1. ความสำคัญของผลงานหรือนวัตกรรมที่นำเสนอ
ปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสำคัญและเข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตมนุษย์มากขึ้น ทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป มนุษย์จำเป็นต้องมีความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเพื่อปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงและสามารถคิดแก้ปัญหาได้ ในช่วง 4 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากความล้มเหลวในการพัฒนาตามกระแสโลก ส่งผลให้เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ที่เห็นได้ชัดคือในปี 2540 การพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งจะให้ประเทศไทยเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหม่นั้น ได้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมและคุณภาพชีวิต เป็นอย่างมาก จากความผิดพลาดในนโยบายการบริหารประเทศ ที่ไม่ได้มองถึงสิ่งแวดล้อมเป็นองค์รวม แต่ทำให้คนส่วนหนึ่งในภาคธุรกิจหวนกลับคืนสู่สังคมชนบทดั้งเดิม กลับไปสู่สังคมเกษตรกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงและเป็นกระดูกสันหลังของเมืองไทยมาโดยตลอด และการพัฒนาบางส่วนก็ได้ใช้รูปแบบในการพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในระบบ เศรษฐกิจพอเพียง โดยพระองค์ท่านได้ทางทดลองปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จ เป็น ทฤษฎีเกษตรแบบพอเพียง และทรงชี้แนะแนวทางการปฏิบัติในการใช้ชีวิตและการบริหารงาน ตามแนว เศรษฐกิจพอเพียง ระบบเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นระบบหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (วัชรินทร์ เสนาะเสียง,2548)
การปลูกฝังความรู้ความเข้าใจและความตระหนักถึงการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงการดำรงชีวิตก็เป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ระบุเป้าหมายการพัฒนาเด็ก เยาวชน และพลเมืองของประเทศ ให้เป็นผู้ 1. มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเอง มีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งได้ระบุคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่จำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลกไว้ 8 ประการ ได้แก่ การมีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ นอกจากนั้นยังได้ระบุสมรรถนะสำคัญที่ผู้เรียนควรได้รับการพัฒนาไว้อีก 5 ประการ คือความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี จากจุดหมาย คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสมรรถนะสำคัญที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 จะเห็นได้ว่า หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกบูรณาการในสมรรถนะและคุณลักษณะอันถึงประสงค์ของการศึกษาของประเทศไทยเพื่อกำหนดให้เป็นสาระสำคัญและทักษะที่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้และบรรลุ (ทิศนา แขมมณี, 2559: 15)
โรงเรียนบ้านหนองมะแซว เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2494 ที่บ้านหนองมะแซว หมู่ที่ 8 ตำบลดูน อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ มีหมู่บ้านในเขตบริการที่ส่งบุตรหลานเข้าเรียน 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองมะแซว บ้านหนองปลากุ่ม และบ้านอีปุ้ง มีที่ดินเป็นที่ก่อสร้างอาคารเรียน จำนวน 6 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา การจัดการศึกษาโดยเปิดสอนชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหนองมะแซวมีนักเรียนจำนวน 73 คน มีข้าราชการครูและบุคลากรจำนวน 11 คน ประกอบด้วย ข้าราชการครู 5 คน ครูธุรการ 1 คน ครูอัตราจ้าง 4 คน และนักการภารโรง 1 คน มีวิสัยทัศน์ โรงเรียนบ้านหนองมะแซว จัดการศึกษาได้มาตรฐาน บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ก้าวทันเทคโนโลยี ภูมิปัญญาภาคีมีส่วนร่วม เป้าประสงค์ 1) ผู้เรียนทุกคนได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 2) ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายและเหมาะสมอย่างเต็มศักยภาพ 3) ผู้เรียนได้รับการส่งเสริมให้มีความรู้คู่คุณธรรม มีสำนึกรักในความเป็นไทยดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 4) ผู้เรียนมีทักษะในการใช้สื่อเทคโนโลยีในการแสวงหาความรู้ 5) โรงเรียนมีหลักสูตรที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและท้องถิ่น 6) ครูบุคลากรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เป็นครูมืออาชีพ 7) โรงเรียนมีข้อมูลสารสนเทศ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เป็นระบบ โปร่งใสตรวจสอบได้ 8) ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงาน องค์กร และท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
โรงเรียนบ้านหนองมะแซว เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 73 คน จากโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน กิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน ครูได้ดำเนินการออกเยี่ยมบ้านนักเรียนร้อยละ 100 พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การประมง และทำงานที่ต่างจังหวัดเนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่เป็นพื้นที่ที่ติดแม่น้ำมูลโดยขาดสภาพคล่องทางการเงิน นักเรียนส่วนใหญ่จึงอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายหรือญาติพี่น้อง ทำให้นักเรียนบางส่วนมีพฤติกรรมติดโทรศัพท์มือถือ เป็นกลุ่มเสี่ยงของการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ขาดความรับผิดชอบในงานบ้านและงานอื่น ๆตามที่ได้รับมอบหมาย ขาดทักษะในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
จากสถานการณ์ดังกล่าว ครูได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการช่วยเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรมม และทักษะชีวิตให้กับนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองมะแซว นักเรียนควรได้รับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและการมีทักษะชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันและเป็นอาชีพติดตัวที่สามารถเลี้ยงชีพได้ นักเรียนสามารถเติบโตไปเป็นบุคลลที่มีคุณภาพของชุมชน สังคมและประเทศชาติในอนาคต ให้โอกาสนักเรียนได้ค้นพบและเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับทักษะอาชีพ โรงเรียนบ้านหนองมะแซวจึงได้มีกระบวนการบริหารจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นโดยนำเอาอาชีพที่ผู้ปกครองในชุมชนส่วนใหญ่ทำมาบูรณาการให้สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนเป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนโดยจัดการเรียนการสอนแบบต่อเนื่อง (Block course learning)
การผลิตนวัตกรรม สร้างสรรค์คนดี เป็น 1 ใน 4 กิจกรรมของโครงการหลักสร้างคนดีให้บ้านเมือง ตามโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. เป็นกิจกรรมที่จัดทำขึ้นเพื่อให้สถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ใช้เป็นแนวทางในการผลิตนวัตกรรมของผู้บริหาร และครู ใช้พัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ให้บรรลุตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของสถานศึกษาหรือตามกรอบแนวคิด 5 ประการ ของโครงการโรงเรียนคุณธรรม สพฐ. ประกอบด้วย 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ และ 5) อุดมการณ์คุณธรรม ต่อไป
ด้วยเหตุผลและความสำคัญดังกล่าว โรงเรียนบ้านหนองมะแซวจึงได้ดำเนินการพัฒนานวัตกรรม สร้างสรรค์คนดี ด้วยวิถีพอเพียง เลี้ยงชีพได้ โดยใช้ NCS Model