ชื่อรายงาน การพัฒนาชุดฝึกทักษะกีฬาฟุตซอลขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาทักษะด้านกีฬาฟุตซอล ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา
ชื่อผู้ศึกษา นายวีรวิชญ์ เขมะรัง
ปีที่รายงาน 2567
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างและพัฒนาชุดฝึกทักษะกีฬาฟุตซอลขั้นพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของชุดฝึกทักษะกีฬาฟุตซอลขั้นพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่สร้างและพัฒนาขึ้น 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียน ของการเรียนการสอนด้วยชุดฝึกทักษะกีฬาฟุตซอลขั้นพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อการจัดการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะกีฬา ฟุตซอลขั้นพื้นฐาน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนชุมชนบ้านนากอกหนองบก อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) จำนวน 1 ห้อง มีนักเรียน 19 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย 1) ชุดฝึกทักษะกีฬาฟุตซอลขั้นพื้นฐาน 2) แผนการจัดการเรียนรู้กีฬาฟุตซอลขั้นพื้นฐาน 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนต่อการจัดการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะกีฬาฟุตซอล สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลทดสอบค่า t (t-test) หาค่าเฉลี่ย (x̄ ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ชุดฝึกทักษะกีฬาฟุตซอลขั้นพื้นฐาน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 85.23/87.25 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. นักเรียนที่เรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะกีฬาฟุตซอลขั้นพื้นฐาน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่สร้างและพัฒนาขึ้น มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.7616 แสดงว่า นักเรียน มีความก้าวหน้าทางการเรียนหลังการจัดเรียนรู้สูงขึ้นร้อยละ 76.16
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะกีฬาฟุตซอลขั้นพื้นฐาน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. ความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะกีฬาฟุตซอลขั้นพื้นฐาน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ( x̄= 4.77, S.D. = 0.13)