ชื่อเรื่อง รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน โรงเรียนเทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) สังกัดเทศบาลนคร
สมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
ผู้วิจัย นายอภิเชษฐ แนวพญา
ปีการศึกษา 2566
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน โรงเรียนเทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน 2) เพื่อออกแบบและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน ให้มีประสิทธิภาพ 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน และ 4) เพื่อประเมินประสิทธิผลของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน โรงเรียนเทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) สังกัดเทศบาลนครสมุทรสาคร กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในวิจัยประกอบด้วย ครูและนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) สังกัดเทศบาลนครสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ในปีการศึกษา 2566 แบ่งเป็นครูผู้สอน จำนวน 46 คน และนักเรียน จำนวน 1,021 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย คู่มือการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน แผนการพัฒนาครู แบบทดสอบความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning แบบประเมินหน่วยการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้ แบบประเมินงานวิจัยและการวิจัยในชั้นเรียน แบบสังเกตการสอน แบบประเมินตนเอง แบบประเมินทักษะการคิด การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) สถิติทดสอบค่าที (t-test) แบบ Dependent และวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนโดยการสังเคราะห์จากเอกสารและสัมภาษณ์ พบว่า การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ครูสามารถรู้จุดที่ตัวเองต้องปรับปรุงแก้ไขและเข้าใจ ความต้องการของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น ในส่วนทฤษฎีเกี่ยวกับการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครู พบว่า การที่จะพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูให้ประสบผลสำเร็จต้องอาศัยทฤษฎีทางการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน จากการสนทนากลุ่ม พบว่า โรงเรียนมีการกำหนดนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หลังจากผ่านการให้คำแนะนำโดยนักวิชาการ และทางโรงเรียนมีการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning มีการใช้นวัตกรรมที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ แต่ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการโดยไม่ได้ผ่านการศึกษาวิจัยที่เป็นระบบ เป็นขั้นตอน ผลการการสัมภาษณ์รองผู้อำนวยการ และหัวหน้าฝ่ายบริหารวิชาการ โรงเรียนเทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) พบว่า ด้านการกำหนดนโยบายกลยุทธ์หรือแผนงาน มีการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยการเร่งปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการเรียนการสอน การทดสอบ/การวัดและประเมินผลผู้เรียน และมีการปฏิรูปครูให้มีความรู้ความสามารถในการสอน เพิ่มเติมกลยุทธ์ในการจัดการเรียนรู้ ผลจากการดำเนินการให้ครูจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning มีจุดที่ต้องพัฒนา คือ รูปแบบ เทคนิค วิธีการสอนให้กับครู กลยุทธ์ของโรงเรียนเทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) ใช้เทคนิควิธีการโดยให้ครูที่มีประสบการณ์ หรือมีความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและเทคนิควิธีการเพื่อนช่วยเพื่อน การจัดคู่บัดดี้มาช่วยในการให้คำปรึกษาชี้แนะและเป็นพี่เลี้ยง รวมถึงการนิเทศติดตามครูใหม่ที่ได้รับการฝึกฝนแล้ว
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน พบว่า รูปแบบ 8 STEP เป็นรูปแบบที่มีหลักการ วัตถุประสงค์ เงื่อนไขสู่ความสำเร็จ รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนที่พัฒนาขึ้น มีขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ขั้นที่ 2 บริหารจัดการข้อมูล ขั้นที่ 3 วางแผนกำหนดเป้าหมาย ขั้นที่ 4 สร้างเครือข่ายข้อมูลปฏิบัติการ ขั้นที่ 5 บูรณาการวิธีการสอนแบบ Active Learning ขั้นที่ 6 เชี่ยวชาญการวัดและประเมินผล ขั้นที่ 7 สะท้อนผลการจัดการเรียนรู้สู่งานวิจัย ขั้นที่ 8 ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม รายงานและขยายผล ซึ่งรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน โรงเรียนเทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) สังกัดเทศบาลนครสมุทรสาครนั้นมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ โดยการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญอยู่ในระดับมาก
3. ผลการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน โรงเรียนเทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) พบว่า หลังการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สมรรถนะการสอนของครูในด้านการวิเคราะห์ผู้เรียนอยู่ในระดับดีมาก ด้านการออกแบบหน่วยการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับดีมาก ด้านการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยอยู่ในระดับดี ด้านการวัดและประเมินผลอยู่ในระดับมากที่สุด นักเรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์อยู่ในระดับดีมาก
4. ผลการประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียน โรงเรียนเทศบาลวัดช่องลม (เปี่ยมวิทยาคม) พบว่า การพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อครูและนักเรียนเป็นอย่างดียิ่ง ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสามารถทำงานเป็นทีม คิดวิเคราะห์ คิดแก้ปัญญาได้อย่างเป็นระบบ ครูสามารถวิเคราะห์ผู้เรียน สามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้/แผนการจัดการเรียนรู้ สามารถกำหนดกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ตลอดจนพัฒนางานประจำให้เป็นกระบวนการวิจัย จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริงและยังสามารถสรุปองค์ความรู้หรือความคิดรวบยอดได้ด้วยตนเอง รวมถึงการเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์