ
๓) นักเรียน มีผลลัพธ์การเรียนรู้ตามค่าเป้าหมายของโรงเรียน และมีคุณภาพตามหลักสูตร เป็นคนที่มีความสุข เป็นคนดี และเป็นคนเก่ง โดยมีผลงานของนักเรียนเป็นที่ประจักษ์
๕. ปัจจัยความสำเร็จ
๑) ปัจจัยด้านบุคลากร เมื่อบุคลากรทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ตามบทบาทหน้าที่อย่างเป็นระบบ ก็จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการสอนของครูและนักเรียน
๒) ปัจจัยด้านกระบวนการ กระบวนการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพนั้น จะช่วยให้การนิเทศภายในสถานศึกษาเป็นไปอย่างราบรื่นและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
๓) ปัจจัยด้านทรัพยากร หากมีทรัพยากรที่เพียงพอและเหมาะสม ก็จะช่วยสนับสนุนให้กระบวนการนิเทศภายในสถานศึกษาเป็นไปอย่างราบรื่น