การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการนิเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนห้องเรียน EIS ที่ใช้แพลตฟอร์ม IXL ในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน เปรียบเทียบประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนห้องเรียน EIS เปรียบเทียบคะแนนพัฒนาการนักเรียนห้องเรียน EIS กับเกณฑ์ เพื่อประเมินความพึงพอใจต่อกระบวนการนิเทศ เพื่อศึกษาการใช้เวลาในการเรียนรู้ของนักเรียนและศึกษาผลการใช้กระบวนการนิเทศ กลุ่มตัวอย่าง คือ ครูผู้สอนห้องเรียน EIS 9 คน ผู้บริหาร 3 คน นักเรียนห้องเรียน EIS 98 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 โรงเรียนเขาสมิงวิทยาคม จงจินต์รุจิรวงศ์อุปถัมภ์ ใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบนิเทศการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบ แบบประเมินความพึงพอใจ แบบบันทึกการใช้เวลาในการเรียนรู้ แบบบันทึกการสนทนากลุ่มและแบบประเมินกระบวนการนิเทศ ตัวแปรอิสระ คือ กระบวนการนิเทศ ตัวแปรตาม คือ คะแนนประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครู คะแนนพัฒนาการของนักเรียน และคะแนนความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละและค่าสถิติที (t-test dependent samples และ t-test for one samples) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
ผลการวิจัยปรากฏว่า
1. กระบวนการนิเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนห้องเรียน EIS ที่ใช้แพลตฟอร์ม
IXL ในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) วิเคราะห์ปัญหา 2) ตั้งค่าเป้าหมาย 3) ออกแบบและวางแผนการนิเทศ 4) ดำเนินการนิเทศ 5) ประเมินผล และ 6) รายงานผล มีความเหมาะสมในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.83 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.59
2. ประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนห้องเรียน EIS ที่ใช้แพลตฟอร์ม IXL ในการพัฒนา
การเรียนรู้ของนักเรียน ภายหลังได้รับการนิเทศสูงกว่าก่อนได้รับการนิเทศ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. คะแนนพัฒนาการเฉลี่ยรวม 3 รายวิชา ของนักเรียนห้องเรียน EIS สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ (10 คะแนน)
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการประเมินความพึงพอใจต่อกระบวนการนิเทศโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ย
เท่ากับ 4.57 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน .54
5. ผลการศึกษาการใช้เวลาในการเรียนรู้ด้วยแพลตฟอร์ม IXL ของนักเรียนห้องเรียน EIS ปรากฎว่า วิชา
ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ จำนวนข้อคำถามและเวลาที่นักเรียนห้องเรียน EIS ใช้ในการเรียนรู้ด้วยแพลตฟอร์ม IXL ในช่วงที่ใช้กระบวนการนิเทศน้อยกว่าก่อนใช้กระบวนการนิเทศ ส่วนในรายวิชาวิทยาศาสตร์ ในช่วงที่ใช้กระบวนการนิเทศมากกว่าก่อนใช้กระบวนการนิเทศ
6. ผลการใช้กระบวนการนิเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนห้องเรียน EIS ที่ใช้
แพลตฟอร์ม IXL ในการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน พบว่า ครูผู้สอนห้องเรียน EIS มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้ และนักเรียนห้องเรียน EIS มีรูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป