ชื่อเรื่อง พัฒนาการจัดการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ด้วยรูปแบบ Special Model ของนักเรียนศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ชื่อ - นามสกุล นางวรพิชชา เพชรศิวานนท์ ตำแหน่ง ครู
สถานศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ประกาศเรื่อง นโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2565 โดยน้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม 3) มีงานทำ มีอาชีพ และ 4) เป็นพลเมืองดี สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 2580) ที่เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบันที่ 13 (พ.ศ. 2566 2570) โดยเฉพาะหมุดหมายที่ 12 แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 2579 รวมทั้งนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2566 2570) คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๑๑ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๖ กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ประกาศข้อสั่งการและแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ นำนโยบายด้านการศึกษาของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนและประชาชนทุกคน ดังนั้น เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นไปตามพระบรมราโชบายด้านการศึกษา นโยบายของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำหนดนโยบายและจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ๒๕๖๔ และนโยบายระยะเร่งด่วน (Quick Win) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง การเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีนโยบาย 1) จัดหาเครื่องมือ พร้อมอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการเรียนรู้ 2) จัดหาระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของสถานศึกษา 3) พัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้แก่ผู้เรียนทุกที่ทุกเวลา (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ออนไลน์)
ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นครูการศึกษาพิเศษ ได้รับผิดชอบดูแลนักเรียนคนพิการที่รับบริการที่บ้าน ในเขตอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี โดยมีนักเรียนคนพิการในความรับผิดชอบจำนวน 6 คน การจัดการเรียนการสอนในฐานะของครูผู้สอนจะต้องดูแล ช่วยเหลือให้นักเรียนได้รับบริการทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและตรงตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลที่ได้วางไว้ เพื่อให้นักเรียนได้มีพัฒนาการการเรียนรู้ ทักษะ สมรรถนะที่ดีพร้อมทั้งส่งเสริม ช่วยเหลือ พัฒนาการด้านอื่น ๆ ของนักเรียนด้วยเช่นกัน เนื่องจากสภาพความพร้อมของนักเรียนไม่สามารถมารับบริการที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ ที่ตั้งได้ นโยบายของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงมีนโยบายให้ครูผู้สอนไปบริการช่วยเหลือนักเรียนที่บ้าน โดยนำสื่อการเรียนการสอนที่ครูผู้สอนจัดทำขึ้นนำไปสอนนักเรียนที่บ้าน โดยให้ครูผู้สอนหาวิธีการในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ที่ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง โดยใช้การจัดการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เพื่อให้นักเรียนได้รับการพัฒนา ส่งเสริม ที่ดีและสามารถมีทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขต่อไป
รูปแบบการพัฒนานวัตกรรม แผนการจัดการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) โดยยึดหลัก SPECIAL MODEL โดยใช้วงจรคุณภาพ PDCA มาขับเคลื่อนการดำเนินงาน ของโมเดล
S : States Objective = กำหนดวัตถุประสงค์
เป็นการจัดการเรียนการสอนต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน สิ่งที่คาดหวังว่านักเรียนจะสามารถทำได้ตามความสามารถและศักยภาพของนักเรียน เพื่อให้การเรียนการสอนมีความสะดวกในการเลือกวิธีการสอน สื่อการสอนที่ถูกต้อง และเหมาะสมอย่างไร โดยกำหนดประเภทวัตถุประสงค์ทางการศึกษาทั้ง 3 ด้าน คือ
1. พุทธิพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพื่อวัดการเรียนรู้ของผู้เรียนเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจสติปัญญา และการพัฒนา
2. จิตตพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ทางด้านความคิด ทัศนคติ ความรู้สึก ค่านิยมและการเสริมสร้างทางปัญญา
3. ทักษะพิสัย เป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวกับการกระทำ การแสดงออกหรือการปฏิบัติ
P : Plan of Participation = การวางแผนแบบมีส่วนร่วม
เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ทุกคนที่ได้เข้าร่วมจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคลมีวางแผนเพื่อให้นักเรียนมีการพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีขึ้น โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เช่น ผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ครูผู้รับผิดชอบ ครูการศึกษาพิเศษ และนักสหวิชาชีพ โดยสร้างความเข้าใจ ตระหนักถึงกระบวนการจัดการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
E : Environment = การจัดบรรยากาศการเรียนรู้ สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ สิ่งแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้
การจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ครูผู้สอนควรคำนึงถึงองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น หลักสูตร สื่อ การเรียนการสอน แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) แผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) กระบวนการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล ซึ่งสภาพแวดล้อมด้านการเรียนการสอนเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน โดยนักเรียนที่รับบริการที่บ้านอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ควรได้รับสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม ปลอดภัย เสริมสร้างการพัฒนาการและเสริมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย และสอดคล้องกับแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
C : Cooperation = การปฏิบัติแบบร่วมมือ
การปฏิบัติและการเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นรูปกลาง เน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีจาก สื่อการเรียนการสอนที่ครูผู้สอนจัดขึ้นมุ่งเน้นให้นักเรียนได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ที่หลากหลาย เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
I : Integrated evaluation = วัดผลแบบบรูณาการ
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้แบบรูณาการ เป็นเทคนิควิธีการที่ครูผู้สอนสามารถประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการมีเทคนิควิธีการจัดการและประเมินผลบูรณาการ ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการเป็นแบบผสมผสานสาระกความรู้ทุกด้านและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในการวัดและประเมินผลครูผู้สอนเลือกใช้วิธีที่หลากหลาย โดยดำเนินการควบคู่กันไปด้วยกับกระบวนการจัดการเรียนการสอน ทั้งนี้ต้องสอดคล้องและสามารถเก็บข้อมูลที่ต้องการวัดและประเมินผลนักเรียนให้ได้ครบถ้วนทุกด้านให้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง มาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร วิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้แบบบูรณาการได้แก่ การทดสอบ การสังเกต การบันทึกประจำวัน การสอบถาม สัมภาษณ์ผู้ปกครอง แฟ้มสะสมผลงาน ฯลฯ
A : Assessment = ประเมินผลการเรียนรู้
การประเมินผลเพื่อการเรียนรู้ เป็นการประเมินผลเป็นเครื่องมือช่วยเหลือพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนได้ทุกขั้นตอน เช่น การประเมินผลระหว่างการทำกิจกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเป็นการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนตามศักยภาพของนักเรียนเอง และสามารถประเมินได้ตามสภาพจริง
L : Learning Society = การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน ครู และผู้ปกครอง เกิดการเรียนรู้โดยผ่านสื่อ เทคโนโลยี สารสนเทศ แหล่งเรียนรู้ องค์ความรู้ต่าง ๆ จนสามารถสร้างความรู้ ทักษะ มีระบบการจัดการความรู้ ระบบการเรียนรู้ที่ดี มีการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันทุกภาคส่วน รวมไปถึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยสามารถเรียนรู้ได้แก่คนทุกวัย และสนับสนุน ตระหนึกถึงความสำคัญของการศึกษาตามอัธยาศัยและการศึกษาด้วยตนเอง
ครูผู้สอน ใช้หลัก SPECIAL MODEL เป็นหลักการคิดในการออกแบบการจัดการเรียนการสอน โดยใช้วิธีการที่หลากหลายและดึงดูดความสนใจของนักเรียน จัดทำการทดสอบ การสังเกต ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดที่ใช้ในการวิเคราะห์ความรู้และทักษะของนักเรียน เพื่อใช้ในการผลิตสื่อในการจัดการเรียนการสอน เช่น ใบงาน ชุดแบบฝึกหัด เกม E-book เป็นต้น เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะของนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ มีกิจกรรมการเรียนการสอนให้ท้าทาย และให้โอกาสนักเรียนได้รับวิธีการสอนที่หลากหลายเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม ส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูผู้สอน เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นพัฒนากระบวนการเรียนรู้ จะส่งเสริมการเรียนรู้ สามารถพัฒนาความรู้และทักษะของนักเรียนได้อย่างยั่งยืน สามารถประยุกต์ใช้ทักษะและเชื่อมโยงองค์ความรู้นำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาได้
ผลการดำเนินงาน
เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน
1) นักเรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาความรู้ความสามารถตามหลักสูตรอย่างต่อเนื่องตามความพร้อมและความต้องการของนักเรียน
2) นักเรียนเกิดการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติจริง ได้ทำกิจกรรมที่ครูผู้สอนได้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้และแผนการจัดการเรียนรู้โดยยึดหลักคิดแบบ SPECIAL MODEL
เกิดประโยชน์ต่อสถานศึกษา
1) ครูผู้สอนได้พัฒนาตนเอง ปรับวิธีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของการศึกษา เปลี่ยนแปลงทางสังคมและก้าวทันเทคโนโลยี
2) ได้แนวทางการจัดการเรียนรู้โดยยึดหลักคิดแบบ SPECIAL MODEL สำหรับครูผู้สอน และบุคลากรทางการศึกษาที่สนใจในแนวทางไปประยุกต์และพัฒนาต่อยอด
3) ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ปกครองมากยิ่งขึ้น