บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านเดื่อวิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ ปีการศึกษา 2566 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินด้านสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) ของโครงการ 2) ประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ของโครงการ 3) ประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) ของโครงการ และ 4) ประเมินด้านผลผลิต (Output Evaluation) ของโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน ดังนี้ 1) ครูผู้สอน จำนวน 21 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) 2) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 7 คน กำหนดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) 3) นักเรียน กำหนดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโดยการคำนวณจากตารางสำเร็จรูปของ Krejcie and Morgan ที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Sample Random Sampling) ได้จำนวนนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 140 คน 4) ผู้ปกครองของนักเรียน โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Sample Random Sampling) ได้จำนวนผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมิน จำนวน 127 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์ ได้แก่ 1) ตัวแทนครูผู้สอน จำนวน 3 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง โดยเป็นครูผู้สอนระดับ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 1 คน และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 2 คน 2) ตัวแทนคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 3 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง โดยมีประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนศิษย์เก่า 3) ตัวแทนนักเรียน จำนวน 4 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง โดยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 2 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 2 คน 4) ตัวแทนผู้ปกครอง จำนวน 4 คน เป็นผู้ปกครองของนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ และแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการประเมินพบว่า
1. ด้านสภาพแวดล้อม (Context) พบว่า ครูผู้สอนและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเห็นว่าสภาพแวดล้อมของโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านเดื่อวิทยาคม โดยรวมผ่านเกณฑ์ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) พบว่า ครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความเห็นว่าปัจจัยในการดำเนินงานตามโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนบ้านเดื่อวิทยาคม โดยรวมผ่านเกณฑ์ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก
3. ด้านกระบวนการ (Process) พบว่า ความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ในขั้นการวางแผนการดำเนินงานตามความคิดเห็นของครูผู้สอน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยรวมผ่านเกณฑ์อยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิต (Output) สรุปผลการประเมินได้ดังนี้
4.1 การประเมินผลการพัฒนาการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 5 ขั้นตอน ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน โดยรวมผ่านเกณฑ์อยู่ในระดับมาก
4.2 การประเมินผลประเมินผลการพัฒนาการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ด้านคุณภาพผู้เรียน ตามความคิดเห็นของครูผู้สอน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียนโดยรวมผ่านเกณฑ์อยู่ในระดับมาก
4.3 ผลการประเมินความพึงพอใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน พบว่า ครูผู้สอน นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับความพึงพอใจ โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์ อยู่ในระดับมาก