สืบเนื่องจากนโยบายและจุดเน้นกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ 2567-2568 มุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค คุณภาพและสมรรถนะที่สำคัญจำเป็น ตามบริบทของประเทศและสังคมโลก โดยเน้นให้ผู้เรียน เรียนดี มีความสุข ใช้หลักการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วน ดังที่กล่าวไว้ว่า จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการนำไปใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย (กระทรวงศึกษาธิการ, 2566, หน้า 1) สอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้อ 3 การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส ข้อย่อย 3.1 จัดทำแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ข้อย่อย 3.2 จัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ข้อย่อย 3.6 สร้างและใช้แพลตฟอร์มการเรียนรู้ในระบบดิจิทัล และส่งเสริมการใช้ DLTV (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, 2566, หน้า 2) ซึ่งกลยุทธ์นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายตามที่สถานศึกษากำหนดไว้ สถานศึกษามีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การบริหารในยุคศตวรรษที่ 21 ให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็น การแสวงหากลยุทธ์การบริหารให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง
โรงเรียนวัดจันทบุรี(พิมพ์ประชานุเคราะห์) เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี มีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 95 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 10 คน จากการศึกษาผลการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT) พบว่า สถานศึกษาได้รับผลจากอัตราการเกิดลดลง ประกอบกับข้อจำกัดด้านทรัพยากรและเงื่อนไขการจัดสรรกรอบอัตรากำลังที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด ทำให้โรงเรียนมีครูไม่ครบชั้น (โรงเรียนวัดจันทบุรี(พิมพ์ประชานุเคราะห์), 2566, หน้า 6) ส่งผลต่อคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนและผู้ปกครองขาดความเชื่อมั่นในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน นอกจากนี้ โรงเรียนไม่มีกลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน ส่งผลให้การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ของครูเพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิผลในการเรียนของผู้เรียนนั้น ต้องอาศัยผู้บริหารสถานศึกษาในการบริหารจัดการสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพ
จากความเป็นมาดังกล่าว จึงได้นำความรู้ ประสบการณ์ การแสวงหาความรู้จากแนวคิด ทฤษฎีในการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์และการบริหารแบบมีส่วนร่วม ตลอดจนนโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 มาพัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศ โดยใช้กลยุทธ์ 6C เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพ การบริหารจัดการและคุณภาพการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนขนาดเล็ก โดยคิดค้นวิธีที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาและความต้องการของผู้ปกครองและชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย อันจะนำไปสู่การพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป
วัตถุประสงค์
1. เพื่อพัฒนากลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศ โดยใช้กลยุทธ์ 6C
2. เพื่อศึกษาผลการใช้กลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศ โดยใช้กลยุทธ์ 6C
เป้าหมาย
เชิงปริมาณ
1. โรงเรียนวัดจันทบุรี(พิมพ์ประชานุเคราะห์) มีกลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศ
2. ร้อยละ100 ของครูมีความรู้ ทักษะและกระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก(Active Learning)
3. ร้อยละ100 ของผู้เรียนได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
4. ร้อยละ100 ของผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศ
เชิงคุณภาพ
1. โรงเรียนวัดจันทบุรี(พิมพ์ประชานุเคราะห์) มีกลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศที่มีประสิทธิภาพ
2. ครูมีความรู้ ทักษะ กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่คุณภาพผู้เรียน
3. ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความสุขในการเรียนรู้ มีผลงานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์และเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงาน
4. ผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมแรงร่วมใจในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน
โรงเรียนวัดจันทบุรี(พิมพ์ประชานุเคราะห์) ออกแบบกลยุทธ์สอดคล้องกับจุดประสงค์และเป้าหมาย โดยดำเนินการดังนี้ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหา วิเคราะห์ความต้องการพัฒนา 2) ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี เอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ และการบริหารแบบมีส่วนร่วม 3) พัฒนากลยุทธ์ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบคุณภาพและให้ข้อเสนอแนะ 4) ทดลองใช้กลยุทธ์โดยนำกลยุทธ์ไปทดลองใช้กับสถานศึกษาที่มีบริบทใกล้เคียงกัน ได้แก่ โรงเรียนวัดแพะโคก สพป.สระบุรี เขต 1 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ากลยุทธ์มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ และพัฒนากลยุทธ์เสนอผู้เชี่ยวชาญก่อนนำไปใช้ในสถานศึกษา 5) นำกลยุทธ์ไปใช้ในสถานศึกษา เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล 6) ตรวจสอบ ประเมินผลกลยุทธ์ โดยประเมินจากจุดประสงค์และเป้าหมาย และปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และ 7) เผยแพร่กลยุทธ์ โดยใช้สื่อดิจิทัลและช่องทางอื่นๆ อย่างหลากหลาย
การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศ โดยใช้กลยุทธ์ 6C ออกแบบกระบวนการดำเนินงานโดยแบ่งออกเป็น 6 กลยุทธ์ แต่ละกลยุทธ์มีขั้นตอนแนวทางที่ชัดเจน สอดคล้องกับหลักการ แนวคิด และทฤษฎี และใช้กระบวนการพัฒนาคุณภาพเชิงระบบ PDCA ในการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพการดำเนินงาน โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 สร้างความตระหนักรู้ (Comprehension)
กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษา (Competency)
กลยุทธ์ที่ 3 สร้างความร่วมมือและประสานพลังเครือข่าย (Collaboration)
กลยุทธ์ที่ 4 สร้างสรรค์นวัตกรรมหลากหลาย (Creative to Innovation)
กลยุทธ์ที่ 5 นิเทศภายในแบบกัลยาณมิตร (Coaching & Mentoring)
กลยุทธ์ที่ 6 ประเมินผลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)
ในการดำเนินการพัฒนากลยุทธ์ ได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ที่ออกแบบไว้ ทุกขั้นตอน มีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีองค์ความรู้ใหม่ที่ ส่งผลต่อเป้าหมายและการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 สร้างความตระหนักรู้ (Comprehension)
การสร้างการรับรู้และสร้างความตระหนักในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยจัดให้มีการประชุมร่วมกันของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสื่อสารให้เกิดความร่วมมือและกำหนดแนวทางพัฒนาการจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียน ได้แก่ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและชุมชน
กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษา (Competency)
การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านวิชาการและด้านวิชาชีพ โดยการเข้ารับการอบรม สัมมนา ศึกษาดูงานกับหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานอื่นๆ ดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) เป็นวัฒนธรรมองค์กร ส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีทัศนคติเชิงบวก และเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต ทั้งการครองตน ครองคน ครองงาน
กลยุทธ์ที่ 3 สร้างความร่วมมือและประสานพลังเครือข่าย (Collaboration)
การสร้างการมีส่วนร่วม การทำงานเป็นทีมด้วยความร่วมมือร่วมใจอย่างมีความสุขและเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ รู้ เข้าใจในหน้าที่และความรับผิดชอบการสร้างและประสานความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์กับชุมชนและเครือข่าย เพื่อให้ผู้เรียนได้รับโอกาสในการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงและเสมอภาค พัฒนาการเรียนรู้ เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21
กลยุทธ์ที่ 4 สร้างสรรค์นวัตกรรมหลากหลาย (Creative to Innovation)
การสร้างและนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนา สถานศึกษาและผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญด้วยการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สร้างนวัตกรรมครูสู่นวัตกรรมนักเรียน ส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้เรียนมีสมรรถนะและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
กลยุทธ์ที่ 5 นิเทศภายในแบบกัลยาณมิตร (Coaching & Mentoring)
การนิเทศติดตามอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยมีการสะท้อนผลหลังการปฏิบัติงาน (AAR) และนำกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) มาใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสนอแนะแนวทางการพัฒนา การจัดการเรียนรู้สู่คุณภาพผู้เรียน
กลยุทธ์ที่ 6 ประเมินผลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง(Continuous Improvement)
การประเมินผลและพัฒนาต่อยอด ตลอดจนเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกย่องเชิดชูเกียรติครูคุณภาพและนักเรียนคุณภาพ โดยการมอบเกียรติบัตรเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจครูและบุคลากรทาง การศึกษา และนักเรียน ตลอดจนประชาสัมพันธ์ผ่านจดหมายข่าวและ สื่ออิเล็กทรอนิกส์
ผลการดำเนินงาน
มีผลการปฏิบัติตามกิจกรรมที่ออกแบบ ครอบคลุม และเป็นไปตาม จุดประสงค์ทุกจุดประสงค์ ดังนี้
1. การประเมินกลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศ โดยใช้กลยุทธ์ 6C พบว่า กลยุทธ์มีคุณภาพตามเกณฑ์ทั้งในด้านความเป็นประโยชน์ความเหมาะสม ความเป็นไปได้และการยอมรับได้ ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
2. ผลการใช้กลยุทธ์ มีดังนี้
2.1 สถานศึกษามีกลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศเน้นการมีส่วนร่วม มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับบริบท
2.2 ครูมีความรู้ ทักษะ กระบวนการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)สู่คุณภาพผู้เรียน
2.3 ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีความสุขในการเรียนรู้ มีผลงานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์และเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอผลงาน
2.4 ผู้บริหาร คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมแรง ร่วมใจในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน เกิดการประสานและเอื้อประโยชน์ในการดูแลนักเรียนร่วมกัน
การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กสู่ความเป็นเลิศ โดยใช้กลยุทธ์ 6C ต้องอาศัยการสร้างความตระหนักรู้ การพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษา การสร้างความร่วมมือและประสานพลังเครือข่าย การสร้างสรรค์นวัตกรรมหลากหลาย การนิเทศภายในแบบกัลยาณมิตร การประเมินผลและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และกระบวนการพัฒนาคุณภาพเชิงระบบ PDCA ในการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพการดำเนินงาน โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อสถานศึกษา ดังนี้ 1) ให้การยอมรับ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนมีความศรัทธา ให้การสนับสนุน และให้ความร่วมมือทุกด้านในการพัฒนาการจัดการศึกษา 2) เป็นแบบอย่างที่ดี สถานศึกษาเป็นต้นแบบที่ดีให้กับสถานศึกษาอื่นๆ สามารถนำแนวทางการบริหารจัดการที่ประสบผลสำเร็จไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเองได้ 3) สร้างขวัญและกำลังใจ ความสำเร็จของสถานศึกษาช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรสถานศึกษาอื่นๆ เห็นว่าแม้จะมีทรัพยากรจำกัด ก็สามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ 4) ส่งเสริมการแข่งขัน การแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับโรงเรียนจะเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 5) สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ สถานศึกษาสามารถเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถานศึกษาอื่น ๆ ในเครือข่าย และผลเกิดประโยชน์ต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีดังนี้ 1) ยกระดับคุณภาพการศึกษา การมีโรงเรียนขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จจะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยรวมของสำนักงานเขตพื้นที่ฯ 2) สร้างภาพลักษณ์ที่ดี ความสำเร็จของสถานศึกษาในสังกัดส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานเขตพื้นที่ฯ 3) ขวัญกำลังใจบุคลากร ความสำเร็จของสถานศึกษาช่วยเพิ่มขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่ฯ 4) เป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนา ความสำเร็จของสถานศึกษากระตุ้นให้สำนักงานเขตพื้นที่ฯ มุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง 5) เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ ความสำเร็จของสถานศึกษาสามารถนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครองและชุมชน
มีการเผยแพร่/ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บไซต์ครูบ้านนอกดอทคอม (www.kroobannok.com) เฟสบุ๊ก (Facebook) เพจสถานศึกษา หนังสือราชการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โปรแกรมไลน์ (Line) กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา การจัดนิทรรศการ ได้แก่ นโยบายการศึกษา เรียนดี มีความสุข ภายใต้แนวทางการทำงาน จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน สู่สาธารณชน หัวข้อ ปรับกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ทันสมัยและหลากหลาย ในงานมหกรรมวิชาการ สานพลัง "จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน" นิทรรศการ เปิดบ้านนวัตกรรมนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ นอกจากนี้ มีหน่วยงานที่มาศึกษาดูงาน เช่น ผู้บริหารสถานศึกษา สพป.สระบุรี เขต 1 ส่งผลให้สถานศึกษา ผู้บริหาร ครูและนักเรียนได้รับรางวัลเชิงประจักษ์ สรุปสังเขป ดังนี้ ด้านสถานศึกษา ได้รับตราบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ระดับปฐมวัย ได้รับการคัดเลือกเป็นโรงเรียนดนตรีไทย 100 เปอร์เซ็นต์ ระดับดี จากกระทรวงวัฒนธรรม ได้รับประกาศเกียรติคุณโรงเรียนที่มีผลการดำเนินกิจกรรมดีเด่น จังหวัดสระบุรี ตามโครงการเจริญพระพุทธมนต์ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หนึ่งในโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เชิงคุณภาพ จังหวัดสระบุรี ได้รับรางวัลชนะเลิศ กิจกรรมบริษัทสร้างการดี ระดับดีเยี่ยม ประเภทโรงเรียนขนาดเล็ก ระดับเขตพื้นที่ฯ ด้านผู้บริหาร ได้รับรางวัลผู้นำการบริหารสถานศึกษาดีเด่น กระทรวงศึกษาธิการ และได้รับรางวัลชนะเลิศ วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ระดับจังหวัด ด้านการบริหารการจัดการศึกษาปฐมวัย ระดับดีเด่น เป็นตัวแทนไปคัดเลือกในระดับศึกษาธิการภาค 1 ครูได้รับรางวัลทรงคุณค่า สพฐ. (OBEC AWARDS) ระดับเขตพื้นที่ฯ ได้รับรางวัลวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practices) ระดับจังหวัด ด้านการบริหารการจัดการศึกษาปฐมวัย ระดับดี ได้รับรางวัลข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาดีเด่น ตามโครงการครูดีศรีสระบุรี ได้รับเกียรติบัตรเป็นผู้ทรงความรู้ด้านวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศตามนโยบายและจุดเน้นกระทรวงศึกษาธิการ ในงานมหกรรมวิชาการสานพลัง "จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน" ด้านคุณภาพผู้เรียน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 100 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สอบได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ในการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (RT) นักเรียนได้รับรางวัลในการแข่งขันงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา 13 รายการ ได้รับรางวัลรางวัลเหรียญทอง ชนะเลิศอันดับ 3 การแข่งขันการพูดภาษาอังกฤษ (Impromptu Speech) รางวัลเหรียญทองแดง การแข่งขันวาดภาพระบายสี รางวัลเหรียญทองแดง การแข่งขัน TO BE NUMBER ONE TEEN DANCERCISE SRB1 การแข่งขันกิจกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา ระดับเขตพื้นที่ฯ ได้รับคัดเลือกเป็น เด็กดีศรีเสมา ระดับเขตพื้นที่ฯ ได้รับรางวัลเหรียญเงิน การแข่งขันคัดลายมือ กิจกรรมรักษ์ภาษาไทย ระดับเขตพื้นที่ฯ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดประดิษฐ์กระทง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 กิจกรรม โรบินสันไลฟ์สไตล์ลอยกระทงรักษ์ไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
แนวทางการพัฒนาต่อยอดภายในสถานศึกษาและภายนอกสถานศึกษา โดยมีการเรียนรู้ร่วมกัน สร้างความรู้ยกระดับ นำไปประยุกต์ใช้ด้วยการนำเสนอผลงานแนวใหม่ที่ได้ไปปรับใช้ให้ดียิ่งขึ้น โดยประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบท เช่น นำแนวทางไปปรับประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power กับการจัดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ นำแนวทางไปปรับประยุกต์ใช้ในชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ฯลฯ
อ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. (2566). ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง นโยบายการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567-2568. กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ.
โรงเรียนวัดจันทบุรี(พิมพ์ประชานุเคราะห์). (2566). แผนปฏิบัติการประจำปีการศึกษา 2566. สระบุรี: โรงเรียนวัดจันทบุรี(พิมพ์ประชานุเคราะห์).
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กระทรวงศึกษาธิการ. (2566). ประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อง
นโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 และนโยบาย
เร่งด่วน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.