ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - พ.ศ. 2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ได้กำหนดเป้าหมายให้คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ประกอบกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 12 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการต้องปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
โดยมุ่งพัฒนาเป้าหมายด้านผู้เรียนให้มีทักษะที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 1) ความสามารถในการสื่อสาร 2) ความสามารถในการคิด 3) ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต 4) ความสามารถในการแก้ปัญหา และ 5) ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และการตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 เห็นชอบการปรับแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษ
การปฏิรูปการเรียนรู้ ก็คือ การพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณสมบัติที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาด้านผู้เรียน การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายดังกล่าวได้ ผู้เรียนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีเรียนรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนวิธีสอนของครู โดยครูจำเป็นต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความแตกต่างของผู้เรียน โดยมีการบูรณาการผสมผสานสาระความรู้ด้านต่างๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุล และมีการฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ การฝึกปฏิบัติ ลงมือทำ และการประยุกต์ความรู้ไปใช้ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่ดีงาม และประสานความร่วมมือกับผู้ปกครองและชุมชน พัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาผ่านครอบครัว ระบบสถานศึกษา สภาพแวดล้อม รวมทั้งสื่อ เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
การจะบอกว่าเด็กคนหนึ่งฉลาดหรือมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ถ้าเรานำระดับสติปัญญาหรือไอคิวที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาเป็นมาตรวัด ก็อาจได้ผลเพียงเสี้ยวเดียว เพราะว่าวัดได้เพียงเรื่องของภาษาตรรกศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมิติสัมพันธ์เพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีความสามารถอีกหลายด้านที่แบบทดสอบในปัจจุบันไม่สามารถวัดได้ครอบคลุมถึง เช่น เรื่องของความสามารถทางดนตรี ความสามารถทางกีฬา และความสามารถทางศิลปะ เป็นต้น ศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner)นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เป็นผู้หนึ่งที่พยายามอธิบายให้เห็นถึงความสามารถที่หลากหลายโดยคิดเป็น "ทฤษฎีพหุปัญญา" (Theory of Multiple Intelligences) เสนอ แนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกันขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใดเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป พหุปัญญาตามแนวคิดของการ์ดเนอร์ ในปัจจุบันมีปัญญาอยู่อย่างน้อย 9 ด้าน
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ค้นพบและแสดงออกถึงศักยภาพของตนเอง ครูผู้สอนจึงควรมีข้อมูลของผู้เรียนเป็นรายบุคคลสำหรับใช้ในการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและนำไปพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสมกับความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน การดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ที่ต้องใช้ศักยภาพที่แตกต่างของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการประกอบอาชีพและช่วยเหลือสังคม ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามความสามารถที่แตกต่างระหว่างบุคคล คือได้ค้นพบและเพิ่มพูนศักยภาพที่แตกต่างระหว่างตนเองกับผู้อื่น อันนำไปสู่การทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งแก่สังคมและประเทศต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อประเทศชาติในอนาคตจึงจัดทำ "แนวทางการใช้แบบสำรวจแววความสามารถพิเศษ" เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับครูผู้สอนที่จะนำไปใช้ในการคัดกรอง วิเคราะห์ และวินิจฉัยผู้เรียนรายบุคคล โดยเนื้อหาของเอกสารประกอบด้วยหลักการ แนวคิด วิธีการแปลผลแบบสำรวจแววความสามารถพิเศษของผู้เรียน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ครูมีข้อมูลสำหรับนำไปออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม และตอบสนองความต้องการความถนัด ความสนใจ และวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งแววความสามารถพิเศษที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด ได้แก่ความสามารถพิเศษด้านภาษา ความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์ ความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ ความสามารถพิเศษด้านเครื่องกลและอิเล็กทรอนิกส์ ความสามารถพิเศษด้านศิลปะ/มิติสัมพันธ์ ความสามารถพิเศษด้านการได้ยิน ความสามารถพิเศษด้านการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและความสามารถพิเศษด้านสังคมและอารมณ์
โรงเรียนควนขนุนต้องการพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษดังกล่าว จึงมีการดำเนินงาน คัดกรองเพื่อพัฒนาพหุปัญญารายบุคคลโดยใช้การคัดกรองผ่านระบบสำรวจแววความสามารถพิเศษด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์จากสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) รวมทั้งการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมเสริมหลักสูตร โครงการ/โครงงานที่เสริมทักษะและความสามารถเพื่อพัฒนา พหุปัญญารายบุคคล ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ ความสามารถพิเศษด้านภาษา ความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์ ความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ ความสามารถพิเศษด้านเครื่องกลและอิเล็กทรอนิกส์ ความสามารถพิเศษด้านศิลปะ/มิติสัมพันธ์ ความสามารถพิเศษด้านการได้ยิน ความสามารถพิเศษด้านการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ และความสามารถพิเศษด้านสังคมและอารมณ์ เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพผู้เรียนตาม พหุปัญญาให้เต็มตามศักยภาพสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
ความสามารถพิเศษด้านสังคมและอารมณ์ คือการรับรู้เชิงสังคม การแสดงออกถึงภาวะผู้นํา ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม สร้างมิตรภาพได้ง่าย เจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้ง สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี เป็นปัญญาด้านที่จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน ซึ่งกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมพหุปัญญาด้านสังคมและอารมณ์ได้ เช่น ร่วมกันทำโครงงานกับเพื่อน จับคู่ทำกิจกรรมกับเพื่อน การสัมภาษณ์บุคคลอื่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน ปรึกษาหารือกับเพื่อน ซึ่งจะสามารถส่งเสริมความสามรถทางสังคมของผู้เรียนในเชิงรุก การดำเนินการมีลักษณะสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning : PBL) ที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์จากสภาพปัญหาที่อยู่รอบตัวและจากการริเริ่มตามความสนใจของผู้เรียนเป็นพื้นฐานจนนำมาสู่กระบวนการแสวงหาความรู้ การออกแบบแนวทางการแก้ไข การดำเนินการ การประเมินผลและสรุปผล การปรับปรุงแก้ไข และการนำเสนอโครงงาน กระบวนการดังกล่าวจึงสามารถพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ของผู้เรียนได้ในทุกด้านของการดำเนินการ (Thitavamso. 2016)
จากสารสนเทศดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลที่เกิดแรงบันดาลใจในการดำเนินการทำผลงานนวัตกรรม
การส่งเสริมพหุปัญญาด้านสังคมและอารมณ์ของผู้เรียนด้วย KHANUN Model โดยใช้โครงงานเป็นฐานเพื่อให้นักเรียนมีสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คือ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต ความสามารถในการแก้ปัญหา และ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งตรงกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 คือ เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21