กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะโดยวิธีการทางประวัติศาสตร์ 5 ขั้นตอน
นางสาวธนกร ปุยแก้ว
โรงเรียนบ้านโป่ง
ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดประเด็นศึกษา - สำรวจประวัติศาสตร์ในชุมชน หรือเรื่องที่ตนเองสนใจในจังหวัด เพื่อให้นักเรียนตั้งเป็นประเด็นการเรียนรู้
ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมหลักฐาน การเก็บรวบรวมข้อมูลและหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงหลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานปฐมภูมิ กับหลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ
ขั้นตอนที่ 3 ประเมินคุณค่าของหลักฐาน การประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐาน มีข้อพิจารณาในลักษณะต่างๆ ดังนี้ 1 เป็นของแท้หรือของทำเลียนแบบ
2 การศึกษาภูมิหลังของผู้ทำหรือพูดที่เกี่ยวข้อง
3 วัตถุประสงค์ของการจัดทำ
4 ช่วงระยะเวลาที่จัดทำหลักฐาน
5 รูปลักษณ์ของหลักฐาน
การวิเคราะห์และประเมินคุณค่าของหลักฐานถือว่าสำคัญมาก เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดบกพร่องในการใช้หลักฐาน ก็จะทำให้ขั้นตอนต่อไปลดความถูกต้อง ลดความน่าเชื่อถือลงเช่นกัน
ขั้นตอนที่ 4 การสรุปและเชื่อมโยงข้อเท็จจริง ข้อมูลคือเรื่องราวข้อเท็จจริงต่างๆที่อยู่ในหลักฐาน จึงต้องมีการวิเคราะห์ คือ แยกแยะประเด็นต่างๆ การสังเคราะห์ คือ รวมประเด็น แล้วนำข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์มาจัดเป็นหมวดหมู่ให้ตรงกับหัวเรื่อง ซึ่งต้องอ่าน เลือกสรรด้วยความละเอียด รอบคอบ บันทึกให้ถูกต้องเพื่อการอ้างอิงต่อไป
ขั้นตอนที่ 5 การเรียบเรียงและนำเสนอ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติและขั้นตอนที่สำคัญที่สุดผู้ศึกษาค้นคว้า จะต้องนำข้อมูลทั้งหลายมาเรียบเรียงหรือนำเสนอแก่บุคคลทั่วไป ซึ่งจะต้องเรียบเรียงให้ชัดเจนตรงกับประเด็นที่จะศึกษา
กิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นทักษะและวิธีการทางประวัติศาสตร์
วิชาประวัติศาสตร์/หลักสูตรท้องถิ่นของสถานศึกษา
อำเภอเขาสมิง จ.ตราด
ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดประเด็นศึกษา
หัวข้อที่จะศึกษา คือ ประวัติของอำเภอเขาสมิง
หัวข้อ ประวัติของอำเภอเขาสมิง เกิดขึ้นเพราะครูทำการสอนเรื่อง วิธีการทางประวัติศาสตร์ 5 ขั้นตอน แล้วให้นักเรียนลองกำหนดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดตราดว่านักเรียนอยากศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องอะไร ขณะที่นักเรียนเล่นSocial แล้วเจอเรื่องเล่า ตำนานเขาสมิง จังหวัดตราด ประกอบกับศาลเจ้าพ่อเขาสมิงอยู่ห่างจากโรงเรียนเพียง 14 กิโลเมตร หน้าศาลเจ้ามีรูปปั้นเสือตั้งอยู่ 2 ตัว จึงทำให้เกิดเป็นการกำหนดประเด็นศึกษานี้ของนักเรียนขึ้นมา
ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมหลักฐาน
จากนั้นครูให้นักเรียนเก็บรวบรวมข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับอำเภอเขาสมิงมาให้เยอะที่สุด นักเรียนแบ่งงานกันทำ
ได้หลักฐาน คือ
1. Social นักเรียนได้หลักฐานเป็น ประวัติของอำเภอเขาสมิง คลิปวีดีโอตำนานเขาสมิง รูปภาพอำเภอเขาสมิงตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
2. ห้องสมุด ห้องสังคมฯ ห้องเรียน นักเรียนได้หลักฐานเป็น หนังสือตราด สื่อผสมในระบบ Mutimedia เรื่อง 118วันตราดรำลึก แผ่นภาพ-เอกสารตำนานเขาสมิง
3. สอบถามพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือผู้รู้ในชุมชน นักเรียนได้หลักฐานเป็น เรื่องเล่าเกี่ยวกับตำบลของตนเองและอำเภอเขาสมิง เรื่องเล่าตำนานเขาสมิง รูปภาพตำบลของตนเองและอำเภอเขาสมิงตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
ขั้นตอนที่ 3 ประเมินคุณค่าของหลักฐาน
ขั้นตอนนี้นักเรียนนำข้อมูลและหลักฐานที่ได้จากการ Social ห้องสมุด ห้องสังคมฯ ห้องเรียน สอบถามพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือผู้รู้ในชุมชน มาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ว่าข้อมูลและหลักฐานที่ได้มาเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ หลักฐานบางอย่างที่นักเรียนหามาไม่เกี่ยวข้องกับอำเภอเขาสมิง ครูให้นักเรียนตัดหลักฐานนั้นออก เหลือแค่หลักฐานชั้นต้นและชั้นรองที่เป็นจริงและเกี่ยวข้องเท่านั้น
ขั้นตอนที่ 4 การสรุปและเชื่อมโยงข้อเท็จจริง นักเรียนนำหลักฐานและข้อมูลที่เป็นจริงและเกี่ยวข้อง มาเชื่อมโยงด้วยกันและสรุปลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้
ประวัติอำเภอเขาสมิง
อำเภอเขาสมิง ได้จัดตั้งเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2441 เดิมชื่อ "อำเภอทุ่งใหญ่" อยู่ในความปกครองของเมืองขลุง มณฑลจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2446 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้เสียดินแดนให้แก่ประเทศฝรั่งเศส เนื่องมาจากการตกลงทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 (ร.ศ. 122) ซึ่งทำให้ไทยจำต้องยกดินแดนจังหวัดตราด และเกาะต่าง ๆ ตั้งแต่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรีไปจนถึงเกาะกูด และจังหวัดปัจจันตคิรีเขตร หรือเกาะกง ให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อแลกเปลี่ยน ให้ฝรั่งเศสถอนกองทหารไปจากจันทบุรี โดยสัญญาฉบับนี้ ได้ให้สัตยาบันต่อกันและมีผลทำให้กองทหารฝรั่งเศส ถอนออกไปจากเมืองจันทบุรีตามสัญญา เมื่อ 12 มกราคม พ.ศ. 2447
ในปี พ.ศ. 2448 ทางการได้ประกาศให้ยุบอำเภอศรีบัวทอง ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านท่าฉาง แขวงเมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี (ปัจจุบันคือหมู่ 3 บ้านศรีบัวทอง ตำบลวังตะเคียน) มีภูมิประเทศที่ไม่เหมาะแก่การตั้งอำเภอ จึงให้ยุบรวมเข้ากับอำเภอทุ่งใหญ่
แต่เดิมที่ว่าการอำเภอทุ่งใหญ่ ตั้งอยู่ที่บ้านคลองใหญ่ (ฝั่งเหนือคลองร่างหวาย) ตำบลท่าสะท้อน แต่เนื่องจากที่ตั้งที่ว่าการอำเภอทุ่งใหญ่ การคมนาคมไป - มา ลำบาก ทำให้ประชาชนจากตำบลต่าง ๆ ไม่ค่อยเดินทางไปติดต่อราชการที่ อำเภอทุ่งใหญ่ ทางราชการจึงย้ายที่ว่าการอำเภอทุ่งใหญ่ ไปตั้งอยู่ที่ตำบลแสนตุ้ง ในปี พ.ศ. 2449 แต่ยังใช้ชื่อว่าอำเภอทุ่งใหญ่อยู่ และเมื่อไทยได้จังหวัดตราดกลับคืนมา จึงโอนอำเภอทุ่งใหญ่ มาขึ้นกับเมืองตราดดังเดิม ในปี พ.ศ. 2450 และได้ย้ายที่ว่าการอำเภอทุ่งใหญ่ มาตั้งที่ตำบลท่าสะท้อนอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2460 และเปลี่ยนชื่ออำเภอให้เป็น "อำเภอเขาสมิง" จนถึงปัจจุบัน
ขั้นตอนที่ 5 การเรียบเรียงและนำเสนอ
หลังจากสรุปและเชื่อมโยงข้อเท็จจริงแล้ว ขั้นสุดท้ายนักเรียนพร้อมนำเสนอแหล่งข้อมูลเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ เช่น นำเสนอหน้าห้อง จัดนิทรรศการ นำเสนอลงSocial และนำเสนอลงแหล่งข้อมูลอื่นที่นักเรียนสนใจ
นางสาวธนกร ปุยแก้ว
โรงเรียนบ้านโป่ง