ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานให้กับ
ผู้เรียนในการพัฒนาตนเอง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเขาฉกรรจ์
จังหวัดสระแก้ว
ผู้วิจัย นางสาววิรชา อินทร์สุข
ปี พ.ศ. 2566
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการรูปแบบการบริหารเพื่อจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานให้กับผู้เรียนในการพัฒนาตนเอง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานให้กับผู้เรียนในการพัฒนาตนเอง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว 3) เพื่อศึกษาผลการใช้รูปแบบการบริหารเพื่อจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานให้กับผู้เรียนในการพัฒนาตนเอง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว 4) เพื่อประเมินและปรับปรุงรูปแบบการบริหารเพื่อจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานให้กับผู้เรียนในการพัฒนาตนเอง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้วการวิจัยมี 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1: การศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ระยะที่ 2: การออกแบบ (ร่าง) รูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงาน ระยะที่ 3: การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานให้ผู้เรียนพัฒนาตนเอง และ ระยะที่ 4: การยืนยันรูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงาน เครื่องมือที่ใช้แบบสัมภาษณ์และแบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่น .97 และ .87 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า
1. จากการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ที่ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง การประชุมร่วมกับครูและบุคลากร ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว จำนวน 15 คน และการสัมภาษณ์ครูผู้สอนโครงงาน จำนวน 8 คน สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูล คือ 1) ผู้บริหารใช้กระบวนการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงาน ในรูปแบบ ผู้บริหารและครูร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ผ่านโครงงาน ผู้เรียนเริ่มดำเนินการตามแผนโครงงาน โดยครูมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา ผู้บริหารและครูติดตามความก้าวหน้า ประเมินผล เมื่อพบปัญหาหรือข้อบกพร่องในขั้นตอนการดำเนินงาน ผู้บริหารและครูร่วมกันหาวิธีการปรับปรุงและแก้ไขเพื่อให้การดำเนินงานในครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2) สิ่งที่ควรเพิ่มเติมในการบริหารการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานคือ การให้ครูได้รับการฝึกอบรม แลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้วิธีการสอนแบบโครงงาน เทคนิคการให้คำปรึกษา และการใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ ที่สนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การให้มีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อจัดการข้อมูลโครงงาน การติดตามความก้าวหน้า และการประเมินผลที่ครอบคลุม ควรนำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงงาน ให้มีการเพิ่มรางวัลเข้าไปนอกเหนือจากเกียรติบัตร เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง มีการพัฒนาทักษะการค้นคว้าและวิจัย การพัฒนาทักษะการวางแผนและการจัดการเวลา การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
2. การออกแบบ (ร่าง) รูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงาน เป็นการประชุมร่วมครูผู้สอนโครงงาน จำนวน 8 คน ได้กรอบแนวคิดว่าการพัฒนารูปแบบการบริหารเพื่อจัดการเรียนรู้ โดยใช้โครงงานเป็นฐานให้กับผู้เรียนในการพัฒนาตนเอง 1) ต้องมีการบริหารแบบให้ครูและบุคลากรมีส่วนร่วมเพื่อความเห็นชอบและร่วมกันในการวางแผนจัดการเรียนรู้ โดยใช้โครงงานเป็นฐาน 2) ต้องมีการสร้างความรู้ ความเข้าใจและศึกษาข้อมูลพื้นฐานของบริบทพื้นที่แต่ละตำบล 3) ต้องมีการดำเนินงานและร่างแผนงานการจัดการเรียนรู้ โดยใช้โครงงานเป็นฐานให้กับผู้เรียนในการพัฒนาตนเอง 4) ต้องมีการการติดตามและการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ โดยใช้โครงงานเป็นฐานให้กับผู้เรียนในการพัฒนาตนเอง และ 5) ต้องมีการสรุปผลการดำเนินงานโดยเป็นรายงานและการนำเสนอ และได้ร่างรูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงาน คือ การบริหารที่มีขั้นตอนการดำเนินงานตาม PEDES MODEL
3. การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานให้ผู้เรียนพัฒนาตนเอง ซึ่งจะเป็นการศึกษาความคิดเห็นของผู้เรียนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน ผู้วิจัยใช้การศึกษาเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายกลุ่มตัวอย่าง ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 จำนวน 136 คน พบว่า ผู้เรียนที่เป็นผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุ 26 ปี ขึ้นไป รองลงมาคืออายุไม่เกิน 25 ปี และระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้น รองลงมีระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งผู้เรียนมีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้โดยการใช้โครงงานเป็นฐานในการพัฒนาตนเอง โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด รายด้านที่มีค่าเฉลี่ยอันดับแรก คือ ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยโครงงาน อยู่ในระดับมากที่สุด รายด้านที่มีค่าเฉลี่ยรองลงมา คือ ผู้เรียนมีการพัฒนาตนเอง อยู่ในระดับมากที่สุด ผู้เรียนมีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้โดยการใช้โครงงานเป็นฐานในการพัฒนาตนเอง ที่มีค่าเฉลี่ย 3 อันดับแรก อยู่ในระดับมากที่สุด คือ ผู้สอนสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกที่ดีต่อการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานเป็นฐาน ผู้สอนให้มีการนำเสนอผลการเรียนรู้ โดยผู้สอนได้ออกแบบกิจกรรมหรือจัดเวลาให้ผู้เรียนได้เสนอสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้และที่ผู้เรียนปฏิบัติในการทำโครงงาน และผู้สอนให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมเขียนสรุปรายงานผลที่เกิดขึ้นจากการวางแผนร่วมกัน
4. การยืนยันรูปแบบการบริหารจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงาน เป็นการสัมภาษณ์ครูผู้สอนโครงงาน จำนวน 5 คน และผู้เรียนที่ทำให้โครงงานได้รับการยอมรับและเป็นผลงานที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ เขาฉกรรจ์ จำนวน 4 คน พบว่า ครูผู้ให้ข้อมูลหลักคิดว่า PEDES MODEL เป็นรูปแบบการบริหารที่มีความเป็นไปได้ มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ที่ทำให้การจัดการเรียนรู้ ส่วนผู้เรียนคิดเห็นว่าการเรียนรู้ผ่านโครงงานที่เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่ต้นทางและมีโอกาสได้พัฒนาตนเอง เริ่มจากห้องเรียน ได้วางแผนร่วมกัน ลงพื้นที่จริง ลงมือทำ ทดลองใช้ชิ้นโครงงาน ตลอดจนนำชิ้นงานเสนอจนได้รับโอกาสไปต่อระดับประเทศ มีโอกาสได้นำเสนอผลงานได้พัฒนาตนเองในการพูด และได้เห็นหลายๆ โครงงานหลายๆ จังหวัด เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาตัวเอง และชุมชน ดังนั้นการบริหารจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐานให้กับผู้เรียนในการพัฒนาตนเอง และทำให้โครงงานได้รับการยอมรับและเป็นผลงานที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเขาฉกรรจ์