ขั้นตอนที่ ๑ การวางแผน (Plan) โรงเรียนบ้านดินก้องได้มีการวางแผนการดำเนินงาน ดังนี้
Good Analysis (การวิเคราะห์สภาพปัญหาที่ดี)
โรงเรียนบ้านดินก้อง ได้ทำการสำรวจ วิเคราะห์สภาพของปัญหาของโรงเรียนด้วยวิธี SWOT Analysis จากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งครู บุคลากร กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ทั้งนี้เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดด้อย โอกาสและอุปสรรค ที่เกิดขึ้นกับทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา เพื่อจัดลำดับความสำคัญ จากนั้นกำหนดวิสัยทัศน์ และพันธกิจ ที่สอดคลองกับบริบทของสถานศึกษา ความต้องการของชุมชนท้องถิ่น วัตถุประสงค์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล กระทรวงศึกษาธิการ การเปลี่ยนแปลงของสังคม กำหนดเป้าหมายที่สอดคลองกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจของสถานศึกษา จัดทำแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและแผนปฏิบัติการประจำปีที่สอดคล้องกับเป้าหมาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ จากนั้นนำไปวิเคราะห์และหาวิธีพัฒนาหรือแก้ไขกับปัญหา รวมถึงกำหนดกรอบในการพัฒนานวัตกรรมการบริหารการจัดการศึกษาของโรงเรียนวางแผนออกแบบนวัตกรรมรูปแบบการบริหารการจัดการศึกษาของโรงเรียน โดยใช้รูปแบบ “GOOD MODEL” ตระหนักค่า DLTV สู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา ที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนบ้านดินก้อง
Good Awareness (สร้างความตระหนักรู้ที่ดี)
ผู้บริหารสถานศึกษาจัดการประชุมชี้แจงแผนการดำเนินงานแก่ข้าราชการครู บุคลากร กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง นักเรียนและชุมชน ตามโอกาสที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) อย่างจริงจัง และสร้างความตระหนักถึงการรับรู้ในบทบาทหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
Good Knowledge Management (การจัดการองค์ความรู้ที่ดี)
ผู้บริหารสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับครู และบุคลากรทางการศึกษาในแนวทางการดำเนินการบริหารจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV ตามรูปแบบ “GOOD MODEL” ตระหนักค่า DLTV สู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา ด้วยยุทธศาสตร์ ๔ ๕ ๖ (๔ ข้อพื้นฐาน ๕ ข้อ ผู้บริหารจัดทำ ครูนำ ๖ ข้อปฏิบัติ) แนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้ได้ตามมาตรฐาน ควบคู่กับแนวคิดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกแบบ Active learning โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ อีกทั้งการน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเพื่อสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์แก่ผู้เรียนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ผู้บริหาร ครูและบุคลากรจะต้องมีองค์ความรู้ที่ชัดเจนเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
ขั้นตอนที่ ๒ การดำเนินงาน (Do)
Good Organization (การจัดการองค์กรที่ดี) ดำเนินการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) อย่างจริงจังตามโครงสร้างการบริหารงาน ๔ ฝ่ายโดยมีการกำหนดหน้าที่มอบหมายงานอย่างชัดเจนตามความรู้ความสามารถและความถนัดของครูและบุคลากร ดังนี้
๑) ฝ่ายบริหารงานวิชาการ ดำเนินการทบทวนหลักสูตรและปรับปรุงหลักสูตรสถานศึกษา ให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของ สพฐ. แนวทางการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ปรับโครงสร้างหลักสูตร เวลาเรียนของทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยพิจารณาจากคู่มือครูที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ทั้งนี้เพื่อให้มีความสอดคล้องกับการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนบ้านดินก้อง จัดทำหน่วยการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ แผนการจัดการเรียนรู้ นำไปสู่การวัดผลและประเมินผลที่หลากหลายอิงตามสภาพจริง ส่งเสริมการทำวิจัยชั้นเรียน มีการนำปัญหาอุปสรรคในการจัดการเรียนรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เพื่อวางแผนพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนี้ ๑) ร่วมกันพิจารณาปัญหา ๒) วางแผนกำหนดกิจกรรมหรือวิธีการดำเนินงาน ๓) ออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนตามกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ๔) การสร้างสื่อนวัตกรรม และการสอนซ่อมเสริม
๒) ฝ่ายบริหารงานงบประมาณ ดูแลเรื่องทะเบียนคุมวัสดุอุปกรณ์ โดยทำทะเบียนคุมทรัพย์สินที่ได้รับจัดสรร มีผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บควบคุม กำหนดระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ทรัพย์สินเป็นปัจจุบัน ตรวจสอบสภาพ บำรุงรักษาและซ่อมแซมทั้งก่อนและหลังการใช้งาน สำหรับทรัพย์สินที่มีสภาพไม่สามารถใช้งานได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาและทำจำหน่ายพัสดุ อีกทั้งมีการระดมทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการสนับสนุนส่งเสริมจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) รวมถึงจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ให้พร้อมใช้ และเอื้อต่อการจัดการเรียนรู้อยู่เสมอ
๓) ฝ่ายบริหารงานบุคคล ส่งเสริมการพัฒนาครูและบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) เช่น การอบรมกับหน่วยงานต้นสังกัดและ สพฐ. การสนับสนุนครูในการพัฒนาตนเองเป็นทีมงานขับเคลื่อนการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ระดับเขตพื้นที่การศึกษา การศึกษา ดูงานการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) จากโรงเรียนต้นทางวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์
๔) ฝ่ายบริหารทั่วไป มีหน้าที่ดูแลด้านสภาพแวดล้อมของโรงเรียน และอาคารสถานที่ บรรยากาศในชั้นเรียน และห้องเรียนที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์ ๔๕๖ และตามมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม(DLTV) การดูแลระบบการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมทั้งอุปกรณ์รับสัญญาณ โทรทัศน์ที่เหมาะสมกับห้องเรียน และจำนวนนักเรียน รวมถึงการกำกับดูแลให้มีการติดตั้งโทรทัศน์ให้มีความสูงเหมาะสมกับระดับสายตานักเรียน ดูแลระบบอินเทอร์เน็ตในโรงเรียน รวมถึงการบำรุงรักษาอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่เกิดการชำรุดและขัดข้อง
Good Active Learning (การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกที่ดี) ผู้สอนได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ทั้งก่อนเรียนตามตาราง การเรียนตามตารางออกอากาศจากโรงเรียนต้นทางการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ได้มีการนำเนื้อหาไปบูรณาการกับโครงการครอบคลุมพระบรมราโชบายด้านการศึกษาทั้ง ๔ ด้าน ดังนี้
๑) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ก่อนเรียน
- กิจกรรม Brain Gym (การบริหารสมอง) หน้าแถวหลังเคารพธงชาติทุกวัน ซึ่ง Brain Gym เป็นการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน เพื่อการพัฒนาสมองทั้งสองซีกให้มีการทำงานที่ดีมากขึ้นโดยใช้การฝึกอย่างง่าย ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการได้ยิน การมองเห็น เพิ่มประสิทธิภาพในการจดจำ ช่วยให้สมองตื่นตัว ผ่อนคลายความตึงเครียด ช่วยให้รู้สึกสดใสพร้อมที่จะเรียนรู้
- กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและสุนทรียภาพผู้เรียนด้วยคีตะมวยไทยหน้าแถวหลังเคารพธงชาติทุกวันพุธ และศุกร์ (เนื่องจากนักเรียนแต่งกายด้วยเครื่องแบบชุดพละและชุดคนดีสำคัญกว่าทุกสิ่งทำให้สะดวกในการเคลื่อนไหว) ทั้งนี้เพื่อเป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น (มวยไชยา อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี) โดยนำท่ามวยไทยมาสร้างสรรค์เป็นท่าออกกำลังกายให้นักเรียนได้เรียนรู้ รักษา สืบสานต่อยอดให้คงอยู่ต่อไป
๒) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามตารางออกอากาศ
โรงเรียนบ้านดินก้องจัดการเรียนรู้ในรูปแบบครูประจำชั้นสอนทุกรายวิชา ซึ่งจะมีควบชั้นเรียนจำนวน ๒ ชั้น ได้แก่ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ และ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ โดยมีฉากกั้นและนักเรียนเรียนรู้ในเนื้อหาของชั้นเรียนตนเองไม่รวมชั้น ซึ่งกระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นไปดังต่อไปนี้
- ครูจัดสภาพห้องเรียนให้เหมาะสมกับเอื้อต่อการปฏิบัติ กิจกรรมตามแผนการจัดการเรียนรู้
- ครูเตรียมการสอนล่วงหน้า ทั้งสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ ใบงาน ใบความรู้และกิจกรรมเสริม ตามที่คู่มือครูสอนทางไกลผ่านดาวเทียมกำหนด รวมทั้งมอบหมายงานให้นักเรียนเตรียมพร้อมในการเรียนครั้งต่อไป
- ครูร่วมจัดการเรียนรู้ไปพร้อมกับครูโรงเรียนต้นทางและเอาใจใส่ กำกับ ดูแล แนะนำนักเรียนให้ปฏิบัติกิจกรรมการเรียนทุกครั้งอย่างใกล้ชิด
- ครูสรุปสาระสำคัญร่วมกับนักเรียนหลังจากกิจกรรมการเรียนรู้สิ้นสุดลงและบันทึกผลการจัดการเรียนรู้หลังสอนทุกครั้ง
- ครูวัดและประเมินผล เมื่อกิจกรรมการเรียนรู้สิ้นสุดในแต่ละครั้ง แต่ละหน่วยการเรียนรู้ ทำให้ทราบว่าผลการเรียนรู้ ของนักเรียนบรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้หรือไม่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขต่อไป
- ครูจัดกิจกรรมสอนซ่อมเสริมนอกตารางออกอากาศเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้หรือให้ความรู้เพิ่มเติมแก่นักเรียน ๓) กิจกรรมเสริมหลักสูตรของสถานศึกษา
โรงเรียนบ้านดินก้องได้จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรของสถานศึกษาซึ่งเป็นการต่อยอดจากการจัดการเรียนรู้ภายในห้องเรียน ทั้งนี้เพื่อสร้างให้ผู้เรียนได้เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุขอย่างครบถ้วน ดังภาคผนวก ซึ่งมีการจัดโครงการพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ กิจกรรมยกระดับกระบวนการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) เพื่อให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาทั้ง 4 ด้านของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐) มาบูรณาการเนื้อหาเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของสถานศึกษาเพื่อปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์แก่ผู้เรียนครบคลุมทั้ง 4 ด้าน
Good Network (การสร้างเครือข่ายการทำงานที่ดี) มีการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันกับชุมชน องค์กรและหน่วยงานอื่น ๆ เช่น ภาคีเครือข่ายผู้ปกครองและชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลวัง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านปากกิ่ว กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอท่าชนะ สถานีตำรวจภูธรท่าชนะ เป็นต้น ทุกภาคส่วนมีความสามัคคีในการดำเนินการ มีบรรยากาศการทำงานแบบกัลยาณมิตรเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งด้านการวางแผนดำเนินการ การร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ต่อยอดจากการเรียนใน DLTV เป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรของสถานศึกษา
Good Inspiration (การสร้างแรงบันดาลใจที่ดี) มีการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีแก่ ครู บุคลากร นักเรียนด้วยการเสริมแรงเชิงบวก เช่น กล่าวคำชมเชย ประชาสัมพันธ์ผ่านเพจโรงเรียน มอบรางวัล มอบเกียรติบัตรแก่ผู้ที่ประสบความสำเร็จและควรยกย่องเป็นแบบอย่างในแต่ละด้าน เช่น ด้านวิชาการ ด้านกีฬา ด้านคุณธรรมจริยธรรม เป็นต้น
ขั้นตอนที่ ๓ การตรวจสอบ (Check)
โรงเรียนบ้านดินก้องแต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล โดยคณะกรรมการนิเทศภายในโรงเรียน นำโดยนางสาวกวิสรา อินทร์เทพ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดินก้อง ทั้งนี้ได้ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบการปฏิบัติงานของครูตามแผนและปฏิทินการนิเทศเต็มรูปแบบภาคเรียนละอย่างน้อย ๑ ครั้ง และการนิเทศแบบกัลยาณมิตรในทุกๆวัน เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของครู การบันทึกผลหลังสอนของครูที่สะท้อนผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาให้เกิดประสิทธิผลตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่หลักสูตรกำหนดไว้ โดยผู้บริหารสถานศึกษาหรือครูวิชาการบันทึกผลการนิเทศเพื่อสรุปผลการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อให้เห็นถึงปัญหา อุปสรรค และการแก้ไขพัฒนา นำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูให้เกิดประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการตรวจเยี่ยมพื้นที่เชิงประเมิน (Site Visit) นำโดย ผอ.จุฬาลักษณ์ โสภาผล และคณะผู้บริหารในเครือข่าย อ.ท่าชนะ อีกทั้งคณะกรรมการนิเทศ ติดตาม ประเมินผลจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานีเขต ๒ นำโดยนางสาวนางสุทิสา วงศ์ณศรี ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการศึกษาทางไกล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นางสาวบุบผา พรมหลง ศึกษานิเทศก์ กลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผล และนายวิเชียร ช่วยหนู นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการ โดยทุกท่านได้มาดูแล กำกับ ติดตาม การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านดินก้อง พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาในด้านการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) อยู่เสมอ
ขั้นตอนที่ ๔ การปรับปรุงแก้ไข (Action)
ในขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไข โรงเรียนบ้านดินก้องได้ดำเนินการจัดประชุมครูและบุคลากรเป็นประจำทุกเดือน เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมด้วยรูปแบบ GOOD MODEL สะท้อนผลการดำเนินงานตามสภาพจริง ปัญหาหลังการปฏิบัติงานทั้งที่เกิดจากครู นักเรียน การบริหารจัดการ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน หากพบปัญหา อุปสรรคก็นำมาแสวงหาวิธีการแก้ไข ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจนบรรลุวัตถุประสงค์ เมื่อดำเนินการบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นำไปประชาสัมพันธ์เผยแพร่และขยายผลการดำเนินงานสู่โรงเรียนและหน่วยงานอื่น ๆ และพัฒนาสู่ความคุณภาพที่ยั่งยืนต่อไป